Lifestyle

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]  

 

 


          เคลย์ เดอ โป โบเต้ คัดเลือก “ณัฐรดา เลขะธนชลท์” ในฐานะผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจ ผู้อุทิศตนสนับสนุนการใช้การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนแรกประจำประเทศไทย ในแคมเปญระดับโลก Power of Radiance หลังจากที่ได้เปิดตัวแคมเปญที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเวียดนาม ไปแล้วก่อนหน้านี้

 

 

          เมื่อวัน 22 สิงหาคม ยุวเรศ คุณาวงศ์ ซีเนียร์ แบรนด์ แมเนเจอร์ เคลย์ เดอ โป โบเต้ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ Power of Radiance ว่า เป็นพันธกิจระดับโลกที่จะร่วมส่งต่อการเชิดชูผู้หญิงที่เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและผู้หญิงที่ด้อยโอกาส

 

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          ผู้หญิงที่คว้ารางวัลรายแรกของโครงการนี้ได้แก่ มูซูน อัลเมลเลแฮน วัย 20 ปี Goodwill Ambassador UNICEF ผู้ที่ส่งพลังการศึกษาไปในวงกว้าง จากการลี้ภัยในสงครามซีเรียเมื่ออายุ 14 ปี มูซูนหยิบสิ่งที่คิดว่าล้ำค่าอย่างตำราเรียนติดตัวเมื่อครั้งอพยพไปยังจอร์แดน และนั่นคือตัวจุดประกายระบบความคิด ส่งต่อไปยังเด็กๆ คนอื่นๆ ในแคมป์ที่เธอลี้ภัย มูซูน ถือเป็นทั้งนักกิจกรรมด้านการศึกษาและผู้ถือสถานะผู้ลี้ภัยรายแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนสันถวไมตรีของยูนิเซฟอีกด้วย


          ณัฐรดา เลขะธนชลท์ หรือ ครูจอย วัย 40 ปี Founder and CEO of EdWings Education Co.Ltd ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและพัฒนาศักยภาพเด็กในประเทศไทย ในฐานะผู้ได้รับการคัดเลือกผู้อุทิศตนสนับสนุนการใช้การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนแรกประจำประเทศไทย ซึ่งมีประสบการณ์การจัดค่ายเยาวชนกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงจัดค่ายโรงเรียนภาคฤดูร้อน พร้อมทั้งทำงานร่วมกับสถานพินิจฯ เพื่อช่วยพาเด็กที่ออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยดำเนินงานตามนโยบายภาครัฐในการพัฒนาเยาวชน ไปจนถึงอบรมครูรุ่นใหม่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา

 

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          ณัฐรดา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านการศึกษาว่า เริ่มจากเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยตอนอายุ 24 ปี แต่เด็กไม่สนใจสิ่งที่เราสอน จนมาคิดได้ว่า เราไม่ได้คิดถึงเลยว่าเด็กอยากจะได้อะไร หลังจากนั้น จึงมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และเปิด Learning Center ในการช่วยพัฒนาปรับพฤติกรรมเด็กทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน รวมถึงทำโครงการเกี่ยวกับเด็กทั่วประเทศ จนวันหนึ่งได้ไปที่ จ.อุทัยธานี ได้เจอเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ไม่มีพ่อแม่ อาศัยอยู่กับตายาย ไม่ได้เรียนหนังสือ สิ่งที่น้องบอกกับเราคือ ถ้าเขากลับไปเรียนแล้วตากับยายจะกินอะไร ตอนนั้นทำให้เรารู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง


          เอ็ดวิงส์พื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลง
          ณัฐรดา กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทยจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง สังคมของไทยนั้นมีทั้งสองด้าน ในด้านที่งดงาม สังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ ช่วยเหลือกันและกัน มีวัฒนธรรมที่ดี แต่ก็ยังมีอีกด้านที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นระเบียบ เต็มไปด้วยความสับสน ขาดความมั่นคง ที่ถึงแม้เราจะไม่รับรู้หรือไม่เห็น ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาต่างๆ เหล่านั้นจะไม่มี

 

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          “ยังมีเด็กและผู้หญิงอีกมากมายที่ถูกสังคมปิดกั้น ทำให้พวกเขาขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต จึงตัดสินใจปิดบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและสร้าง EdWings Education วิสาหกิจเพื่อสังคมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อรับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาทำงานร่วมกัน เข้ามาช่วยอันล็อกศักยภาพของเด็กๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาจะสามารถเปลี่ยนแปลงความหมายของการมีชีวิตได้”


          โซลูชั่นรวมอาสา พัฒนาเด็ก และครู
          ณัฐรดา กล่าวว่า จากในช่วงแรก เอ็ดวิงส์มีทีมเพียง 3 คน จนปัจจุบันมีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้ามาช่วยกันคิดว่าจะมีโซลูชั่นอะไรที่จะเข้ามาช่วยการศึกษาไทย มุ่งพัฒนาเด็กให้เข้าใจว่าเรียนไปทำไม พัฒนาคุณครูให้เข้าใจว่าสอนไปทำไม โดยจัดกิจกรรมตั้งแต่ 1-10 วัน หรือครึ่งเดือน ไปจนถึง 1 ปี ตามความเข้มข้นของการทำงาน และเวลาของอาสาสมัคร ส่วนใหญ่เป็นการสร้างโซลูชั่นเพื่อให้ครูนำไปใช้ และให้นักเรียนไปพัฒนาตัวเอง

 

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          สำหรับคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าไปทำกิจกรรม ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนที่ได้รับทุนจากบริษัทที่เรามีข้อมูล และอีกส่วนหนึ่งคือ โรงเรียนที่ผู้อำนวยการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับเรา เพื่อสร้างผลกระทบให้โรงเรียนอื่นได้เห็น โรงเรียนต้องพร้อมในการรับเครื่องมือและทำงานร่วมกันได้


          “หากจะสร้างเด็กคนหนึ่ง แต่ครูไม่เปลี่ยน คุณพ่อคุณแม่ไม่เปลี่ยน ระบบการศึกษาไม่เอื้อให้เด็กคนนี้เปลี่ยน เขาก็จะอยู่ตรงนั้นไปตลอดกาล ถึงเขาอยากจะเปลี่ยนอย่างไรก็ตาม แต่เขาจะสู้กระแสสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาไม่ได้ ดังนั้น การทำงานของเอ็ดวิงส์คือ สร้างระบบนิเวศให้เด็ก เราจะเปลี่ยนเด็กอย่างไร เราเปลี่ยนครูอย่างนั้น ผู้อำนวยการต้องขยายไปยังระบบการศึกษาในวงกว้างขึ้น พาเด็กออกมาจากโลกการเรียนรู้ในห้องเรียน และเห็นศักยภาพของตัวเอง”

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          “ทั้งนี้ โครงการต่อไปที่จะทำคือ Girl Rising ซึ่งจับมือกับมูลนิธิจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการ Empower เด็กผู้หญิง 1 หมื่นคน เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เราทำคืออยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายควรเห็นคุณค่าของตัวเอง และเห็นคุณค่าของเด็กผู้หญิงเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการช่วยสังคมทั้งสองด้าน”


          “อยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าคุณค่าในชีวิตของเขาคืออะไร เขาตื่นมาใช้หนึ่งชีวิตเพื่ออะไร และในวันที่เราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว สิ่งที่เราทำยังเป็นประโยชน์ และยังคงอยู่หรือไม่” ณัฐรดา กล่าว


          ด้าน มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ในฐานะ Brand Influencer และมีส่วนร่วมในการตัดสินคัดเลือก กล่าวว่า ระหว่างการคัดเลือก ทำให้ได้เห็นศักยภาพของผู้หญิงรุ่นใหม่มากมาย ที่ลงมือเข้าช่วยเหลือสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมารับผิดชอบต่อสังคม จากความทุ่มเท เสียสละ ตลอดจนการอุทิศตนให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งคุณจอยสามารถส่งต่อพลัง แรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นในการสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมได้อย่างน่าชื่นชม

 

 

 

ณัฐรดา เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่นอันล็อกการศึกษาสร้างคุณค่าชีวิต

 


          โซลูชั่นที่เอ็ดวิงส์ใช้ในปัจจุบัน
          * Summer School เอาหลักสูตรเข้าไปสอน เทรนด์ครู ให้เด็กเรียนทำสินค้า และขายได้ เพราะการศึกษาต้องสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้ เราทำงานแข่งกับเวลาที่เด็กจะออกจากระบบเพราะเขาไม่เห็นคุณค่าของการมาโรงเรียน โดยทำงานร่วมกับเด็กคุรุศาสตร์ที่สนใจในเรื่องการสอน 

          *ถัดมาคือ Education Event เปิดพื้นที่ให้ทุกคนระดมความคิด เพราะบางคนอาจไม่มีเวลาแต่มีความคิดสร้างสรรค์
          *Education Lab ทำงานเก็บข้อมูลดาต้าเชิงลึกจากโรงเรียน 500 แห่ง เพื่อให้คนที่สนใจได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาระบบการศึกษา เช่น ข้อมูลอาหารกลางวัน 
          *เกิดเป็นโครงการ First Meal โครงการอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียนขยายโอกาส 5 โรงเรียนใน จ.น่าน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิใจกระทิงและเกิดการทำงานร่วมกับภาครัฐ
          *The Card การใช้เกมเพื่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างเด็กและครู เน้นในเรื่องที่เด็กได้เข้าใจตัวเอง
          *Career School เด็กทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้เรียนหนังสือ โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ดังนั้น เราจึงต้องให้เขาเข้าสู่การมีอาชีพได้เร็วที่สุด เด็กที่จบมัธยมมาเขาจะมีทางเลือกมากกว่าการเรียนสายอาชีพซึ่งอาจไม่ตรงกับที่เขาต้องการ โดยการทำแพลตฟอร์มในการพัฒนาทักษะ เรียนรู้ว่าหากต้องการจะมีอาชีพ จะสามารถพัฒนาทักษะอย่างไร และพาเข้าสู่การทำงานกับภาคเอกชน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ