Lifestyle

"แก้ปัญหาครู"สช.-กศน.เชื่อมหลักสูตรปั้นคนคุณภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 


          เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าครูโรงเรียนเอกชนต้องการสวัสดิการ อยากได้รับความมั่นคงในชีวิตเท่ากับครูสังกัดโรงเรียนรัฐบาล ทั้งการรักษาพยาบาล และสวัสดิการอื่นๆ ส่วนครู กศน.ก็อยากได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะทั้ง 2 องค์กรมีส่วนในการช่วยจัดการศึกษาขั้นพื้่นฐานในระบบและนอกระบบให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ชื่อ ดร.โอ๊ะ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” จากพรรคภูมิใจไทย

 

 

          หลังจากได้รัับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ “ดร.โอ๊ะ” ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร คณะทำงาน รวมถึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และแนวทางแก้ไขจากผู้ปฏิบัติงาน


          ทำให้ได้ข้อมูลว่า “ครูเอกชน” ต้องการให้หามาตรการแก้ปัญหาสวัสดิการครูให้ได้รับความมั่นคงในชีวิตเท่ากับครูรัฐบาล อยากให้ดูแลครูโรงเรียนเอกชนเหมือนครูรัฐบาล ทั้งการรักษาพยาบาล และสวัสดิการอื่นๆ การแก้ปัญหาขาดแคลนครู ช่วงที่ครูโรงเรียนเอกชนที่สอบได้ไปรายงานตัว และทำให้หายไป ไม่สามารถหาแทนได้ ทำให้ครูขาด จึงต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องนี้ให้ได้มาตรฐาน


          รวมถึงพบว่า มีประเด็นสิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน ได้รับสิทธิวิทยฐานะ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ขอให้ใกล้เคียงกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของครู และเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ กศน.มีปัญหาครูกศน.ไม่ได้รับราชการ สวัสดิการที่ครูควรจะได้รับ หลักสูตรการเรียนการสอนมีข้อจำกัด ไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ หรือเปิดโอกาสให้แก่ผู้เรียน




          “คุณภาพครู นำไปสู่คุณภาพของเด็ก คนเราอยากทำงานแล้วมีความมั่นคง มีความสุขสบายในชีวิต ถ้าครูมีความสบายใจ ได้รับการดูแล มีการอบรมพัฒนาความรู้ความสามารถตลอดเวลา ย่อมทำให้เขาเต็มที่ในการสอนเด็ก รวมถึงต้องดูภาพรวมของสถานศึกษา ว่าโรงเรียนแห่งไหนมีเหตุการณ์ทุจริตหรือการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมาทบทวน" รมช.ศึกษาธิการ กล่าว


          ส่วนทางด้านการพัฒนาคือ “หลักสูตรการเรียนการสอน" จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม อย่างการเรียนออนไลน์ เด็กโรงเรียนเอกชน มีทั้งโรงเรียนสามัญ โรงเรียนนอกระบบ ที่มีการสอนทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ขณะที่เด็ก กศน.ส่วนใหญ่จะเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย หลายคนอยากจะให้มีการเรียนออนไลน์


          ขณะนี้กำลังรับฟังความคิดเห็นจากเด็ก ครู ต้องการหลักสูตรแบบไหน เพื่อสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม หรือปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของพื้นที่ ต้องทำโมเดล ศึกษาวิจัยให้มีคุณภาพสอดรับตลาดแรงงาน และต้องทำหลักสูตรที่สามารถเก็บเครดิตสะสมได้ โดยอาจจะมีการเชื่อมหลักสูตรใน สช.และกศน.เข้าด้วย จัดทำเป็นทวิภาคี และดึงภาคีเครือข่ายภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาเด็ก ก็จะมองหาแนวทางในการทำงานเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้สร้างคนคุณภาพ พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต


          พร้อมกับวางแนวทางการขับเคลื่อนงานในหน่วยงานต่างๆ โดยจะเน้นการทำงานเชิงรุก บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาครู หลักสูตร การเรียนการสอน และการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามงบประมาณที่ควรจะได้รับ เพราะเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงาน


          “6 เดือนเป็นเวลากระชั้นชิดที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จ แต่จะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะเราต้องการเข้ามาช่วยพัฒนายกระดับการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า ซึ่งเราทราบดีว่างานการศึกษามีหลายเรื่องต้องแก้ไข ก็พร้อมที่จะรับฟังทุกความเห็น ปลดล็อกเรื่องที่สามารถทำได้ทันที เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด มีทักษะที่จบออกมาแล้วสามารถทำงานได้ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่ของเด็ก สช. และเด็ก กศน. รวมถึงเด็กไทยทุกคน" รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย ระบุ 


          ดร.โอ๊ะ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความวิตกกังวล เช่น การขอเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนเอกชน ถ้าขอให้ครบ 100% ต้องใช้งบประมาณเท่าใด เพราะยังมีโรงเรียนเอกชนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนครบ 100% จำนวนมาก อย่างโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนอุปถัมภ์ต่างๆ หรือโรงเรียนสอนคนตาบอด ต้องไปดูเรื่องงบประมาณปี 2563 ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ต้องคิดเป็นขั้นตอนและหลายระดับ เนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับงบประมาณของประเทศ หรือโครงการอาหารกลางวัน 


          ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่มีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) บอกว่าอยากคืนเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะเวลาเงินอยู่ที่ อปท. เหมือนเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น แต่การอุดหนุนค่าอาหารกลางวันรายหัว 20 บาท ถ้าโรงเรียนเล็กๆ มีเด็ก 10 กว่าคน เป็นเรื่องที่ อปท.ทำยาก จึงได้แนะนำว่าถ้าอยากคืนต้องสะท้อนถึงส่วนงานที่เกี่ยวข้อง


          “เรื่องของงบประมาณเราก็ต้องไปถามประสบการณ์จากสำนักงบประมาณถึงภาพรวมในการแก้ปัญหาทั้งหมด เพื่อจะได้ดูแลเด็กกลุ่มที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ และขอแนวทางจากสำนักงบฯ รวมถึงคงต้องหารือภายในกระทรวงว่าจะเกลี่ยงบประมาณอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้กระทบหน่วยงานอื่นๆ ใน ศธ.ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย


          **ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่
          - รับฟังความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหา
          - กำหนดงบประมาณ อุดหนุนให้โรงเรียนครบ 100%
          - ปลดล็อกข้อจำกัด
          **พัฒนาการครูสช-กศน.
          - สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมครูเอกชนกับครูรัฐบาล
          - จัดสวัสดิการที่เหมาะสม
          - บริหารจัดการครู ลดปัญหาครูขาด
          - ครูมั่นคง สุขสบาย นำสู่การพัฒนาเด็ก
          **ยกระดับหลักสูตร สช.-กศน. เน้นทักษะอาชีพ
          - ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน
          - เปิดหลักสูตรออนไลน์
          - หลักสูตรที่สามารถเก็บเครดิตสะสม
          - ดึงภาคเอกชน จัดทำทวิภาคี สช.-กศน.
          ที่มา: คมชัดลึก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ