Lifestyle

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 


          อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ประกาศน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ สืบสาน รักษา ต่อยอด และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหาร ทั้งเศรษฐกิจพอเพียง ลดขั้นตอนการให้บริการประชาชน และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด

 

 

          เช่น สืบสาน คือสิ่งที่มีอยู่แล้ว ดูอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากร การรักษา คือ สิ่งที่มีอยู่แล้ว ที่พบเจอ จะรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี หรือนำเสนอให้แก่คนยุคปัจจุบันอย่างไร เน้นดูแลจากปัจจุบัน ไปถึงอนาคต เช่น ทำพิพิธภัณฑ์ ทำนุบำรุงศาสตร์ การต่อยอด เป็นเรื่องของอนาคต และ ธรรมาภิบาล เป็นหลักในการบริหารงานราชการ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านตัวชี้วัดในเชิงประจักษ์ทั้งในเรื่องของปริมาณ รวมถึงการประเมินผลงานที่เป็นรูปธรรม และความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ผุดนโยบายเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม
          นโยบายเร่งด่วนเน้นต่อยอดวัฒนธรรม ผลักดันสู่ในเชิงเศรษฐกิจ ตามที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเน้นย้ำการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น เน้นให้ข้าราชการและผู้ร่วมปฏิบัติงานไปคิดในมุมของกระทรวงเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้สามารถนำมาสร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจ


          “ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทย เขามีความซึมซับและอยากอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมอันดีของไทย ทั้งประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้คิดในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นรูปธรรมอยู่ในกรอบการสืบสาน รักษา อนุรักษ์ ขุดค้น เข้าใจในด้านเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย" รมว.วัฒนธรรม กล่าว

 

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างรายได้
          เน้นเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมให้สร้างรายได้ทั้ง 76 จังหวัด ต้องมีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ชุมชนที่มีผ้าไทย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งออก ให้ทุกจังหวัดไปคิด และผลักดันให้ส่วนราชการกระทรวงวัฒนธรรมต้องไปสืบค้น พร้อมต่อยอดไปสู่ความสามารถทางการผลิต มาตรฐาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่สามารถขึ้นห้างได้ จะร่วมกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ สร้างความเชื่อมโยงและหาตลาดโอท็อปทางวัฒนธรรม หรือเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในระดับตำบล (Cultural Product of Thailand : CPOT) ให้มากขึ้น


          “มุมมองของวัฒนธรรมในยุคนี้ต้องมองในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะฉะนั้น จะให้ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ามาดู ซึ่งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ต้องพัฒนาทักษะฝีมือ การต่อยอดจึงต้องเลือกผลิตภัณฑ์นั้นมาสร้างคุณค่า โดยเอาทุนทางวัฒนธรรมเข้ามา” อิทธิพล กล่าว

 

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม
          รวมทั้งการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของอาเซียน เนื่องจากปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน และการจะเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของอาเซียนได้ ต้องมีสถานที่ที่สามารถรองรับกิจกรรม จึงต้องเร่งรัดให้หอศิลป์ร่วมสมัยก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ยกระดับเป็นศูนย์วัฒนธรรมระดับนานาชาติ ซึ่งยังคงเป็นนโยบายที่มอบให้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการปฏิบัติงานระหว่างยุทธศาสตร์เดิม ในระยะปานกลางที่อดีต รมว.วัฒนธรรม และกระทรวงวัฒนธรรมได้มีพันธกิจไว้

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ห่วงเยาวชนซึบซับวัฒนธรรมออนไลน์
          ในส่วนของการซึมซับวัฒนธรรมของคนไทยจากการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ทำให้เยาวชนซึมซับวัฒนธรรมต่างชาติได้มากขึ้น จากรูปแบบสื่อที่เปิดกว้าง จึงมอบให้แต่ละกองในกระทรวงวัฒนธรรม ช่วยกันคิดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่คนในปัจจุบันหันมาย้อนดูความเป็นไทยที่แท้จริง เคารพซึ่งกันและกัน ลดการขัดแย้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างทางทัศนคติของคนที่อยู่ระหว่างวัย ที่พบบนสื่อออนไลน์ โดยมีศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นศูนย์ที่รับแจ้งทำงานเชิงรับ เช่น หอภาพยนตร์ สถานที่เก็บข้อมูล รวบรวมวิจัย ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ควรอนุรักษ์ไว้ รวมถึงคอยสอดส่องดูว่า สื่อใด ภาพยนตร์ใด ที่อาจจะทำให้ศีลธรรม จริยธรรมต่างๆ หรือความเป็นไทยด้อยลง

 

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          โดยขอความร่วมมือไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีศูนย์เฝ้าระวังในการ สืบค้นข่าวลวง ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม จะดูทั้งข่าวจริงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องของวัฒนธรรม และในอนาคตคงต้องสอดส่อง และอาจต้องคิดไปถึงเรื่องการจัดจ้างที่ปรึกษาให้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนที่ทำในภาคการท่องเที่ยว ในการรับ วิเคราะห์ ตอบโต้ ในเรื่องภาพลักษณ์ทางลบที่อาจส่งผลต่อประเทศไทย

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ในส่วนของการจัดเรตติ้งออนไลน์ นั้น รมว.วัฒนธรรม ให้ความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ภาพยนตร์ที่ไม่ได้ผ่านพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก็มีจำนวนค่อนข้างมาก และในสื่อที่เป็นคลิปสั้นๆ ก็ปรากฏทั่วไปในระบบสารสนเทศ กระทรวงวัฒนธรรมต้องเข้าไปตรวจสอบในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ผู้ให้บริการดูภาพยนตร์ผ่านสื่อออนไลน์ สามารถจัดเรตติ้งได้ เบื้องต้น จึงต้องขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการว่าขอให้จัดเรตติ้งรวมถึงเนื้อหาอะไรที่ไม่เหมาะสมในการฉายในประเทศไทยด้วย

 

 

 

ดึงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจังหวัดสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

 


          ใช้วัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
          - สืบสาน วัฒนธรรมเดิมให้ยังคงอยู่จนปัจจุบัน
          - รักษา สิ่งที่มี เพื่ออนาคต
          - ต่อยอด สร้างมูลค่าวัฒนธรรม
          - ยึดหลักธรรมาภิบาล ทำงานโปร่งใส
          - สร้างสินค้าวัฒนธรรม 76 จังหวัด
          - ผลักดันสินค้าวัฒนธรรมระดับตำบล CPOT
          - ต่อยอดสร้างมูลค่า สร้างรายได้
          - ร่วมมือกระทรวงต่างๆ เพื่อหาตลาด
          * ดันไทยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม
          * ดึงคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไป หันมาสนใจความเป็นไทย
          * เข้มงวด เฝ้าระวัง สื่อที่กระทบต่อภาพลักษณ์วัฒนธรรมทางออนไลน์มากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ