Lifestyle

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -

 

 

          โรงเรียนบ้านแหลมยางนา เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 98 คน ครู 4 คน เปิดสอนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา อยู่ห่างจากอำเภอทุ่งตะโก 15 กิโลเมตร และห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่ชุมพร ประมาณ 70 กิโลเมตร มีทั้งอาหารเช้าและอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน ได้รับรางวัลโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน ระดับประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ด้วย 

 

 

          ว่าที่ ร.ต.วิชิต สุขประวิทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหลมยางนา บอกว่า รูปแบบการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน มี 3 รูปแบบคือ การจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเอง, จัดซื้อวัตถุดิบและจ้างบุคคลภายนอกมาประกอบอาหาร และการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) ซึ่งมีงบประมาณรายหัว 20 บาท จะแบ่งเป็นค่าจ้างแม่ครัว 4.50 บาท และที่เหลือ 15.50 เป็นค่าอาหารกลางวัน 

 

 

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

 


          โรงเรียนแห่งนี้ใช้วิธีการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) โดยมีคณะกรรมการควบคุมดูแล 3 ชุด ตั้่งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การประกอบการ และการปรุง และแบ่งพื้นที่ 1 ไร่จากทั้งหมด 7  ไร่ ของโรงเรียนจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อให้ผู้รับเหมาประกอบอาหารที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนเอง ซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากโครงการไปประกอบอาหารในราคาถูกได้


          ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหลมยางนา บอกว่า เมนูอาหารกลางวันนั้นยึดหลักของ Thai School Lunch : ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ โดยจัดทำเป็นอาหารเช้าและอาหารกลางวันส่งให้ผู้รับเหมาสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้มีเวลาจัดเตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้ ซึ่งจากการที่มีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและใช้ผู้รับเหมาในท้องถิ่นทำให้ได้วัตถุดิบในท้องถิ่น สด และราคาต่ำ โรงเรียนมีจึงงบประมาณเหลือพอที่จะจัดอาหารเช้าให้แก่นักเรียนที่ได้ไม่ได้รับประทานมาจากบ้านอีก 30 คนอีกด้วย 

 

 

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

 




          รูปแบบดังกล่าวเป็นระบบที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้โรงเรียนทั่วประเทศจัดสำรับอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยระบบนี้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 มีเทคโนโลยี Big Data Analytics กับ Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์อยู่เบื้องหลัง เพื่อช่วยวิเคราะห์ ประมวลผลสารอาหาร และแสดงผลเป็นเมนูมื้อกลางวันได้อย่างรวดเร็ว


          ช่วยให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลา และภาระในการคิดและจัดสำรับอาหารกลางวันให้มีความหลากหลายบนพื้นฐานคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อช่วงวัย ช่วยประมาณการค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบล่วงหน้าได้ เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามคุณภาพอาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วประเทศได้ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับชุมชนเพื่อวางแผนเพาะปลูก–ผลิตวัตถุดิบป้อนให้แก่โรงเรียน เด็กนักเรียนก็จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

 

 

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

 


          ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหลมยางนา ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีหนึ่งโครงการที่ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวันให้เพียงพอได้ นั่นก็คือ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) น้อมนำแนวทางโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเริ่มงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยมุ่งเน้นให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรภายในโรงเรียน และนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มาขยายผลในโรงเรียนในสังกัด สพฐ.

 

 

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

 


          “งบประมาณอาหารกลางวัน เราจ่ายสัปดาห์ละ 9,600 บาท ต่อ 98 คน นักเรียนได้รับประทานอิิ่มทั้งเช้าและบ่าย ที่ทำได้เพราะผู้รับเหมาประกอบอาหารเป็นผู้ปกครองนักเรียนในโรงเรียน และบ้านอยู่หน้าโรงเรียน เป็นคนท้องถิ่น ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ที่สำคัญยังรับซื้อผลผลิตจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนด้วย เชื่อว่าหากโรงเรียนอื่นๆ ดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ นักเรียนก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพได้ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหลมยางนา กล่าว

 

 

 

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันอิ่มทั้งเช้า-บ่าย-ชุมชนมีรายได้

 


          โครงการอาหารกลางวัน 2562
          ร.ร.สังกัด สพฐ.ที่ได้รับงบจาก อปท. 23,655 แห่ง
          (ตอบแบบสอบถาม 86.93% จาก ร.ร.สังกัด สพฐ.ทั้งหมด 27,212 แห่ง)
          - ได้รับงบประมาณก่อนเปิดภาคเรียน ตั้งแต่ 16 พ.ค. 62 จำนวน 9,239 แห่ง
          - ได้รับงบประมาณระหว่างวันที่ 17 พ.ค.– 10 มิ.ย. 62 จำนวน 11,801 แห่ง
          - ได้รับงบประมาณหลังวันที่ 10 มิ.ย.62 จำนวน 2,615 แห่ง

          การดำเนินโครงการอาหารกลางวัน 22,956 แห่ง (8–20 ก.ค. 2562)
          - จัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเอง 4,835 โรง
          - จัดซื้อวัตถุดิบและจ้างบุคคลภายนอกมาประกอบอาหาร 10,455 โรง
          - จ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) 7,161 โรงเรียน

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ