Lifestyle

3 วิธีจัดสรรอาหารกลางวันช่องโหว่"งบประมาณ"ไม่ถึงนักเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -คุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ดูแลและตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา 4 แห่งส่อทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ส่วนใหญ่จัดซื้อวัตถุดิบไม่ครบ บางแห่งได้รับจัดสรร 10,000 บาท กลับเอาไปซื้อแค่ 5,000 บาท ส่วนต่างหายไปถึงครึ่ง ซึ่งตามระเบียบโครงการอาหารกลางวันฯ เงินที่เหลือต้องส่งคืนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เอาไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ อีกทั้งบางโรงมีเมนูกับข้าวอย่างเดียว ทำให้เด็กได้รับโภชนาการไม่ครบถ้วน 

 

 

          แรกเริ่มโครงการอาหารกลางวันเกิดจากความตระหนักของรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด และในปี พ.ศ.2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบายให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน


          ปลายปีงบประมาณ 2534 กำหนดให้มี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 และได้จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท จากนั้นคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 มีมติให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก่อนที่จะโอนงบประมาณจาก ศธ.ไปให้ “กระทรวงมหาดไทย” ดูแลในปีงบประมาณ 2544 ตามกฎหมายการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น


          ปัจจุบันโครงการอาหารกลางวันจัดสรรให้เด็กรายละ 20 บาท ใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ครอบคลุมเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 5 ล้านคน เป็นนักเรียนในโรงเรียนสังกัด องค์การบริิหารส่วนจังหวัด-เทศบาล 1 หมื่นกว่าแห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 หมื่นกว่าแห่ง ทั่วประเทศ

 



          ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณในโครงการอาหารกลางวันนั้น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) พ.ศ. 2542 กำหนดให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ใช้เป็นเกณฑ์ให้ อปท.อุดหนุนเงินด้านการศึกษาในปีการศึกษา 2562 นี้ ได้กำหนดเพดานเงินอุดหนุนอาหารเสริม (นม) จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับในอัตราคนละ 7.37 บาท ส่วนเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จัดสรรสำหรับเด็กเล็ก, เด็กอนุบาล และเด็ก ป.1-ป.6 ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรองรับในอัตรามื้อละ 20 บาทต่อคน


          โดย อปท.สามารถให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ในพื้นที่ของตนเอง ได้ดังนี้ 1.โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2.โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3.โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 4.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท.จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน 5. สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) และ 6.สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ


          ว่ากันว่า มี 2-3 วิธีที่ให้อำนาจโรงเรียนส่วนใหญ่บริหารจัดการ สามารถจะดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันทั้งวิธีการจ้างเหมาทำอาหาร การซื้ออาหารสด อาหารแห้งมาประกอบอาหารเอง และบางแห่งจะแจกคูปอง ให้ซื้อจากผู้ขายอาหารในโรงเรียน โดยในงบประมาณที่ได้รับ 20 บาทต่อมื้ออาหารกลางวันนั้น มีค่าจ้างแม่ครัว ค่าดำเนินการต่างๆ ประมาณ 4.50 บาท ที่เหลือ 15.50 บาท เป็นค่าอาหารกลางวัน คำถามคือว่า อาหารที่จัดให้นักเรียนนั้น มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามเมนูอาหารกลางวัน Thai school lunch หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนผ่านทางโซเชียล ถึงคุณภาพอาหารที่นักเรียนได้รับ


          และที่สำคัญการที่โรงเรียนมีสิทธิ์แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อ จัดจ้าง และการตรวจรับเอง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง โดยที่ไม่เครือข่ายอื่นๆ เข้ามามีส่วน ทำให้มีข้อห่วงใยว่า อาจจะมีช่องโหว่ในการใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้


          เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของขนมจีนคลุกน้ำปลา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการตรวจสอบ พบว่าใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ ขอความร่วมมือผู้ปกครองเข้ามาดูแลเรื่องเมนูอาหารให้โรงเรียนทำเมนูอาหารของโรงเรียนล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ แล้วติดประกาศ เพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมีความเห็นเกี่ยวกับเมนูอาหาร ให้โรงเรียนหมุนเวียนคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และตรวจรับบ่อยๆ และให้ประชาสัมพันธ์ปลุกสร้างจิตสำนึก


          ทว่าก็ยังเกิดเหตุการณ์นักเรียนกินข้าวกับต้มฟักแต่ไม่มีไก่ เผยแพร่ทางโซเชียล และนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนทุกแห่งอีกระลอก...


          “สุเทพ ชิตยวงษ์” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดแนวจัดอาหารกลางวันไว้ 5 แนวทางได้แก่โรงเรียนในสังกัดมีมากกว่า 29,000 โรงเรียน โดย 1.มอบนโยบายให้ทุกโรงเรียนจัดให้มีโครงการอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ 2.มีกระบวนการนิเทศ ติดตาม กำกับ ประเมินผลระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 3.มีประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นสถานศึกษาปลอดภัย ส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชนร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์ และนำวัตถุดิบเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง 4.เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนได้ใช้โปรแกรม Thai school lunch เพื่อวางแผนการจัดอาหารที่มีคุณภาพ นักเรียนได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และ 5.จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาหารกลางวันระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่องการจัดอาหารที่ปลอดภัย ขยายผลสู่โรงเรียนให้ครูผู้รับผิดชอบเป็นนักโภชนาการประจำโรงเรียน


          พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งผู้ที่เป็นตัวแทนลงไปตรวจติดตามในระดับกลุ่มโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 20 กลุ่มทั่วประเทศ และตั้งคณะกรรมการในระดับโรงเรียน ซึ่งมีผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน ครู ประชาชน ได้ร่วมกันดูแลเรื่องโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และลงนามถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศกำชับ ควบคุม และตรวจสอบโรงเรียนในสังกัดดำเนินโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นให้ตรวจสอบและต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด รายงานผลการดำเนินการภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562


          จริงๆ แล้วโรงเรียนที่บริหารจัดการได้คุณภาพก็ใช่ว่าจะไม่มี พอๆ กับโรงเรียนที่หลุดมาตรฐานก็มีให้เห็น ก็ได้แต่หวังว่าปัญหานี้จะสามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยได้...

 


          งบประมาณโครงการอาหารกลางวัน
          ปีการศึกษา 2558 มีจำนวนนักเรียน(ระดับชั้นอนุบาล-ป.6) 4,117,288 คน งบประมาณที่ได้รับต่อวัน จำนวน 82,345,760 บาท รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,469,152,000 บาท
          ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียน 4,083,982 คน งบประมาณที่ได้รับต่อวัน 81,679,240 บาท รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,335,848,000 บาท
          ปีการศึกษา 2560 มีจำนวนนักเรียน 4,125,623 คน งบประมาณที่ได้รับต่อวัน จำนวน 82,512,460 บาท รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,502,492,000 บาท
          ปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียน 4,081,643 คน งบประมาณที่ได้รับต่อวัน จำนวน 81,632,860 บาท รวมงบประมาณที่ได้รับต่อปี (200 วัน) จำนวน 16,326,572,000 บาท
          ส่วนปีการศึกษา 2562 นี้ รอรวบรวมงบประมาณที่กระทรวงมหาดไทยจัดสรรให้


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ