Lifestyle

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected]  -รูปกล่อง ซึมเศร้า 

 

 

          จากผลศึกษาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ายิ่งชั้นปีที่สูงยิ่งพบภาวะซึมเศร้ามาก เพราะการเรียนท้าทายมากขึ้น ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีนิสิตพยายามฆ่าตัวตาย 6.4% ของนิสิตทั้งหมด คนที่ขอความช่วยเหลือคือเพื่อน ส่วนสถานที่ฆ่าตัวตายคือหอพักและบ้าน เป็นสถานที่คุ้นเคย สำหรับสาเหตุฆ่าตัวตาย อันดับแรกทะเลาะกับคนใกล้ชิด ปัญหาการเรียน ปัญหาความรักตามลำดับ

 

          ด้วยสภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้น “โรคซึมเศร้า” แม้จะเป็นโรคที่รักษาหายได้แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจ และทราบถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า “โครงการ#helpyourfriends” ที่จัดทำโดย วลัยพร เฉลิมลาภสรบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อในการเผยแพร่ความรู้ วิธีการช่วยเหลือวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยวัยรุ่น เพื่อนช่วยเพื่อน
   

 

 

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

วลัยพร เฉลิมลาภสรบูรณ์

 

 

          วลัยพร เล่าถึงมุมมองในการทำสื่อเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่าตอนแรกที่อาจารย์ให้ทำโปรเจกท์จบมีความสนใจในเรื่องของโรคซึมเศร้า เพราะด้วยที่โตมาจากต่างประเทศ พบว่าวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าค่อนข้างมากและคนที่ช่วยพวกเขาได้ดีคือเพื่อน ส่วนประเทศไทยก็พบวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าไม่ต่างกัน โดยเฉพาะเด็กในมหาวิทยาลัย แต่เขาจะไม่ค่อยปรึกษาใคร หรือเล่าให้ใครฟัง
   

          เนื่องจากบางคนต่อให้เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็อาจจะไม่เข้าใจ โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นนั้น เท่าที่ทราบ ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้รับการยอมรับ หลายคนอยากจะมี อยากจะได้ อยากจะเป็นที่ต้องการของผู้อื่น แต่เมื่อสังคม กลุ่มเพื่อนที่เขาอยู่ปฏิเสธหรือมีการทะเลาะกับคนใกล้ชิด มีความเครียดจากการเรียน ครอบครัว ความรัก ปัญหาเคมีในสมอง มองโลกในแง่ร้าย พวกเขาก็จะเข้าสู่สภาวะของโรคซึมเศร้าได้ จึงมองว่าควรจะทำอะไรที่จะเป็นสื่อในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้


       

 

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

 

 

          “กลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อวัยรุ่นอย่างมาก พวกเขาจะใช้ชีวิต พูดคุย เล่าทุกเรื่อง และแก้ปัญหาด้วยกัน ซึ่งเพื่อนสามารถช่วยเพื่อนได้ ดังนั้นโปสเตอร์ข้อมูลเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อจะเน้นการสื่อสารไปยังกลุ่มเพื่อน ให้ข้อมูลเพื่อน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้า โครงการ#helpyourfriends จะเป็นการเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เพียงรับฟัง เข้าใจ และยอมรับ เช่น ทำความเข้าใจและคอยรับฟัง การใช้คำพูด อย่าพูดคำว่า “เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น” “แค่นี้เอง” “เลิกคิดเหอะ” พาเพื่อนไปพบแพทย์เมื่อต้องการ และชวนออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่นๆ” วลัยพร เล่า
  

          การนำเสนอสื่อเนื้อหาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็น “โรคซึมเศร้า” นั้น เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านการสื่อและการสื่อสาร ทั้งวารสารศาสตร์ สื่อสารการตลาด การสื่อสารด้วยภาพ ฯลฯ เข้าด้วยกัน เพื่อผลิต “สื่อ” ที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ เนื้อหาต้องเข้าใจง่าย ตรงประเด็น และเหมาะสมในแพลตฟอร์มออนไลน์ ยุคดิจิทัล

 

 

 

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

 


          วลัยพร เล่าต่อว่า โปสเตอร์ที่จัดทำขึ้นนั้น จะเป็นการใช้ภาษาที่ง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ภาพเล่าเรื่องถึงสาเหตุ ปัจจัยและการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า นำเสนอผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โซเซียลมีเดีย ที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจได้ทันที พร้อมช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะโรคนี้อาการหลักจะเกิดจากมีอารมณ์เศร้าและเบื่อง่าย 
  

          โดยทุกคนมีอารมณ์เหล่านี้ แต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกท้อแท้ ซึมหงอย ทั้งที่ตัวเองหรือคนอื่นก็สังเกตเห็นได้ ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยทำ รวมถึงมีภาวะอื่นๆ เช่น การกิน เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป การหลับ นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป กระวนกระวาย และความคิด รู้สึกตัวเองไร้ค่า อยากตาย ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง แสดงว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งการรักษาต้องเป็นทั้งการใช้ยา อย่างน้อย 6-9 เดือน หรือรักษาด้วยจิตบำบัด
  

 

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

 

 

          “โครงการ#helpyourfriends” หนึ่งในผลงานของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ม.มหิดล ในการผลิตสื่อ เนื้อหา เพื่อถ่ายทอด สื่อสารไปยังกลุ่มคนทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยสำคัญที่จะช่วยวัยรุ่นด้วยกัน วลัยพร เล่าอีกว่าโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัว แต่หากไม่ได้รับการรักษา ดูแลก็ย่อมส่งต่อไปยังโรคอื่นได้ ดังนั้นหากเป็นโรคดังกล่าวควรทำการรักษา และเฝ้าสังเกตตัวเอง ขณะเดียวกันคนรอบข้างต้องคอยสังเกต รับฟัง ทำความเข้าใจและยอมรับ เพราะสิ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้าต้องการมากที่สุด คือคนที่พร้อมเข้าใจ รับฟังในปัญหา ความคิด มุมมอง และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น
  

          วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ หัวหน้าหลักสูตรสื่อและการสื่อสาร (Media and Communication) วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล เล่าว่าเด็กรุ่นใหม่เขารู้จักการผลิตสื่อ รู้จักการใช้สื่อ แต่สิ่งที่เขายังขาดคือการสร้าง ผลิตเนื้อหาที่จะนำเสนอ เพื่อให้ผู้คนเกิดความสนใจในเนื้อหา ดังนั้นการเรียนการสอนหลักสูตรสื่อและการสื่อสารจึงไม่ใช่สอนด้านโปรดักชั่นส์ เพราะตอนนี้กล้องมือถือก็สามารถสร้างเนื้อหา การเล่าเรื่องได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องตัวละหลายแสนบาท จึงมุ่งเน้นสอนการผลิตเนื้อหาและการเล่าเรื่อง ตั้งคำถามให้เด็กได้คิดว่าเขาจะนำเสนอเนื้อหา เล่าเรื่องอย่างไรให้เกิดความสนใจ มีผู้คนติดตามผลงานของเขา
  

 

#helpyourfriends "โรคซึมเศร้า"รักษาหายได้

วรรณ์ขวัญ พลจันทร์

 

 

          “ขณะนี้คนสนใจเนื้อหาและการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเนื้อหาด้านอารมณ์ที่จะทำให้คนหยุดนิ่งมองเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ตอนนี้คนที่ทำหน้าที่ผลิตสื่อ นักสื่อสารมวลชนแข่งกันที่เนื้อหาและการเล่าเรื่อง ไม่ใช่โปรดักชั่นส์ใครดีกว่าใคร โดยเนื้อหาต้องน่าสนใจ เข้าถึงชีวิตของผู้คน และเกิดอารมณ์ร่วม หลังจากนั้นผู้ผลิตสื่อต้องมองหาวิธีการให้ผู้คนติดตามเนื้อหา การเล่าเรื่องของเราต่อไป นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล จึงแตกต่างจากเด็กที่อื่น เพราะเด็กเราไม่ได้เป็นเพียงใช้เทคโนโลยี สื่อต่างๆ ได้เท่านั้น แต่เขารู้จักการบูรณาการทุกสื่อเข้าด้วยกัน รู้จักการนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้คน และเพิ่มมูลค่าให้แก่เนื้อหา สร้างอาชีพและรายได้แก่ตนเองได้ รวมถึงรู้จักการช่วยเหลือสังคมผ่านสื่อที่นำเสนอ” วรรณ์ขวัญ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ