Lifestyle

แพทย์เตือนใช้กัญชาให้ถูกวิธี แยกแคนนาบินอยด์จากเสพกัญชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 

 

          จากข้อมูลพื้นฐานของกัญชาซึ่งมีสารเป็นร้อยชนิด แต่ที่นิยมใช้เยอะที่สุด ได้แก่ กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) และนิยมใช้ทางการแพทย์ 2 ชนิด คือ THC และ CBD ดังนั้นควรแยกมองถึงสรรพคุณ การนำมาใช้ประโยชน์มากกว่าเหมารวมคำว่า “กัญชา” เนื่องจากกัญชามีปริมาณสารแตกต่างกัน ดังนั้นควรนำไปใช้อย่างถูกวิธีพร้อมศึกษาผลข้างเคียงเพื่อความปลอดภัย

 

 

          วานนี้ (21 พ.ค.) ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ กรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง “สังคมไทย : ทางไปของกัญชา” ว่าในปี 2560 ตลาดกัญชากรุงวอชิงตันมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐโคโลราโด สะพัดกว่า 1,508 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามแม้กัญชาจะสร้างรายได้แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องนึกถึง ทั้งความปลอดภัยบนท้องถนน ความปลอดภัยของผู้ไม่เสพ และการตรวจคัดกรองคนทำงาน


          จากข้อมูลของรัฐโคโลราโดหลังการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์และเสรีกัญชา พบว่าผู้ที่เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น ผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น และพบว่ามีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น ในรัฐอื่นๆ ในสหรัฐอเมริการที่อนุญาตใช้แคนนาบินอยด์ทางการแพทย์ บางรัฐมีการจำกัดปริมาณ THC ให้ต่ำและ CBD ให้สูง ขณะที่รัฐที่เปิดเสรีกัญชามีการควบคุมระดับ THC ในผลิตภัณฑ์และมีการติดตามและจำกัดปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อคน


          ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนได้ยินว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอสหประชาชาติ (UN) เรื่องกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ความจริงต้องมาดูรายละเอียดแยกเป็นข้อๆ คือให้กัญชาเป็นยาเสพติดกลุ่มที่ 1 (ระดับเดียวกับมอร์ฟีน), ให้สาร THC เป็นยาเสพติดกลุ่มที่ 1 (ระดับเดียวกับมอร์ฟีน), หากผลิตภัณฑ์ CBD ที่แทบไม่เหลือ THC (<0.2%) ให้พ้นการควบคุมแบบยาเสพติด และสำหรับผลิตภัณฑ์หรือสารสกัดแบบอื่นๆ ที่มีสารอื่นนอกเหนือจาก CBD แต่ไม่มี THC (<0.2%) ควรให้เป็นสารเสพติดกลุ่มที่ 3 ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะถูกควบคุมระดับใดต้องดูตามสารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ หากเป็นสกัดกัญชาแล้วได้ THC ก็ยังเป็นยาเสพติด




          “จากข้อมูลพื้นฐานของกัญชาซึ่งมีสารเป็นร้อยชนิดแต่ที่นิยมใช้เยอะที่สุดได้แก่ กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ และนิยมใช้ทางการแพทย์ 2 ชนิด คือ THC และ CBD ดังนั้นควรแยกมองถึงสรรพคุณ การนำมาใช้ประโยชน์มากกว่าเหมารวมคำว่า “กัญชา” เนื่องจากกัญชามีปริมาณสารแตกต่างกัน”


          สำหรับ Tetrahydrocannabinol (THC) หากใช้ในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ นอกจากนี้การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร (tolerance) นำมาสู่การติดยาได้


          ด้าน Cannabidiol (CBD) เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของ THC มีการศึกษาใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด สาร CBD ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติด ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดสาร THC เป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือ มีโอกาสเสพติดได้ มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่จัดให้สาร CBD ไม่เป็นสารเสพติด สำหรับพืชกัญชายังนับว่าเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1


          ทั้งนี้การใช้ทางการแพทย์ที่มีหลักฐานสนับสนุนพอสมควร คือ สามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้รับยาเคมีบำบัด ลดอาการปวดในผู้ที่ปวดเรื้อรัง รักษาอาการเกร็งในโรคเอ็มเอส และโรคลมชัก ขณะที่การใช้ที่ปัจจุบันที่มีหลักฐานว่าไม่ได้ผลในการรักษาโรค ได้แก่ ภาวะสมองเสื่อม และต้อหิน ซึ่งสมาคมจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาไม่แนะนำให้ใช้แคนนาบินอยด์ เนื่องจากการจะลดความดันตา 3–5 มม.ปรอท จะต้องบริโภค THC ปริมาณสูงถึง 18–20 มก./ครั้ง ซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง ขณะที่สาร CBD มีฤทธิ์เพิ่มความดันตา และสารละลายไขมันทำให้ตาระคายเคืองและเปลือกตาไหม้ได้


          จากการศึกษาผลของกัญชาที่เกี่ยวข้องในมนุษย์ พบผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคทางจิตเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า การลงมือฆ่าตัวตาย 2.5 เท่า การติดกัญชาในวัยเรียน 17% เกิดปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ สมองฝ่อ เนื่องจากเนื้อสมองเล็กลงเมื่อใช้กัญชาในเวลานาน เส้นเลือดในสมองตีบ ถุงลมโป่งพอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะ และเพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือดทั้งฉับพลันและเรื้อรัง 


          ทั้งนี้ในกลุ่มที่ใช้ปริมาณมากทำให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน หลอดอาหารฉีกขาด ไตวาย ขาดน้ำรุนแรง เกลือแร่ผิดปกติรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้


          ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตเป็นยาจึงต่างจากการผลิตเพื่อเสพ ต้องมีมาตรฐานทุกลอตเท่ากัน ต้องมีการตรวจตัวยาและวัตถุดิบไม่ให้มีเจือปน ทั้งสารปราบศัตรูพืช สารละลายอื่นๆ โลหะหนัก เชื้อโรค รา แบคทีเรีย และพิษที่สร้างจากเชื้อโรค รวมถึงวัตถุเจอปน เช่น ผม ขน เล็บ แมลง อุจจาระ และปฏิกูลอื่นๆ


          ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการใช้กัญชาทางการแพทย์ก็ยังมีข้อบ่งชี้ 5 ข้อ โดยจะใช้ได้เมื่อการรักษาไม่ได้ผลเท่านั้น ได้แก่ 1.การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต 2.อาการคลื่นไส้อาเจียน จากการรับยาเคมีบำบัด 3.อาการปวดเรื้อรัง 4. โรคเอ็มเอส และ 5.โรคลมชัก ขณะที่ทั่วโลกบอกว่า “แคนนาบินอยด์เป็นยาแก้ปวด แก้คลื่นไส้ รักษาลมชัก ไม่ใช่ยารักษามะเร็ง”


          สำหรับในประเทศไทยข้อบ่งชี้ตามกรมการแพทย์ในการใช้กัญชารักษาโรค มีทั้งหมด 4 ข้อ คือ จะใช้ได้เมื่อการรักษาไม่ได้ผลเท่านั้น ไม่ใช่ยาเริ่มต้น ได้แก่ 1.อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด 2.อาการปวดประสาท 3.กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคเอ็มเอส และ 4.โรคลมชักดื้อยา ในส่วนของโรคที่ข้อมูลสนับสนุนจำกัดต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ โดยมีเป้าหมายคือบรรเทาอาการเท่านั้น ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มะเร็งระยะสุดท้าย พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล และโรคปลอกประสาทอักเสบ


          นอกจากนี้กรมการแพทย์ยังระบุข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ THC ในกลุ่มที่มีประวัติแพ้สาร โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคปอด หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เคยเป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการทางโรคอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล รวมถึงหญิงมีครรภ์ ให้นมบุตร สตรีผู้ไม่ได้คุมกำเนิด หรือวางแผนจะมีบุตร ดังนั้น สารแคนนาบินอยด์มีทั้งประโยชน์และโทษ ควรเลือกศึกษาสารและขนาดให้ถูกต้อง และควรแยกคำว่า     “การใช้ยาแคนนาบินอยด์ทางการแพทย์ จากการเสพกัญชา” ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวทิ้งท้าย


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ