Lifestyle

ทำไม??ต้องเดินเพื่อผู้ป่วย ไปหาคำตอบกับ เดชา ศิริภัทร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] 

 

 

          “ทำไมผมต้องเดิน 20 วัน 265 กิโลเมตร จาก จ.พิจิตร มา จ.สุพรรณบุรี คำตอบง่ายๆ เพราะว่าผมวิ่งไม่ไหว แก่แล้ว อายุ 71 แล้ว ก็เลยต้องเดิน เดินเพื่ออะไร คำตอบก็คือเดินเพื่อจะสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้รับรู้ว่ากัญชาใช้รักษาโรคได้นะ และให้มาร่วมลงชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้แก้กฎหมายให้เอากัญชาออกจากยาเสพติด เอากัญชามารักษาโรคได้” เดชา ศิริภัทร พูดถึงการเดินรณรงค์

 

 

          การเดินในครั้งนี้ “ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ" บอกว่าจะมีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมเดิน เป็นต้นว่า 1.มูลนิธิข้าวขวัญ 2.มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ 3.มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) 4.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 5.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 6.มูลนิธิสุขภาพไทย 7.มหาวิทยาลัยรังสิต 8.เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ 9.ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) 10.เครือข่ายผู้ป่วย (Healthy Forum11) 11.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โดยจะเริ่มในวันนี้ 21 พฤษภาคม-9 มิถุนายน จากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จ.พิจิตร ถึงวัดบางปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี เดินวันละ 2 ช่วง ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00-10.00 น. และช่วงบ่าย 15.00-18.00 น.

 

 

 

ทำไม??ต้องเดินเพื่อผู้ป่วย ไปหาคำตอบกับ เดชา ศิริภัทร

 


          จุดประสงค์หลักๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่อง เปิดเสรีกัญชารักษาโรค และปลดกัญชาออกจาบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อมาใช้สำหรับการรักษาโรค อีกอย่างก็คือเดินเพื่อระดมเงินมาทำยา เหมือนกับที่พี่ตูนวิ่งเพื่อระดมทุนไปสร้างโรงพยาบาลได้ เราก็จะระดมเงินไปทำยาได้เช่นเดียวกัน


          โดยวันแรกจะเริ่มต้นจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ อ.โพทะเล จ.พิจิตร - วัดบ้านหนองบัว อ.โพทะเล - วัดโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง จ.พิจิตร รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร โดยคาดว่าในแต่ละวัน​ จะมีคนเดินประจำ​รวมกับทีมงาน ราว 100​ คน และประชาชนที่มาสมทบเป็นรายวัน​ คาดว่าบางวันอาจมีมากถึง ​ 300​ คน รวมทั้งจะมีการเสวนาวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้น้ำมันกัญชา




          เวลา 13.00-15.00 น. จะมีเสวนา สิทธิและความสำคัญของการเข้าถึงยากัญชา ณ วัดบ้านหนองบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต, อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ, พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย, สายชล ศรทัตต์ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังและประธานเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง
   

 

 

ทำไม??ต้องเดินเพื่อผู้ป่วย ไปหาคำตอบกับ เดชา ศิริภัทร

 

 

          วันที่ 1 มิถุนายน เรื่องความก้าวหน้าการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ณ วัดโคกพระ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เวลา 16.30-18.30 น. โดย ผศ.นพ.ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น, ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ภก.ดร.ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต, ภก.ดร.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ กรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน และมูลนิธิสุขภาพไทย


          เรื่อง ประสบการณ์ผู้ป่วย 5 โรคสำคัญ กับน้ำมันเดชา ณ วัดสัปรสเทศ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี วันที่ 7 มิถุนายน เวลา 16.30-18.30 น. โดยผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาเดชา ประพจน์ ภู่ทองคำ และเรื่องนโยบายและกฎหมายเพื่อกัญชาทางการแพทย์ ณ ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 13.00-15.00 น. โดย ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทุกจุดแวะพักจะมีการเสวนาอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้กัญชารักษาโรค เวลา 17.00-18.30 น. ทุกวัน


          "หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมต้องทำ ก็อยากจะบอกว่าผมอยากสะสมบุญไปใช้ในภพหน้า อยากทำความดีให้แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ พูดง่ายๆ ในเมื่อเรารู้ว่าอะไรที่จะช่วยผู้ป่วยมะเร็งได้ก็อยากทำการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ได้บุญกุศลมากที่สุด ผมเลยเลือกทำในสิ่งนี้ หากว่าเอากัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว ให้ประชาชนเข้าถึงและนำมาใช้ทางการแพทย์ ในอนาคตถ้ารัฐบาลมีความเป็นห่วงในการใช้กัญชาของประชาชนก็เขียนบทเฉพาะกาลควบคุมได้ เพราะถ้าไม่เอาออกจากยาเสพติดแล้วมันจะทำอย่างอื่นยาก เพราะทุกอย่างจะผิดไปหมด" ชายวัย 71 กล่าว


          เดชา เล่าว่า แม่ของเขาเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เคยตัดออกไปจนหาย 3 ปีผ่านไป ตรวจพบมะเร็งตับขั้นที่ 4 ต้องให้คีโม แต่แม่ไม่ยอมคีโมเพราะคิดว่าคงไม่เกิน 2 เดือน และใช้สมุนไพรช่วยระงับความเจ็บปวดและจากไปอย่างสงบ จึงได้เริ่มต้นศึกษากัญชาอย่างจริงจัง ทั้งทางวิทยาศาสตร์และตำราจากพระที่มีฌาน และลองน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วยมะเร็งเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อตรวจค่ามะเร็งปรากฏว่าไม่พบ จึงมั่นใจว่าถ้าเป็นมะเร็งมีโอกาสหายได้ถ้าใช้น้ำมันกัญชา 


          "ผมสกัดจากดอก จึงได้น้ำมันออกมา เพื่อเห็นประโยชน์ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว จึงบอกญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ลูกศิษย์ และแจกให้คนไปลองใช้ ซึ่งได้ผลและรู้สึกว่า ถ้ามันดีจริงๆ ควรจะให้ประโยชน์แก่คนอื่นด้วย จึงให้วัดป่าวชิรโพธิญาณเป็นผู้แจกเมื่อปี 2561 เป็นการทำบุญ และการเดินครั้งนี้ก็จะเป็นการบอกแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและคนที่สนใจอยากให้คนรับรู้สิ่งจริงๆ เหมือนที่เราเจอ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล และตัดสินใจว่าอะไรน่าจะดีสำหรับเขา” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว 


          ทั้งนี้ โรคมะเร็งไม่ได้หายได้จากการใช้ยาอย่างเดียว ที่สำคัญที่สุดต้องทำยาให้ถูกต้องที่สุดในแต่ละคน ต้องดูตามอาการของไข้ และการกิน ต้องเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป หลักสำคัญคือต้องกินในปริมาณที่น้อยๆ ค่อยเพิ่มไปตามอาการของคนไข้ ที่สำคัญอย่ากิินให้เมาเป็นอันขาด ถ้าเมาแล้วจะไม่ได้เป็นยา จะไม่ใช่เป็นการรักษาโรค การทำให้ “กัญชา” ถูกกฎหมายจะช่วยให้ควบคุมได้ 


          ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยแจ้งความจำนงขอรับน้ำมันกัญชา ณ วันที่ 15  พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีจำนวนเกิน 20,000 คนแล้ว ไม่นับผู้ป่วยอีกมากมายที่ไม่สามารถประเมินได้ที่กำลังหลั่งไหลมาแสดงความจำนงเพิ่มเติม โดยล่าสุด มูลนิธิข้าวขวัญได้ประกาศปิดรับการสมัครผ่านออนไลน์แล้ว เนื่องจากไม่สามารถรับมือกับผู้แสดงความจำนงจำนวนมากได้ ซึ่งหากว่าได้รับอนุญาตให้ทำน้ำมันกัญชาแจกผู้ป่วยได้ตามกำลังการผลิตก็ได้ไม่เกิน 10,000 ขวด และหากว่ามีความต้องการมากขึ้นกว่านี้จะดำเนินการอย่างไรเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเป็นผู้ให้คำตอบแก่ภาคประชาชน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ