Lifestyle

วชิรพยาบาลผุดแอพ'รักเข่า'กระตุ้นผู้ป่วยฝึกกายภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมของแพทย์ทั่วโลก คือผู้ป่วยมักไม่เห็นความสำคัญของการทำกายภาพ

 

 

          ปัญหาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมของแพทย์ทั่วโลก คือผู้ป่วยมักไม่เห็นความสำคัญของการทำกายภาพ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ หรือไม่มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ เพราะมองว่าการทำกายภาพนั้นเห็นผลช้ากว่าการรับประทานยา ทั้งที่จริงแล้วการรับประทานยาช่วยบรรเทาอาการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่การทำกายภาพ หากทำสม่ำเสมอ มีวินัย จะเกิดผลดีและมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างมาก ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ทำกายภาพและไม่ทำกายภาพ พบว่าการทำกายภาพช่วยลดอาการปวดข้อเข่าและช่วยรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในระยะยาวได้
    

 

 

 

วชิรพยาบาลผุดแอพ'รักเข่า'กระตุ้นผู้ป่วยฝึกกายภาพ

 

 

          ด้วยเหตุนี้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ และทีมนักวิจัย รวมถึง ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. พัฒนา แอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้ป่วยฝึกทำกายภาพได้ถูกต้องด้วยตนเอง รวมทั้งแพทย์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะนำปรับการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะผู้ป่วยแต่ละบุคคลได้อีกด้วย

 

 

 

วชิรพยาบาลผุดแอพ'รักเข่า'กระตุ้นผู้ป่วยฝึกกายภาพ

 


          รศ.นพ.สาธิต เที่ยงวิทยาพร ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ หน่วยข้อเทียม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่มาของแอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ ว่าด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุเริ่มปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยี เช่นสมาร์ทโฟนมากขึ้น มีการใช้แอพพลิเคชั่นไลน์รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ดีขึ้นจึงเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เกิดเป็นความร่วมมือกับ ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมครั้งแรกในประเทศไทย
    

 

 

 

วชิรพยาบาลผุดแอพ'รักเข่า'กระตุ้นผู้ป่วยฝึกกายภาพ

 


          “แอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ นำเสนอข้อมูลความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อมผ่านกราฟฟิกตัวการ์ตูนที่น่ารัก เพื่อให้สื่อสารเข้าใจง่าย ขณะนี้ใช้ได้ในระบบแอนดรอยด์ วิธีการใช้งานมีขั้นตอนง่ายๆ เริ่มจากดาวน์โหลดติดตั้งแอพพลิเคชั่นลงบนสมาร์ทโฟน โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า “รักเข่า” เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นครั้งแรก ผู้ใช้งานต้องกรอกเพศ อายุ ส่วนสูงและน้ำหนัก แอพพลิเคชั่นจะทำการคำนวณบีเอ็มไอให้อัตโนมัติ จากนั้นเลือกสถานะผู้ใช้งานจาก 3 ตัวเลือกคือ บุคคลทั่วไป ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด และผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หากเป็น บุคคลทั่วไป ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อม (ที่ยังไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด) แอพพลิเคชั่นจะให้ตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม หลังจากประเมินเสร็จผู้ใช้จะได้รับผลประเมินและกดเพื่อเลือกไปสู่แผนการทำกายภาพซึ่งจะมีคำแนะนำถึงท่าทางกายภาพต่างๆ


          ในกรณี ผู้ป่วยโรคข้อเข้าเสื่อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด ขั้นตอนจะเหมือนกันแต่จะมีการแสดง checklist สิ่งที่ต้องทำก่อนเข้ารับการผ่าตัด และมี ‘ความรู้’ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวผ่าตัดด้วย สำหรับ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะมีแผนการทำกายภาพซึ่งขึ้นอยู่กับระยะพักฟื้นของผู้ใช้ นอกจากนี้ในแอพพลิเคชั่นยังมีข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยง อาการ แนวทางการป้องกันและรักษา
    

 

วชิรพยาบาลผุดแอพ'รักเข่า'กระตุ้นผู้ป่วยฝึกกายภาพ

 

 

          รศ.นพ.สาธิต กล่าวว่า จุดเด่นสำคัญของแอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ คือคำแนะนำวิธีการทำกายภาพที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันหรือบำบัดโรคข้อเข่าเสื่อมประกอบด้วย 3 ท่า ได้แก่ 1.ท่านั่งเหยียดค้าง: คนที่เป็นข้อเข่าเสื่อม กล้ามเนื้อที่ต้นขาจะลีบ เพราะมีการใช้งานน้อยลง เวลาเดินจะไม่มีแรง การทำกายภาพท่านั่งเหยียดค้างเพื่อช่วยกล้ามเนื้อต้นขาเป็นหลัก วิธีการคือยกขาขึ้นมาเหยียดค้างไว้ ทำบ่อยๆ กล้ามเนื้อต้นขาจะแข็งแรง ช่วยให้เดินได้ดีขึ้น 2.ท่าเกาะย่อลง: ช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและหลังแข็งแรง และมุมงอเหยียดของเข่ายังคงดีอยู่ด้วย และ 3.ท่าก้มแตะเท้า: ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อของน่องและหลังทำให้ผ่อนคลาย ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นจะบันทึกข้อมูลการทำกายภาพในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการรักษาได้ด้วย 
   

          โดยขณะนี้แอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ ได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทีมวิจัยอยู่ระหว่างการศึกษาเก็บข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่น ‘รักเข่า’ ควบคู่ไปกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วย 100 คน เพื่อให้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการทำกายภาพอย่างเป็นรูปธรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ