Lifestyle

เฮลตี้เกมเมอร์วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาดพ่อแม่จัดสรรป้องกันติดเกม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 


          องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้บรรจุการติดเกมลงในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ “International Classification of Diseases” (ICD) ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต โรคติดเกม อีกหนึ่งโรคที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างมาก เพราะเมื่อได้ลองเล่นแล้วอาการติดเกมมีโอกาสสูง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดเสวนาเรื่อง Healthy Gamer วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาด “สังเกต เรียนรู้ เราควบคุมได้” เพื่อรับทราบถึงปัญหา และวิธีจัดการที่สร้างสรรค์ หากลูกหลานติดเกม แม้ว่า “โรคติดเกม” ไม่ใช่โรคที่รักษาแล้วไม่หาย แต่หากไม่รักษา เกมก็อาจจะกลืนกินชีวิตได้

 

 

          นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เด็กที่เล่นเกม มีเหตุผลเริ่มจากความสนุกและคลายเครียด แต่เมื่อเล่นไปแล้ว หลายคนกลับติด ซึ่งถ้าเป็นเด็กติดเกม เขาจะสร้างโลกของตนเองในเกม โดยจะตัดตัวเองออกจากสังคมและไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น มีความหมกมุ่นสนใจแต่เรื่องเกม หน้าที่กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำจะไม่ทำและเล่นเกม สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง ฝืนเล่นต่อไปทั้งที่รู้ว่าชีวิตจะพัง

 

 

เฮลตี้เกมเมอร์วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาดพ่อแม่จัดสรรป้องกันติดเกม

นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล

 


          “พฤติกรรมของเด็กติดเกมนั้น ในกลุ่มของเด็กและผู้ปกครองจะต้องช่วยกันสังเกต เรียนรู้ โดยเด็ก ต้องสังเกตตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าเล่นเกมมากเกินไป คุมตนเองไม่ได้ กิจกรรมที่เคยทำ เลิกทำ เช่น ซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี ร่วมกิจกรรมอื่นๆ และการเรียนเริ่มตก มีคนเริ่มทัก เริ่มมีปัญหากับพ่อแม่กับแฟน เหล่านี้ล้วนเป็นอาการเบื้องต้นที่น้องๆ สามารถสังเกตตนเอง และฉุกคิดว่าเล่นเกมมากเกินไปหรือไม่ ขณะที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูกว่าลูกใช้เวลานานเกินไป มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง จากเด็กอารมณ์ดีกลายเป็นพ่อแม่พูดอะไรนิดอะไรหน่อย หัวร้อน เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้าวของ เริ่มแยกตัวมากขึ้น พูดกับพ่อแม่น้อยลง ไม่ไปใช้เวลาร่วมกับกลุ่มเพื่อนในชีวิตจริงแต่ไปอยู่กับเพื่อนออนไลน์ ถ้าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้แสดงว่าเขามีอาการติดเกม” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว


          ชั่วโมงในการเล่นเกมนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาติดเกมหรือไม่ เพราะหากเด็กเล่น 4 ชั่วโมงเกินเวลาที่ควรจะเล่น คือ ในวันปกติ เล่นประมาณ 1 ชั่วโมง และวันหยุดเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่เขาสามารถจัดสรรเวลาได้ดี การเรียนไม่ตก ทำกิจกรรมอื่นๆ เล่นกีฬา ดนตรี ก็ไม่ถือว่าเขาติดเกม

 

 

 

 

เฮลตี้เกมเมอร์วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาดพ่อแม่จัดสรรป้องกันติดเกม

 


          “เราเล่นเกมได้ แต่ต้องเป็นผู้คุมเกม เกมควรเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต อย่าให้เกมกลืนกินชีวิต และเกมสมดุล ชีวิตสมดุล เวลาในการเล่นเกมที่เหมาะสม จริงๆ แล้ว จำนวนชั่วโมงอย่างเดียวไม่พอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในบ้าน มีการสื่อสารกันแบบเปิด พ่อแม่รู้ทุกความเป็นไปของลูก ลูกเข้าถึงพ่อแม่ได้ตลอดเวลา และถ้าลูกเล่นเกมพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเป็น แต่ต้องรู้ลักษณะของเกมที่ลูกเล่นว่าเป็นอย่างไร พ่อแม่ต้องทำการบ้านในเรื่องเหล่านี้ และถ้าลูกติดเกมหนักๆ สื่อสารกับลูกไม่ได้ พ่อแม่จะต้องทำตัวโง่ ให้ลูกสอนเล่นเกม เพื่อเป็นสะพานทำให้เข้าไปหาลูกได้ เมื่อดีขึ้นค่อยๆ ดึงลูกออกมาทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่มีข้อแม้คือ พ่อแม่อย่าเผลอไปติดเอง” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว


          นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกติดเกม โดยพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ควรทำหากไม่อยากให้ลูกติดเกม คือ พ่อแม่ที่ทำตัวยุ่งเกินไปจนไม่รู้จักลูก ไม่รู้ว่าลูกเครียด ปัญหาที่ลูกเจอมีอะไรบ้าง ถ้าพ่อแม่ยุ่งเกินไป เขาจะไปหาคนอื่น รวมถึงพ่อแม่ที่รู้ไม่เท่าทัน มองแต่ด้านบวกของเกมกลัวลูกจะตกเทรนด์ คุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องแล้วยื่นอุปกรณ์ มือถือ แท็บเล็ตให้แก่ลูก โดยไม่ได้สร้างวินัยในการเล่นเกม และพ่อแม่ขี้ใจอ่อน กลัวลูกงอน โกรธ กลัวลูกไม่รัก


          พ่อแม่ที่ขัดแย้งกัน คือ พ่ออาจตามใจ แม่อาจมีระเบียบวินัย พ่อแม่ที่ดูโซเชียลอย่างเดียว พ่อที่เล่นเกมให้ลูกเห็นแต่ไม่เล่นกับลูก พ่อแม่ที่ละเลยไม่ได้สอนให้ลูกทำกิจกรรมอย่างอื่น พ่อแม่สื่อสารกับลูกไม่เป็น จับผิด ดุไว้ก่อน บ่นแต่ไม่เอาจริง และพ่อแม่ที่โลกไปไกลแล้ว แต่ตัวเองไม่ติดตาม ลักษณะพ่อแม่แบบนี้ล้วนทำให้เด็กติดเกมได้มากขึ้น


          จึงอยากฝากพ่อแม่ทุกคนการแก้ปัญหาติดเกม ไม่ใช่เรื่องของเด็ก เกม หรือเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เด็กฝ่ายเดียว พ่อแม่ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะการจะมารักษาเด็กที่ติดเกมหนักๆ นั้นเหนื่อยมากและโอกาสสำเร็จมีไม่ถึงครึ่ง ต่อให้รักษาตามหลักวิชาการ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมเปลี่ยนตัวเอง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กติดเกมได้


          นายณิธิภัทร เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละคร เรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2" กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดเกม เป็นปัญหาที่สำคัญ และขณะนี้ยังไม่มีการจัดการครอบคลุม ถ้าปล่อยให้เป็นไปจะเป็นปัญหาที่มากขึ้น ในฐานะผู้จัดละคร อยากทำละครที่สะท้อนปัญหาสังคมและผู้ชมได้รับประโยชน์ จึงได้คัดเลือกปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเด็ก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ถ้าไม่มีใครสังเกตก็ไม่รับรู้ถึงปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเด็กกรี๊ด เด็กออทิสติก เด็กติดเกม เด็กยอมรับความผิดหวังไม่ได้ และเด็กที่มีความหลากหลายในเพศของตัวเอง Gender Creative

 

 

 

เฮลตี้เกมเมอร์วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาดพ่อแม่จัดสรรป้องกันติดเกม

 


          โดยทุกตอนต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปตามหลักทางการแพทย์ พ่อแม่ ครู สถานศึกษาจะช่วยเด็กได้อย่างไร อย่าง ปัญหาเด็กติดเกม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ผู้ปกครองควรใส่ใจและป้องกันแก้ไข ทั้งบทละคร นักแสดงทุกตัวละคร ล้วนได้รับคำแนะนำจากแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นความรู้และวิธีการที่พ่อแม่ ครอบครัวนำไปใช้ได้จริง


          “สถานศึกษาต้องมีการปรับตัว เพราะถ้าจำกัดมากเกินไป ก็จะทำให้เด็กออกจากโรงเรียนไปสู่โลกข้างนอก ในโรงเรียนเองควรมีการจัดตั้งชมรมต่างๆ ที่ตอบรับความต้องการของเด็ก อย่างเด็กเล่นเกม สถานศึกษาควรเปิดให้เด็กจัดตั้งชมรมเกม ที่จะทำให้เด็กได้รู้จักเกี่ยวกับเกม ได้ทำในสิ่งที่สนใจ เป็นต้น การแก้ปัญหาเด็ก จริงๆ จะโทษเพียงเด็กไม่ได้ เพราะครอบครัว สภาพแวดล้อม สังคม ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง 


          ทุกฝ่ายจึงต้องตระหนักถึงปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะครอบครัว เพราะทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ เช่น โรคติดเกม ป้องกันได้ และหายได้ อยากให้สังคม ครอบครัวตระหนักถึงปัญหาเด็ก โดยเฉพาะครอบครัว พ่อแม่ดูแลเด็ก และรู้ช่องทางในการจะแก้ปัญหา อย่างเว็บไซต์ http://www1.si.mahidol.ac.th/Healtygamer/ ที่มีทั้งแบบสอบถามให้เด็ก พ่อแม่ได้สำรวจตัวเอง มีบทความให้ความรู้ ทางออก ที่พร้อมให้คำปรึกษามีมากมาย” นายณิธิภัทร กล่าว

 

          เมื่อเด็กติดเกม..ต้องทำอย่างไร?
          - พ่อแม่ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวรุนแรง ควรพูดคุยด้วยความเข้าใจ
          - อย่าใช้วิธีบังคับ เช่น ห้ามลูกเล่น หรือห้ามเล่นเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง เป็นต้น
          - ครอบครัวหัดฟังเด็กให้มากขึ้นไม่ใช่เอาแต่ สวด สั่ง กับสอน
          - พ่อแม่ให้เวลาคุณภาพกับลูกให้มากขึ้น
          - พ่อแม่อยู่ใกล้ชิดกับลูกทุกครั้งที่มีเวลาว่าง
          - หากิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว
          - ช่วยลูกบริหารจัดการเวลาชีวิต
          - ทบทวนการเลี้ยงดูของตนเอง
          - โรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กได้จัดกิจกรรมที่ต้องการ
          - รับฟังเด็กอย่างเข้าใจ ครูควรใส่ใจเด็ก
          ที่มา:คมชัดลึก 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ