Lifestyle

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] 


 


          จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ศูนย์การค้าใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บนับ 10 ราย หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเกิดเหตุช็อกโลกเพลิงไหม้วิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส ซึ่งมีอายุกว่า 850 ปี นำมาซึ่งการถอดรหัสสาเหตุและการเดินทางของต้นเพลิงพร้อมตระหนักถึงการดูแลโบราณสถานของไทย

 

 

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 

 

          “อัคคีภัย” ถือเป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากสถิติในปี 2558 มีเหตุเพลิงไหม้ขึ้น 646 ครั้ง ปี 2559 เหตุเพลิงไหม้ 681 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย ผู้บาดเจ็บ 135 ราย ปี 2560 เกิดเหตุเพลิงไหม้จำนวน 783 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ผู้บาดเจ็บ 117 ราย ปี 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ 292 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 93 ราย เสียชีวิต 15 ราย และในปี 2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้ 88 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 2 ราย

 


          บุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัยและป้องกันอัคคีภัย วสท. กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนเพลิงไหม้ จากศูนย์การค้า...ถึงอาสนวิหารนอเทรอดาม” ณ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ถึงการคาดการณ์เหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่สำรวจคาดว่าต้นเพลิงมาจากโซนบ่อบัดน้ำเสียชั้นใต้ดิน B2 ซึ่งหลายคนไม่คาดคิดว่าควันไฟจะข้ามไปถึงชั้น 8 ได้ โดยพุ่งขึ้นตามท่อลมไฟเบอร์กลาสแนวดิ่ง รวมถึง B2 ไม่มีสปริงเกอร์ลดระดับความร้อน ปลายปล่องที่ชั้น B1 ไม่ได้ปิดปลายของปล่องไว้ตามมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน ทำให้ไฟลุกลามไปประทุที่ชั้น 8 ท่อลมเกิดการขาดและพังลงมาปิดเส้นทางทำให้เกิดเหตุเสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่ไฟไม่กระจายไปแต่ละชั้นเนื่องจากมีผนังก่อกันไฟกั้นไว้ซึ่งยังถือเป็นเรื่องดี

 

 

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 

 

          การออกแบบระบบท่อสำหรับอาคารขนาดใหญ่ ให้ได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ วัสดุที่ใช้ทำท่อลมหรือท่อระบายอากาศเสียต้องไม่ใช้วัสดุที่ติดไฟและตราบใดที่เป็นท่อลมต้องเดินผ่านภายในอาคาร ช่องท่อ (SHAFT) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ระบายอากาศ (Fire Damper) นอกจากนี้ช่องท่อ (SHAFT) ควรเป็นแนวตั้งตรงจนถึงบนดาดฟ้า ไม่ควรเลี้ยวหลบไปมา ปลายช่องท่อ (SHAFT) ทั้งส่วนบนสุดและล่างสุดอยู่ภายในอาคารต้องปิดปลายให้ดีรวมถึงควรให้ความรู้การอพยพหนีไฟแก่ประชาชนด้วย

 

 

 


 

          ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ถือเป็นบทเรียนที่ดีของวิศวกรและนักดับเพลิง เพราะเป็นการเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่สลับซับซ้อน อยากให้เป็นบทเรียนของนักดับเพลิงที่ปฏิบัติงานให้อยู่ระมัดระวัง กรณีเพลิงไหม้นี้ “ไม่ได้ลุกลามแบบตรงไปตรงมา” เหมือนที่เคยเห็นกันบ่อยๆ เหตุการณ์ในครั้งนี้พิสูจน์ให้ได้เห็นถึงอันตรายต่อพนักงานดับเพลิงเป็นอย่างยิ่ง จากการที่ไม่ได้ปิดช่องท่อแนวดิ่งหรือปล่องให้ถูกต้องรวมถึงการไม่ติดตั้งหัวสปริงเกอร์ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่

 

 

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 


          “ขณะนี้ผลการพิสูจน์หลักฐานจากตำรวจยังไม่มีข้อสรุปว่าต้นตอของประกายไฟหรือแหล่งความร้อนมาจากที่ใดแม้กระทั่งมหาวิหารนอเทรอดาม ก็ต้องใช้เวลากว่า 2-4 เดือน ในการสอบพยานบุคคล กล้องวงจรปิด คุ้ยเขี่ยวัสดุในกองเพลิง และนำวัสดุหลายชนิดเข้าห้องแล็บ ดังนั้นการเดินดูสั้นๆ ยังเป็นเพียงข้อสมมุติฐานข้อสรุปควรเป็นของตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน” ดร.พิชญะ กล่าว

 


          “บันไดหนีไฟ” ปลอดภัยที่สุด
          ด้าน จักรพันธ์ ภวังค์คะรัตน์ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาคณะกรรมการความปลอดภัย วสท. กล่าวถึงการอพยพคนสำหรับอาคารขนาดใหญ่ว่า การแบ่งส่วนอาคารทำให้อพยพหรือปิดอาคารเฉพาะส่วนได้ เพราะควันไม่แพร่กระจาย ทั้งนี้ส่วนไหนมีควันส่วนนั้นต้องได้ยินเสียงแจ้งอพยพทันที ในเหตุเดียวกันอาจมีการตรวจจับควันได้มากกว่า 1 จุด ที่ห่างกันมาก (ชั้น B2 และชั้น 8) ระบบต้องแจ้งอพยพทุกจุดที่มีควัน และในกรณีเป็นอาคาร Mixed Use ซึ่งอาจจะแยก Alarm Control Panel (FCP) ต้องเชื่อม FCP เข้าหากัน และต้องแจ้งอพยพส่วนของอาคารที่ติดกันได้ตามลำดับการแจ้งอพยพ ไม่ควรใช้ลิฟต์ขณะเกิดเพลิงไหม้เพราะอาจเกิดไฟฟ้าขัดข้องทำลิฟต์ค้าง เว้นแต่มีการออกแบบให้อพยพทางลิฟต์ได้ โดยเฉพาะอนาคตที่มีสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นบันไดหนีไฟจึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ควรหนีลงข้างล่างห้ามขึ้นดาดฟ้า

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 

 


          ดร.พิชญะ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบันไดเลื่อนไม่นับเป็นบันไดหนีไฟ ต้องอพยพที่บันไดหนีไฟเท่านั้น ยกเว้นระบบขนส่งมวลชน คือรถไฟฟ้า ซึ่งสังเกตว่าบันไดเลื่อนที่รถไฟฟ้าจะเร็วเมื่อเทียบกับในศูนย์การค้า อาจจะมีการเปลี่ยนทิศหรือหยุดกะทันหันจึงต้องประกาศให้จับราวบันไดเสมอ ปัจจุบันไม่ได้ห้าม แต่ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะขั้นบันไดไม่เท่ากันอาจสะดุดหกล้มง่าย ราวจับมีระดับต่ำกว่ามาตรฐาน อาจพลัดตกได้ง่ายหากเบียดเสียดกันมาก และบันได้เลื่อนปัจจุบันยังไม่หยุดอัตโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ (กำลังแก้ไข มาตรฐาน วสท. ให้หยุด) และหากบรรทุกเกินพิกัด บันไดเลื่อนอาจทรุดพังลงมาได้


          ทั้งนี้ การขับรถยนต์ออกจากอาคารที่กำลังไฟไหม้ มีผลเสีย คือรถยนต์ไปขัดขวางการจราจรถนนหลักที่ทำให้รถดับเพลิงและกู้ภัยเข้ามาถึงอาคารช้า ส่วนใหญ่รถยนต์ที่ออกจากช่องจอดรถแล้วมักไม่กล้าทิ้งรถขณะที่อยู่บนทางวิ่ง ซึ่งเป็นอันตรายมากหากยังติดค้างอยู่ในที่จอดรถภายในอาคารโดยเฉพาะรถที่ติดแก๊ส นอกจากนี้ประกันอาจไม่คุ้มครองหากนำรถออกจากที่จอด

 

 

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 

 


          ขณะเดียวกัน การเกิดสัญญาณปลอม (False alarm) ถือเป็นตัวปัญหาสำคัญ อาคารส่วนใหญ่มักลงโทษพนักงานที่รับผิดชอบรุนแรง ทำให้พนักงานไม่ปล่อยให้ระบบทำงานอัตโนมัติ แต่รอคนตัดสินใจปล่อยสัญญาณเตือนภัย และมีสวิตช์ลับปิดเสียง เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงทำให้การตัดสินใจช้า ไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน และศูนย์การค้าบางแห่งเกรงว่าจะเกิดความชุลมุนจึงเลือกที่จะใช้รหัสและสัญลักษณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่แทนการใช้สัญญาณแจ้งเตือนซึ่งกรณีนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้

 

          ปัจจุบันอาคารสูงกว่า 23 เมตร ก่อสร้างก่อนออก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 มีมากกว่า 1,000 แห่ง มีตั้งแต่ 8 ชั้น หรือ 23 เมตร จนถึง 33 ชั้น หรือประมาณ 80 เมตร ที่ยื่นขออนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งไม่อยู่ในข่ายต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่สมบูรณ์ เหมือนอาคารใหม่ที่ก่อสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 เช่น บันไดหนีไฟ ผนังกันไฟ สปริงเกอร์ เครื่องสูบน้ำและสายฉีดดับเพลิง


          ดร.ทยากร จันทรางศุ ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เราดูแลควบคุมอาคาร ออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กฎกระทรวงฉบับที่ 33 อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวงฉบับที่ 47 ในการดูแลอาคารเก่าว่า ควรมีระบบอะไรเพิ่มเติม ประเด็นที่ศึกษาในครั้งนี้คือเรื่องของท่อลม ซึ่งมีกำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 33 แต่เป็นท่อลมในแง่ของการระบายอากาศ แต่ในเคสนี้เกิดในท่อลมที่ระบายอากาศเสียจากระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งต้องไปดูในแง่ของกฎหมายว่าจะควบคุมอย่างไร รวมถึงคุณภาพวัสดุที่นำมาใช้ โดยกรมกำลังพิจารณาในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังพิจารณาในการแบ่งส่วนอาคารเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามและสามารถดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ถอดบทเรียนไฟไหม้ปกป้องโบราณสถานไทย

 

 


          บทเรียนมหาวิหารนอเทรอดาม
          ดร.พิชญะ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ของมหาวิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส ทำให้มีหลายฝ่ายกังวลว่าโบราณสถานของประเทศไทยซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจและเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศหลายแห่งยังไม่มีการป้องกันอัคคีภัยที่ดี ด้วยมองว่าหากไปติดระบบป้องกันจะทำให้ไม่สวยงาม หากเกิดเหตุขึ้นมาอาจเกิดความสูญเสียได้ ดังนั้นเราจึงพยายามศึกษาเพื่ออ้างอิงในส่วนที่จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องทำ เช่น ระบบป้องกันเหตุเพลิงไหม้ อย่างน้อยเตือนเพื่อให้ระงับเหตุได้รวดเร็ว หรือติดสปริงเกอร์บางพื้นที่ที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำให้ดูงดงามได้ จึงจำเป็นต้องดูเป็นกรณีไป


          ทั้งนี้วัดหรือโบราณสถาน ด้วยเป็นอาคารขนาดเล็ก จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องควบคุม เพราะกฎหมายระบุในส่วนของที่อยู่อาศัย อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีคนอยู่อาศัยเยอะ ดังนั้น โบราณสถานหลายแห่งจึงไม่เข้าข่าย ไม่มีข้อกำหนดชัดเจน เพียงแต่อยู่ภายใต้ข้อกฎหมายเท่านั้น

 


          การอพยพเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูง
          - แจ้งอพยพทันทีเมื่อพบควัน
          - ควรแยกสัญญาณแจ้งเตือนในอาคาร Mixed Use
          - ไม่ควรใช้ลิฟต์ขณะเกิดเพลิงไหม้
          - บันไดหนีไฟเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด
          - ควรหนีลงข้างล่างห้ามขึ้นดาดฟ้า เว้นแต่เจออุปสรรค
          - บันไดเลื่อนไม่นับเป็นบันไดหนีไฟ ยกเว้นที่รถไฟฟ้า
          - หากบรรทุกเกินพิกัด บันไดเลื่อนอาจทรุดพังลงมาได้
          -ศูนย์การค้าควรใช้สัญญาณแจ้งเตือนแทนการใช้รหัสระหว่างพนักงาน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ