Lifestyle

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 


          สถานการณ์ฝุ่นและหมอกควันที่เกิดขึ้นสะสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยสร้างปัญหาทั้งด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตของผู้คน ผลกระทบด้านป่าไม้ รวมไปถึงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุน

 


          “โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (HAZE FREE THAILAND)” ให้นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแกนหลักร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อลงพื้นที่แก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่
     

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 

 

          อาทิ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรเพื่อลดการเกิดหมอกควัน โครงการพัฒนาเครื่องมือช่วยตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลไกลเชิงพื้นที่เพื่อลดสาเหตุหมอกควันในภาคเหนือ โครงการต้นแบบการปศุสัตว์เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาป่าและพื้นที่การเกษตร อันส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการการอนุรักษ์และการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการบูรณาการเกษตรเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และโครงการการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ
  

          รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง หัวหน้าโครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (HAZE FREE THAILAND) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลการดำเนินงานวิจัยและกิจกรรมต่อจากปี 2559 โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อลดปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้นในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และจ.น่าน

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน


   

          ด้วยการจัดทำแผนการบริหารจัดการบริโภคในระดับครัวเรือน ลดปัญหาหนี้สินโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกมากขึ้นและการติดตามประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจกับการเกิดมลพิษทางอากาศ และพัฒนาเครื่องมือช่วยตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลไกเชิงพื้นที่เพื่อลดสาเหตุหมอกควันในภาคเหนือ ด้วยการศึกษาบริบทของพื้นที่ที่มีผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาการเผาไหม้ที่จะนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สาธารณชนและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการให้ปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินอันส่งผลต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่เป็นการจัดการปัญหาหมอกควันทางต้นน้ำได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน
  

          ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นหัวหน้าโครงการหมอกควันย่อย 1 กล่าวว่า สาเหตุการเกิดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ ได้แก่ การเกิดไฟป่า การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากการปลูกไร่หมุนเวียน อย่าง ข้าวโพด 
  

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 

 

          รวมทั้งเกิดพื้นที่ที่มีการเผาไหม้พื้นที่เดิมๆ หลายปี การแก้ปัญหาต้นทางจึงต้องปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินและการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรเพื่อลดการเกิดหมอกควัน โดยมีการวางแผนกิจกรรมการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปสู่การปลูกพืชแบบผสมผสานและระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกผลิตพืชที่ตรงต่อความต้องการของตลาด เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกด้วยการแจกกล้าไม้ยืนต้น เช่น การปลูกกาแฟ ปลูกไผ่ เป็นการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน
   

          “จากการลงพื้นที่พบว่าพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก 4 ปีอยู่ที่ ต.กองแขก 33,114 ไร่ รองลงมา ต.บ้านทับ 14,036 ไร่ และต.ท่าผา 9,330 ไร่ โดยช่วงเวลาในการเกิดจุดความร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม จะเกิดมาช่วงมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งทำให้หน้าดินมีปัญหา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้าน เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านรู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุของหมอกควัน การจะทำให้เขาเกิดความสนใจปลูกพืชชนิดอื่นๆ ต้องทำให้เขามั่นใจเรื่องรายได้จากพืชที่เขาปลูก ทางโครงการนอกจากแจกกล้าไม้ยืนต้นแล้วยังมองหาตลาดให้แก่ชาวบ้านด้วย ตอนนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เกิดความมั่นใจในการปลูกพืชชนิดอื่นๆ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการลดการเผาป่า อันเป็นสาเหตุของหมอกควัน” ผศ.ดร.ปุ่น กล่าว

 

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 


          ภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนทางด้านผลผลิตการเกษตรให้แก่ชาวบ้านแทนการปลูกพืชที่ต้องเผาป่า ทำลายหน้าดิน เพราะไม่ใช่ชาวบ้านไม่อยากช่วยลดหรือแก้ปัญหามลพิษแต่หากปากท้อง รายได้ไม่แน่นอนทุกคนก็คงต้องทำตามความเคยชินเพื่อครอบครัวเป็นหลัก


          ทั้งนี้โครงการดังกล่าวสามารถลดสถิติเจ็บป่วยของ อ.แม่แจ่มได้ พบว่าผู้ป่วยปี 2559 มีจำนวน 52,000 กว่าคน ขณะที่ปี 2557 มีผู้ป่วยเกือบ 58,000 คน โดยสัดส่วนการเจ็บป่วยของ อ.แม่แจ่ม ตั้งแต่ปี 2557-2559 พบว่ากลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน 34% กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 32% กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 9% กลุ่มโรคหลอดลมอักเสบ 7% กลุ่มโรคตาอักเสบ 5% และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 3%
   

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 

 

          นายบรรทัย แซ่เห่อ ประธานกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์ กล่าวว่า หลังเข้าร่วมโครงการมีการปรับวิธีการทำเกษตร หันมาปลูกผักอินทรีย์และทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งทำให้ผลผลิตเติบโตช้าและผลอาจจะไม่สวยงามเท่าแต่รสชาติอร่อยมาก ลดต้นทุนการใช้สารเคมีได้อย่างมาก  ปลูกพืชชนิดอื่นแทนปลูกพืชไร่หมุนเวียน ลดการเผาป่าเผาไหม้เท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รู้จักการทำเกษตรแบบที่ไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญทำให้ชาวบ้านสุขภาพดีขึ้น
  

          ทุกโครงการภายใต้ “โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน” ล้วนเป็นการดำเนินการเพื่อลดปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และบริหารจัดการการตรวจวัดปริมาณฝุ่น พีเอ็ม 2.5 และพีเอ็ม 10 ในพื้นที่ต่างๆ

 

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 

 

วิถีเกษตรกร"แม่แจ่ม" ต้นแบบเมืองไร้หมอกควัน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ