Lifestyle

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

 

          ปัจจุบัน “ทุนจีน” ในประเทศไทยไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านธุรกิจ อย่างการค้าการลงทุน อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร โรงแรม เท่านั้น แม้แต่แวดวงสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้มีการความร่วมมือจัดการเรียนการสอนกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน หรือบางแห่งก็ร่วมทุนกับนักธุรกิจจีนเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เรียกได้ว่า นักศึกษาจีน นักธุรกิจจีน เข้ามามีบทบาทในความอยู่รอดของอุดมศึกษาไทยมากขึ้น

 

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 

 

          เช่นที่มหาวิทยาลัยเกริก ที่มีนายหวัง ฉางหมิง กับบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น เข้ามาถือหุ้นบริษัท เกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง ที่บริหาร ม.เกริกอยู่ 70% ก็อยู่ในความสนใจว่าจะดำเนินการจัดการศึกษาอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน อาจารย์และบุคลากรภายในหรือไม่ รวมทั้งเปิดหลักสูตรใหม่ขึ้นมารองรับนักศึกษาจีนที่หลั่งไหลเข้ามาเรียนต่อในประเทศอย่างไร


          ว่ากันว่ามหาวิทยาลัยเกริก ดำเนินการในนามบริษัทเกริกสุวรรณีและบุตร มีกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ ตระกูลมังคละพฤกษ์ 22.5% ตระกูลปิยสิรานนท์ 3.75% และตระกูลอัจฉริยะประทีป 3.75% ที่เหลือถือหุ้นในนามบริษัท เกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง 70% โดยล่าสุดบริษัทเกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง มีนายหวัง ฉางหมิง กับบริษัทหมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น เป็นผู้ถือหุ้นหลัก รองลงมาเป็นศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ซึ่งมารับตำแหน่งอธิการบดีเมื่อเดือนเมษายน 2561

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 


          ก่อนหน้านี้บริษัท เกริก สุวรรณี และบุตร จำกัด ได้แจ้งงบการเงินปี 2559 บริษัท ขาดทุนสะสม 167,872.23 บาท ขณะที่ ปี 2560 บริษัทขาดทุนสะสม 172,872.23 บาท เป็นเหตุให้มีการเปิดให้กลุ่มทุนจากจีนเข้ามาถือหุ้น


          ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “เราต้องขาย ไม่ขายเราก็ตาย ไปไม่รอด เพราะไม่มีสภาพคล่อง ที่ผ่านมาจำนวนนักศึกษาลดลงจากเดิมที่มี 3,000 คนเหลือ 2,000 คน ทำให้มหาวิทยาลัยประสบปัญหาด้านการดำเนินการ ซึ่งการร่วมทุนกับต่างชาติทำภายใต้กฎหมายกำหนดและยืนยันว่าไม่มีบุคลากร 178 คนนักศึกษา 1,630 คน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้"

 

 

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส



          เขาเชื่อว่าการที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมทุนกับ ม.เกริก จะทำให้มหาวิทยาลัย “รอด” เพราะว่ากลุ่มทุนที่เข้ามาเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับการแนะแนว จัดหานักศึกษาจีนมาเรียนต่อในประเทศไทยมากว่า 10  ปี ซึ่งปัจจุบันก็หานักศึกษาจีนมาเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะแนะนำนักศึกษาเหล่านั้นมาเรียนที่ ม.เกริกแทน

 


          จีนตลาดใหญ่เชื่อเป็นโอกาส
          ศ.นพ.กระแส อธิบายว่า จีนเป็นตลาดใหญ่ แต่ละปีมีนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประมาณ 9 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยของจีนทั้งรัฐและเอกชนรองรับได้ประมาณ 6 ล้านคน เหลืออีก 3 ล้านคนจึงถือว่าเป็นโอกาสของไทย การที่ ม.เกริกเปิดให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาร่วมทุนจะเป็นการดึงนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยไทยมากขึ้น

 

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 


          “คิดง่ายๆ ถ้านักศึกษาจีน ที่เหลืออีก 3 ล้านมาเรียนที่ประเทศไทยแค่ 1 แสนคน ก็ถือว่ามากโขแล้วหลายคนแสดงความเป็นห่วงว่าจีนจะฮุบไทยมั้ย อยากให้มองในมุมกลับว่า เราจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์กับนักศึกษาไทย ประเทศไทยอย่างไร สถาบันการศึกษาควรจะปรับตัวให้ทันการปรับเปลี่ยนแปลงของจีนที่ไม่ได้มาแค่ประเทศไทย ที่ไหนๆ ทั่วโลกตอนนี้ก็มีแต่คนจีนเต็มไปหมด เราควรจะคิดกันว่าเราจะใช้โอกาสจากนักศึกษาจีนที่มาเรียนในสถาบันการศึกษาของไทยได้อย่างไร น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่เป็นห่วงแต่ไม่ได้มีวิธีการรับมือ” อธิการบดีม.เกริกตั้งข้อสังเกต


          ขณะนี้ มีนักศึกษาจากจีนมาเรียนหลักสูตรระยะสั้นด้านภาษาและวัฒนธรรมประมาณ 200 คน ซึ่ง ม.เกริกได้ปรับหลักสูตร คณะนานาชาติ สอนเป็นภาษาจีนและอังกฤษ ระดับปริญญาตรี-เอก จำนวน 11 หลักสูตรเพื่อรองรับนักศึกษาจีนที่จะมาเรียนพร้อมจัดหอพักไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าในอนาคตจะนักศึกษาจีนมาเรียนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน 

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 


          ขณะที่ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาจีนมาเรียน 3,000 คน ถือว่ามากที่สุดในขณะนี้ กล่าวว่าที่นักศึกษาจีนมาเรียนที่ มธบ.มากอาจจะเป็นเพราะเปิดมา 10 กว่าปีแล้ว ทำให้เป็นที่รู้จักและทำงานร่วมกับบริษัทแนะแนวจัดหานักศึกษามาเรียนที่ประเทศไทยที่สำคัญมีหอพักของมหาวิทยาลัย 7 แห่งที่รองรับเฉพาะนักศึกษา ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจที่ให้ลูกมาเรียน ทำให้ยอดนักศึกษาจีนเพิ่มๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เปิดรับนักศึกษาต่างประเทศมานาน


          สำหรับวิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน (China-ASEAN International College (CAIC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทย นักศึกษาจีน รวมถึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นภาษาจีน อาจารย์ผู้สอนเป็นอาจารย์ชาวจีน พร้อมผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ปัจจุบันเปิดสอน 9 หลักสูตร

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 


          เปิดตามองจีนให้เข้าใจ
          ส่วนกระแสที่ว่ามีความเป็นห่วงที่นักศึกษาจีนมาเรียนที่ประเทศไทย จบแล้วยังทำงานที่เมืองไทย จะแย่งงานหรือไม่ คงไม่ใช่ เพราะว่า บริษัทที่รับคนจีนไปทำงานก็ต้องการทักษะภาษาคนจีน ซึ่งเป็นคนละตลาดกับนักศึกษาไทยอยู่แล้ว เราควรมองหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รู้เขารู้เรา จะได้เพิ่มโอกาสในการไปทำธุรกิจที่จีน หรือทำธุรกิจกับคนจีน


          "ถึงวันนี้เราจะต้องเปิดตา และมองให้เข้าใจมากขึ้นคนไทยควรจะต้องรู้จักคนจีนคิดอย่างไร รวมถึงเรื่องราวการทำการค้า วัฒนธรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ของจีน ซึ่งหากรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว จะเข้าใจความเป็นจีนมากขึ้น ทำให้การค้าขายราบรื่น เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" ดร.ดาริกา กล่าว

 

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 


          ฝึกภาษา-หาโอกาสเรียนรู้
          รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่าตอนนี้แนวโน้มชาวจีนมาเรียนไทยมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อปี 2560 สถานทูตจีนได้รายงานข้อมูลจำนวนชาวจีนมาเรียนไทย พบว่ามีมาเรียนประมาณ 8,000-9,000 คน และปัจจุบันคาดว่าน่าจะประมาณหลายหมื่นคนการที่ชาวจีนมาเรียนไทย อยากให้มองเป็นโอกาส ทั้งเป็นโอกาสของนักศึกษาไทยได้คบหาเพื่อนคนจีน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจในยุคเทคโนโลยี การฝึกภาษาจีนจะเป็นโอกาส นักศึกษาจีนจะขยัน มุ่งมั่น สู้งานตั้งใจเรียน จะเป็นแรงผลักให้นักศึกษาไทยกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น

 


          เรียนจบ80%ทำงานต่อ
          รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่านักศึกษาจีนที่มาเรียนในไทยจบแล้ว ประมาณ 80% จะทำงานในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เด็กจะมีธุรกิจหัวการค้า ขยัน และเขาจะทำธุรกิจของตนเอง ตั้งแต่ตอนเรียน นักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว จำเป็นต้องเน้นการนำเทคโนโลยีมาผลิตนักศึกษาคุณภาพ โดยจะต้องมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย ออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เน้นเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนต้องทำ ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ใช้นวัตกรรมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ ฝ่ายธุรกิจไทยต้องตื่นตัว ถ้ามีทุนจีนเข้ามา ต้องปรับกลยุทธ์ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ถ้าเป็นไปได้ลองหันมาคบค้ากับเขาอย่างรู้เท่าทัน เพื่อการเรียนรู้ธุรกิจไปด้วยกัน ขอย้ำว่า ทั้งทุนไทย นักธุรกิจไทย คนไทยต้องรู้เท่าทันจีนในยุคนี้

 


          เพิ่มภาษาจีนรู้ฐานข้อมูล
          รศ.ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าปัจจุบันแนวโน้มมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสถานการณ์ดังกล่าว เริ่มเป็นมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนทั้งในหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพิ่มเป็น 2 เท่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวคือ การจัดสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นนานาชาติ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเป็นสากล ทันสมัย ที่สำคัญมีการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาไทยรู้เท่าทัน โดยต้องให้นักศึกษารู้ภาษาจีน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ทำธุรกิจร่วมกัน และรู้ฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีน

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

 


          อย่างไรก็ตามกับกระแสที่เกิดขึ้นสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่เปิดรับนักศึกษาจีนต่อในไทยก็มีหลากหลายมุมมอง ทั้งขานรับนโยบายการเปิดโอกาสให้ต่างประเทศมาเรียนต่อเพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคคลากร ภาษาและวัฒนธรรมการเรียนรู้ อย่างเต็มศักยภาพหรือบางแห่งก็วางกรอบจำนวนรับไว้อย่างชัดเจน อย่างเช่นที่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ที่รับเพียงปีละ 35 คนเพื่อควบคุมคุณภาพการเรียนการสอน หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่รับเพียง 20-25 คนเท่านั้น หรือที่คณะศิลปศาสตร์ มทร.พระนคร ที่รับได้รุ่นละ 50 คน


          “ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร” รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ มสด. กล่าวว่า การรับนักศึกษาจีนมาเรียนที่โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ สาขาวิชาธุรกิจการบิน โดยเรียนเป็นภาษาอังกฤษ รับรุ่นละ 32 คน ที่รับน้อยเพราะว่าต้องการจัดการเรียนการสอนให้ได้คุณภาพให้มากที่สุด 


          หรือที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่มีแนวคิดว่าความร่วมมือกับจีน อย่างมีเป้าหมาย ต้องการเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต และลู่ทางในการทำธุรกิจหรือโอกาสในการประกอบอาชีพ "ผศ.ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์" รักษาการคณบดีสำนักวิชาจีนวิทยา มฟล. กล่าวว่า การรับนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งจีนนั้นไม่เฉพาะเพื่อจัดการศึกษาให้เท่านั้น แต่ต้องการให้เด็กไทยได้เข้าใจประเทศเหล่านี้ เป็นโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นธรรมชาติในมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาต่างชาติมีอยู่กว่า 700 คน เป็นนักศึกษาแบบเรียนเต็มเวลา ให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

 

รู้เท่าทันคบค้า-ฝึกภาษาทำธุรกิจพลิกกระแสจีนบุกไทยเป็นโอกาส

“ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร”

 

 

          "จริงๆ แล้ว มันถึงจุดที่เลิกกลัวได้แล้ว เราควรเปลี่ยนความกลัวของเราเป็นความพยายามทำความเข้าใจ ตั้งตัวเองดีๆ ว่าจุดยืน จุดแข็งของเราคืออะไร และจะร่วมมือกับเขาอย่างไรในอนาคต เราเรียนจีนโดยที่มีจุดยืนคือประโยชน์ของชาติต่างหาก" รักษาคณบดีสำนักวิชาจีนวิทยา มฟล.กล่าว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ