Lifestyle

ไม่ผิดก.ม.แต่ควรมีจริยธรรมร.ร.เอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ผิดก.ม.แต่ควรมีจริยธรรมร.ร.เอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ : รายงาน  โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร - [email protected] 


 

          ถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษี และไประดมทุนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นและไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
    

          “หมอธี” ถามหาจริยธรรมบริษัทเจ้าของโรงเรียนเอกชน เข้าตลาดหลักทรัพย์ ชี้กำไรมากขึ้นแต่ไม่ต้องเสียภาษี เข้าข่ายธุรกิจการศึกษา ย้ำต่อให้ถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม ฝากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยหาแนวทางแก้ไข เตรียมถกกรรมการการคลัง หากบริษัทจัดตั้งโรงเรียนเอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องเก็บภาษีหรือไม่ ด้านสช.เผยไม่มีอำนาจเบรกบริษัทจัดตั้งโรงเรียนเอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระบุบริษัทมีการประกาศขายและมีผู้ติดต่อซื้อแล้ว หารือร่วมกัน 3 ฝ่ายหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันสัปดาห์หน้า 

 

 

          เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กำลังจดทะเบียนและเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ว่าตามกฎหมายในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 นั้น ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายไม่ได้ต้องดูเรื่องจริยธรรมว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายฝ่ายกฎหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะมองว่าถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษีและไประดมทุนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นและไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งในธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา การจะเข้าตลาดหลักทรัพย์จะทำไปเพื่ออะไรหากไม่ต้องการกำไร
   

 

          “ขณะนี้มีการหารือกับสมาคมโรงเรียนนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขอให้สมาคมดำเนินการพูดคุยและหาแนวทางในเรื่องดังกล่าว เพราะถ้ามองในส่วนรัฐบาล ถ้าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่าต้องการผลกำไร และหากต้องการผลกำไรมากๆ ถ้าทำแบบนี้กระทรวงการคลังต้องเก็บภาษีหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งต้องทบทวนว่ากฎหมายดังกล่าวตีความถูกต้องหรือไม่ เพราะต่อให้กฎหมายอาจจะถูก แต่อาจจะไม่ถูกจริยธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนั้นจะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ใครมีหน้าที่อย่างไร อยากให้มีความชัดเจนก่อนที่จะให้บริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ และถ้าดำเนินการดังกล่าวกลายเป็นธุรกิจการศึกษาต้องเก็บภาษีซึ่งจะไปปรึกษากระทรวงการคลังในเรื่องนี้ต่อไป” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

 


               อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่สามารถเบรกบริษัทดังกล่าวให้ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทันที แต่จะพยายามเบรกให้ได้ตามอำนาจที่สามารถทำได้ เนื่องจากถ้าบริษัทนี้ทำสำเร็จบริษัทอื่นอาจจะทำตามหรือไม่ ต้องมาศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ต้องดูว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งในอดีตมีบริษัทเอกชนที่จะทำแบบนี้หรือไม่ และถ้าทำไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไร เพราะเรื่องนี้ถ้าเป็นบริษัททั่วไปอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องเสียภาษี แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนจะไม่เสียภาษีตามนโยบายของรัฐที่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะถือเป็นการจัดการศึกษา ดังนั้นหากบริษัทและโรงเรียนเอกชนได้กำไรมากขึ้น เป็นแบบนี้อาจจะเข้าข่ายธุรกิจการศึกษา
  

 

          นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สช.ได้ประสานไปยังก.ล.ต.แล้วทราบว่าก่อนหน้านี้บริษัทมีการประกาศขายและมีผู้ติดต่อซื้อแล้ว แต่ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) จะประกาศขึ้นกระดานเพื่อซื้อขายหุ้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2560 มาตรา 22 กำหนดว่า บริษัทมหาชน บริษัทในห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถขอจัดตั้งโรงเรียนได้ แต่มีเงื่อนไข 2 ข้อ คือว่า จำนวนหุ้นและจำนวนผู้ถือหุ้นมากกว่ากึ่งหนึ่ง
  

 

          ดังนั้นการที่บริษัทดังกล่าวจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือว่าไม่ผิดกฎหมายของ สช. จึงไม่ใช่อำนาจของสช.ในการจะเข้าไปบอกให้บริษัทเข้าหรือไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่จะเป็นอำนาจของก.ล.ต.ในการชะลอไม่ให้บริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากก.ล.ต.ต้องการให้สช.จัดทำหนังสือตั้งข้อสังเกต หรือขอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนของบริษัทดังกล่าว สช. ยินดีให้ความร่วมมือในทุกเรื่อง
    

 

          นางอุษา  สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากการหารือกับโรงเรียนนานาชาติซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมเห็นพ้องต้องกันว่าไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนนานาชาติจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะสมาคมมีปรัชญาร่วมกันที่เน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนจะได้รับ ซึ่งธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่จะไประดมทุนอย่างหนึ่งอย่างใด 
   

 

          "การศึกษาเป็นเรื่องด้านสังคมในการพัฒนาคุณภาพของเด็กนักเรียน ซึ่งสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ยึดแนวทางนี้มาโดยตลอด การได้มาซึ่งงบประมาณในการบริหารจัดการโรงเรียนก็ได้มาจากหลายช่องทาง โดยเฉพาะค่าอัตราธรรมเนียมการเรียนก็มีอยู่แล้ว เราจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ Business มานำหน้าการศึกษาของประเทศ” นางอุษา กล่าว
   

 

          ทั้งนี้การทำธุรกิจแน่นอนย่อมหวังผลกำไรในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ เป็นนักการศึกษาที่จะทำอย่างไรให้นักเรียนมีคุณภาพมากกว่า จึงมีความห่วงใยว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนักเรียน ผู้ปกครองและผู้บริโภคจะเป็นในลักษณะที่ไม่ควรจะเป็น และเมื่อมีบรรทัดฐานโรงเรียนที่ 1 สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้วก็จะมีโรงเรียนอื่นๆ เห็นว่าเข้าไประดมทุนก็จะเข้าตามไปด้วย จะเป็นการเปลี่่ยนเป้าหมายของการจัดการศึกษาคือนักเรียน เป็นผลกำไรและผู้ถือหุ้นมากกว่า เพราะต้องทำให้ได้กำไรจากหุ้น
     

 

          “ได้พูดคุยกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านก็แสดงความห่วงใยและเห็นด้วยในเรื่องนี้ รวมทั้งเลขาธิการสช. ประสานแสดงความห่วงใยเรื่องนี้มาที่สมาคมด้วยเช่นกัน เพราะวันนี้ (29 พย.) จะมีการเปิดให้เริ่มระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แม้กฎหมายจะให้ทำได้แต่สมควรที่จะทำหรือไม่ และทราบว่าสช.จะทำหนังสือไปถึงก.ล.ต.ให้พิจารณาและทบทวนในเรื่องนี้แล้ว แต่ย้ำว่าการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจทั่วไป สมควรจะทำหรือเปล่าต้องแยกแยะให้ถูก ซึ่งสมาคมก็ขอให้ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย โดยสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมกันว่าจะหาแนวทางออกในเรื่องนี้ที่เหมาะสม”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ