Lifestyle

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม : รายงาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 


          ปัจจุบัน การใช้กัญชาในแพทย์ทางเลือกยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าสามารถใช้รักษามะเร็งได้หรือไม่ ซึ่งกัญชา 1 กิโลกรัม สกัดได้สารสกัด 100 ซีซี สามารถนำไปรักษาคนไข้ได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยทั้งประเทศ

 

 

 

          นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย  กล่าวในงานสัมมนากัญชาทางการแพทย์ ภาคประชาชน ครั้งที่ 1 เกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในการรักษามะเร็งว่า มะเร็งแต่ละชนิดมีอัตราการกระจายตัวแตกต่างกัน รวมถึงแต่ละพื้นที่อวัยวะที่เกิด และอัตราการตายก็แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้กัญชาในมะเร็งแต่ละชนิดก็แตกต่างกันตามไปด้วย แม้ว่าเราจะใช้กัญชาในการรักษา แต่ก็ต้องหมั่นตรวจสอบทุกๆ เดือนว่าเซลล์มะเร็งลดลงหรือโตขึ้น รวมไปถึงหมั่นสังเกตสุขภาพของตัวเอง ว่าทรุดหรือแข็งแรงขึ้นด้วย ทั้งนี้ การใช้กัญชาจะต้องได้ผลภายใน 90 วัน และควรใช้ให้ถูกวิธี ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากกัญชาจะส่งผลให้ความดันตก ใจเต้นเร็ว สุดท้ายอาจต้องเข้าไอซียูแทน

 

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

 

 


          “ศาสตร์การใช้กัญชา มีความละเอียดอ่อน ต้องรู้ว่าใช้กัญชาส่วนไหนดี และต้องเลือกกัญชาที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสม กัญชาสำหรับทำยาที่ดี ได้แก่ พันธุ์หางกระรอก ที่รับแดดยามเช้า ปลูกบนพื้นที่เทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร และกัญชาสำหรับรักษาเบาหวาน ต้องปลูกบนพื้นที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ดังนั้น กัญชาแต่ละแห่ง การเก็บเกี่ยวแต่ละเวลา ก็มีความเป็นยาไม่เท่ากัน”

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม



          ใช้กัญชาให้ถูกวิธี
          นพ.สมนึก กล่าวเพิ่มเติมว่า การสกัดกัญชาออกมาเป็นยา อาศัยกระบวนการที่ซับซ้อน ตั้งแต่การนำมาตากแห้ง ใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวกัด นำไปสู่ระบบความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม สกัดให้ได้ตัวยาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมมีทีมที่จัดอบรมและให้ความรู้ในเรื่องนี้ คนทั่วไปสามารถทำได้ แต่ต้องทำเป็นขั้นตอนต้องสะอาด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า มีสารปนเปื้อน อาจส่งผลให้ไต ตับพังได้ หากใช้กัญชาไม่มีคุณภาพ ก็ไม่ได้ผล

 

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

 


          สำหรับการใช้กัญชาในการรักษามะเร็งในปัจจุบัน นิยมนำมาใช้ในการออกฤทธิ์กับ 3 ระบบ ได้แก่ CB1 การออกฤทธิ์ในระบบสมอง สามารถดูดซึมทางเส้นเลือด ผ่านเยื่อบุช่องปาก ในประเทศอังกฤษ ใช้ในรูปแบบสเปรย์ แต่ที่ไทยใช้วิธีหยดใต้ลิ้นในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเริ่มใช้ทีละน้อย ถัดมาคือ CB2 ออกฤทธิ์ต่อต่อมน้ำเหลือง ผ่านทางม้าม โดยนำกัญชาสกัดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้สวนทวารในตำแหน่งที่เหมาะสม แล้วนอนตะแคงซ้าย 20-30 นาที และสุดท้ายคือ การรักษาเฉพาะจุด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก โดยนำมาผสมกับขี้ผึ้งและนำมาทาเฉพาะจุด


          หลังจากใช้กัญชา ควรนอนภายใน 2 ชั่วโมง และควรนอนไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากอาจเกิดอาการบ้านหมุน อาเจียน หายใจไม่ทัน และเห็นภาพหลอนหากใช้เกินขนาด ทั้งนี้ ในช่วงที่ตื่นนอนอาจต้องการรับประทานของหวาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในแง่ของการรักษา หากกินได้ นอนหลับ ถือเป็นเรื่องที่ดี

 

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

 


          “กัญชา” รักษาอาการปวด
          นพ.ชนินทร์ ลีวานันท์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์ฝังเข็ม ผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย สมาคมอาชีวเวชศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เผยว่า นอกจากการนำกัญชามาใช้ในการรักษามะเร็งแล้ว ยังนิยมใช้บรรเทาอาการปวดต่างๆ อาทิ ไมเกรนเรื้อรัง, ปวดรูมาตอยด์, ปวดกล้ามเนื้อทั้งตัว, ปวดหลัง, ปวดเข่า และปวดระบบประสาท ด้วยตัวยาที่เรียกว่า “แคนนาบิส” หรือน้ำมันนาโน รักษาด้วยวิธีสูดดมและหยดใต้ลิ้นในปริมาณต่ำ สามารถลดอาการปวดได้ประมาณ 2-3 ระดับ ทั้งนี้ จากงานวิจัยของผู้ป่วยที่ใช้แคนนาบิส มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยด้วยประสิทธิภาพที่มากกว่า และผู้ป่วยอาจทนต่อการรักษาได้มากกว่า

 

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

 


          แม้จะมีหลักฐานการทางแพทย์ที่ระบุว่า ผลความประทับใจองค์รวมของกัญชา อยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ผลดังกล่าวมาจากอาการแทรกซ้อนของการใช้ คือ อาการมึนเมา แต่ในด้านประสิทธิภาพถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยทางการแพทย์พบว่า อาจเพิ่มประสิทธิผลมากกว่ายาหลอกกว่า 30% นอกจากนี้ ผู้ป่วย 178 ราย จาก 405 ราย ตอบสนองการใช้แคนนาบิส และค่อนข้างชัดเจนว่า ผลลัพธ์เพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มปริมาณกัญชาในผู้ป่วยปวดเส้นประสาทเรื้อรัง


          “อาการเมา เป็นหนึ่งในอาการที่คนไม่ชอบ เช่น อาการบ้านหมุน ประสาทหลอน ดังนั้น คนที่ลองใช้กัญชาแรกๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันนาโน หรือ แคนนาบิส ก่อนนอน และหยดใต้ลิ้น ห้ามขับรถ ต้องตั้งสติ สำหรับวิธีการสูดดม มักใช้ในผู้ป่วยมะเร็งปอด เพื่อให้กัญชาเข้าสู่กระแสเลือด ปัจจุบัน 47 รัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำกัญชาไปใช้ และต่อไปหากมีการใช้กัญชาอย่างทั่วถึงทั้ง 52 รัฐ คาดว่าแพทย์ไทยจะหันมาสนับสนุนมากขึ้น”

 

 

"กัญชา" ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งใช้ได้ แต่ให้ถูกวิธี และเหมาะสม

 


          รักษาหาย ควรใช้ต่อหรือไม่
          “หลายคนสงสัยว่าหากรักษาอาการปวด หรือมะเร็งหายแล้ว สามารถใช้กัญชาต่อได้หรือไม่ ตอบเลยว่าได้ เพราะจากงานวิจัยผลเสียระยะยาวไม่มี อัตราการติดกัญชา น้อยกว่าติดบุหรี่และเหล้ากว่า 5 หมื่นเท่า เหมือนการติดกาแฟ ติดเพราะสุขใจในการใช้ ติดใจไม่ใช่ติดลงแดงเหมือนบุหรี่และเหล้า” นพ.ชนินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ