Lifestyle

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ : รายงาน  โดย...  หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] 

 

 

          แม้ในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ กำลังมาเข้ามาแทนที่แรงงานในหลายอุตสาหกรรม แต่ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังมี 10 อาชีพที่เอไอแทนที่ไม่ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เฉพาะด้าน ยังเป็นข้อจำกัดที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่สามารถทำแทนคนได้ เช่นเดียวกับ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ที่ไม่เชื่อว่า เอไอ จะมาจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ เพราะหากจ่ายยาผิดพลาด คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ป่วย ที่สำคัญการจ่ายยาประเภทเดียวกันให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีข้อจำกัดเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน

 

 

          “เภสัชกรโรงพยาบาล จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ “ยา” ตั้งแต่กระบวนการจัดหา จัดเก็บ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพพร้อมใช้และเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งรวมถึงการผลิตยาบางรายการที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด เตรียมยาและผสมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายตามแพทย์สั่ง เช่น ยาหยอดตา ยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ยาเคมีบำบัด สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์และความจำเป็นในการใช้ของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาล” ภก.อำนวย กล่าว

 

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ

 


          ดังนั้น แม้ว่าในอนาคตจะมีการนำเอไอเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลหรือในกระบวนการจ่ายยา จะอยู่ในรูปแบบของการทำงานร่วมกันกับเภสัชกรรม โดยเอไอจะทำหน้าที่แทนในส่วนที่ไม่ต้องใช้ทักษะความชำนาญทางวิชาชีพ เช่นการตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายยา การประเมินผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย 

 

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ


          "ปกติในห้องจ่ายยา จะมีเภสัชกร 1 คนและผู้ช่วย 3-4 คน รวมเป็น 1 ทีม ถ้ามีเอไอมาช่วยจะทำให้การทำงานเร็วขึ้น ในส่วนของฝ่ายสนับสนุนการทำงานของเภสัชกร สัดส่วนต่อผู้ช่วยก็อาจจะลดลง แต่เอไอจะยังทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ประเมินผลต่างๆ แทนเภสัชกรไม่ได้ คิดว่าไม่มีผลกระทบต่อเภสัชกรในอนาคต แต่จะมีผลต่อต้นทุนของสถานพยาบาล




          นอกจากนี้ เภสัชกรยังทำหน้าที่กระจายยาไปยังหอผู้ป่วยเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยใน ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ขึ้นกับบริบทของโรงพยาบาล เช่น การจัดยาแบบรายวัน หรือการจัดยาแบบหนึ่งหน่วยการใช้ (unit dose) เป็นต้น 


          นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันเภสัชกรโรงพยาบาล ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากการใช้ยา  เช่น การประสานรายการยา สำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจรักษาจากแพทย์หลายท่าน ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลเดียวกันหรือต่างโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน ไม่ได้รับยาที่ควรได้รับ หรือได้รับยาที่ตีกันกับยาเดิม 

 

 

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ

 


          รวมทั้งประเมินและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา วางระบบในการป้องกันอุบัติการณ์แพ้ยาซ้ำ มีการประเมินการใช้ยา การตรวจติดตามและวัดระดับยาในเลือด การบริบาลผู้ป่วยนอกในคลินิกโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงการบริบาลทางเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย รวมทั้งทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาในทุกมิติให้กับทีมสหวิชาชีพ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดูแลรักษาด้วยยาแก่ผู้ป่วย


          ปัจจุบันสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) มีสมาชิกกว่า 10,000 รายอยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) หรือแม้แต่โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ จะมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการบรรจุ หรือกำหนดกรอบอัตรากำลังเภสัชกรให้ปฏิบัติงานประจำที่ รพ.สต.

 

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ


       

          อย่างไรก็ตามในอนาคต จะมีการผลิตผลิตบุคลากรด้านเภสัชที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ได้แก่ เภสัชกรห้องฉุกเฉิน เภสัชกรโรคติดเชื้อ เภสัชกรเวชสำอาง เภสัชสมุนไพร ซึ่งสาขาเหล่านี้เป็นสาขาที่มีความจำเป็นสอดคล้องกับแนวโน้มและความต้องการของตลาด รวมทั้งเภสัชกรสมุนไพร ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีการขับเคลื่อนกันมาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องของสมุนไพร และเภสัชกรจะมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นวิชาชีพที่มีความรู้ทั้งในเรื่องระบบยา ผลิตภัณฑ์ ที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาดั้งเดิมกับภูมิปัญญาใหม่เข้าด้วยกัน 

 


          “ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างการรับรู้ใหม่ให้แก่สังคมและประชาชนให้เป็นระบบสากลเหมือนในต่างประเทศ ที่ประชาชนสามารถนำไปสั่งยาจากแพทย์ในสถานพยาบาลไปหาซื้อกับเภสัชกรในร้านขายยาได้ แต่ที่ผ่านมาร้านขายยาจะถูกจัดกลุ่มเป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้เภสัชกรถูกมองในภาพลักษณ์อื่นที่ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่เภสัชกรไม่ได้มีเฉพาะการ “จ่ายยา” ให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่คือผู้ที่สร้างให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาอีกทางหนึ่ง” ภก.อำนวย กล่าวทิ้งท้าย 

 

"เภสัชกร" อาชีพที่เอไอทำไม่ได้ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ