Lifestyle

เลิกเถอะ!! TCAS ฟื้น"Entrance"ระบบเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟื้น"เอนทรา๊นซ์"ระบบเดียวน่าจะดีกว่าTCASที่มีระบบซ้อนกันเต็มไปหมด มหาวิทยาลัยแย่งเด็ก เมื่อเด็กหดเลยเกิดปัญหา ชี้ สอบครั้งเดียว แต่เปิด clearing house 2-3 รอบ

 

        ระบบคัดเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยมีมหากาพย์ความเป็นมาอันยาวนานมาก สมัยดึกดำบรรพ์เคยแยกกันสอบหมดทำให้นักเรียนต้องวิ่งสอบทุกมหาวิทยาลัย แล้วก็เกิดปัญหา 

         เพราะเด็กที่วิ่งสอบไปทุกมหาวิทยาลัยได้คือลูกคนที่พ่อแม่มีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจดีหน่อย ตอนนั้นยังมีปัญหาเรื่องเด็กฝากด้วย มีการฝากกันเพราะแต่ละมหาวิทยาลัยคัดเลือกกันเอง ทำให้เกิดความอยุติธรรมหนักข้อขึ้นไป

 

        เลยเกิดการรวบอำนาจและเกิดระบบ Entrance ขึ้น ซึ่งสอบปีละครั้งเดียว ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศ คะแนนใช้ได้ครั้งเดียว ได้ก็ได้ไปเลย ไม่ได้ก็ไม่ได้ไปเลย จบในม้วนเดียว เป็นระบบที่อยู่ยงคงกระพันมายาวนาน เพราะได้ชื่อว่ายุติธรรม (และค่อนข้างโหดสำหรับเด็ก) แต่เหมาะกับยุคสมัยเพราะประเทศไทยนับแต่ปี 2505 ถึงปี 2535 มีเด็กเกิดใหม่ติดต่อกันสามสิบกว่าปีเกินล้านคนมาโดยตลอด เป็นสึนามิประชากร

 

 

เลิกเถอะ!! TCAS ฟื้น"Entrance"ระบบเดียว

 

        มหาวิทยาลัยมีไม่พอกับจำนวนเด็กนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อ มีการขยายเปิดมหาวิทยาลัยใหม่มากมาย ระบบการแข่งขันครั้งเดียว แพ้คัดออกเป็นระบบที่ยุติธรรม เพราะประหยัดเงินของพ่อแม่ แทบจะไม่มีการวิ่งเต้นเส้นสาย และเหมาะกับการแข่งขันสูงที่แพ้คัดออกได้ ประหยัดเวลา จัดการได้ง่าย ระบบ Entrance อยู่มาเกือบ 30 ปี

 

       วันหนึ่งก็มีลูกนักการเมืองบางคนจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็มีข่าวเรื่องข้อสอบถูกแกะตราครั่งออก ปีถัดมาก็มีการรื้อระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย รื้อกันทุกสามปีสี่ปี รื้อแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็ไปเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหามากมาย เพราะระบบเปลี่ยนตลอดเวลา เด็กสอบได้หลายครั้ง แต่คะแนนไม่ได้ทำการเปรียบเทียบคะแนนสอบ (Test score equating) ให้มันเปรียบเทียบกันได้ เกิดการโวยวายว่าข้อสอบยากง่ายไม่เท่ากัน เกิดข้อสอบประหลาดที่มีเด็กและติวเตอร์ชื่อดังโวยวายว่าเฉลยผิดหรือตอบได้หลายข้อ

 

       มหาวิทยาลัยเริ่มแย่งเด็กกันเพราะเกิดปัญหาภาวะประชากรถดถอย เกิดสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย (Aged society) ที่นั่งในมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีมีล้นเหลือ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มีภาระงานสอน มหาวิทยาลัยเอกชนจะปิดตัว ขายที่ดินทำคอนโด ขายที่ดินทำรีสอร์ท จะปิดกิจการ เกิดการลดแหลกแจกแถม พาเพื่อนมาสมัครได้ส่วนลด สมัครเรียนแถม ipad ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือมหาวิทยาลัยไทยไม่มีนักศึกษาเรียนพอ ไม่มีเด็กจะสมัคร ต้องไปอาศัยนักศึกษาต่างชาติวุ่นวายไปหมด

 

       ผมแปลกใจมากว่าระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยชุลมุนขนาดนี้ มีการโวยเรื่องข้อสอบขนาดนี้ เรื่องกลับจบได้ง่าย ๆ ลองถามครูในโรงเรียนจึงได้คำตอบว่า สมัยนี้ที่เรียนเยอะ ภาคค่ำ ภาคพิเศษ ภาคสมทบ ภาคอินเตอร์ เด็กมีทางเลือกเยอะเหลือเกิน เรื่องการคัดเลือกจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก หากเด็กต้องการจะเรียนจริง ๆ ไม่ได้เลือกสาขาวิชา Top hit เกินไป ต้องได้เรียน ถ้าพ่อแม่มีเงินส่งให้เรียน ไม่มีเงินจะเรียนก็กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็ได้ จะเรียนโง่แค่ไหน เรียนสาขาอะไร คณะอะไร มหาวิทยาลัยไหน จนแค่ไหน ก็กู้ได้หมด กยศ. ให้หมด เสมอภาคกันไม่ได้พิจารณาว่าจบไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ จะใช้เงินกู้คืนได้หรือไม่ ถือว่าทำให้เกิดความเสมอภาคและให้โอกาสทางการศึกษา

 

        แต่แล้วระบบ TCAS ล่าสุดก็เกิดความวุ่นวาย เพราะทุกแห่งพยายามจะรับเด็กเองโดยตรง กสพท ระบบโควต้า ระบบต่างๆ มากมาย สอบเรียนอินเตอร์กันเอง ทั้งหมดทั้งปวงเป็นปัญหาที่ทุกมหาวิทยาลัยอยากได้นักศึกษา ระบบ TCAS พยายามจะสร้าง clearing house ให้มี portfolio ให้มีระบบที่คัดกันได้ห้าหกรอบ กรองกันเป็นชั้น จนเกิดความโกลาหลพอสมควร เพราะเกิดภาวะที่เด็กจำนวนหนึ่งที่เก่งจะเข้าได้ทุกคณะทุกสถาบันที่อยากได้ และเด็กที่กลาง ๆ หรือไม่ได้เก่งมากนักรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางได้เลย ระบบนี้เป็นตะแกรงร่อนเป็นชั้น ๆ แต่ให้โอกาสเด็กเก่งได้เลือกทุกอย่างที่อยากได้นั่นเอง

 

         ผมคิดว่าปัญหามีอยู่สองอย่าง  อย่างแรกเลยคือเด็กไทยไม่มีระบบแนะแนวที่ดีพอ ยังไม่ได้รู้จักตัวเอง และมหาวิทยาลัยไทยก็กั้นคอกว่าเด็กเข้ามาต้องเรียนสาขานั้นสาขาวิชานี้เท่านั้น ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา ถ้าเข้าฮาร์วาร์ดได้หรือมหาวิทยาลัยอะไรได้ เด็กก็เลือกเรียนได้เพื่อค้นหาตัวเอง ดังนั้นเราก็อาจจะเจอปัญหาที่เด็กไม่รู้จักตัวเอง หาตัวเองไม่เจอ แต่ย้ายข้ามคณะข้ามสาขาไม่ได้ ต้องเป็น fossil เข้าไปใหม่เท่านั้น แทนที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียน และสาขาไหนที่อยากแย่งกันเรียนก็ต้องผ่านวิชาอะไรบ้างได้เกรดอะไรบ้างในมหาวิทยาลัย ก็ไปแข่งขันกันอีกทีในมหาวิทยาลัยว่าจะได้ major อะไร

 

       ถ้าทำแบบนี้จะดีกับนักเรียน เพราะเด็กจะมีโอกาสเลือก ค้นหาตัวเอง ข้ามคอกข้ามคณะได้ ยิ่งโลกสมัยใหม่คนรู้อะไรอย่างเดียวไม่ได้ และคนเราต้องเปลี่ยนงานบ่อยเกิด disruptive technology ตลอดเวลา ผมคิดว่าการเปิดโอกาสให้เด็กผ่านการคัดเลือกเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยก่อนแล้วค่อยไปแยกคณะ สาขาวิชา เมเจอร์ ตามความรู้ ความสามารถ ความชอบ แล้วปล่อยให้มหาวิทยาลัยต้องมีภาระในการจัดการการเรียนการสอน ที่จะไม่แน่นอน เด็กย้ายข้ามไปมาได้ แบบนี้จะลดปัญหาได้ ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้เสียก่อน มหาวิทยาลัยจะจัดการการเรียนการสอนลำบาก แต่เด็กจะได้ประโยชน์และมีความยืดหยุ่นมากกว่า

 

       อย่างที่สองระบบการสอบคัดเลือกเข้าควรมีความนิ่งพอสมควร และไม่ใช่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกปีจนเด็กเกิดความโกลาหล จะเป็นการไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก ผมคิดว่าถ้าจะทำให้ง่ายสุด ก็มีการสอบคัดเลือกปีละครั้งแบบ Entrance ดั้งเดิม ครั้งเดียวพอ จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการเปรียบเทียบปรับคะแนน (Test score equating)

 

        ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความไม่ยุติธรรมอีก ระบบ Entrance ต้องมีทุกวิชาที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องการคะแนน ยกเลิกการสอบอื่น ๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยไปจัดสอบกันเองหรือร่วมกันจัดสอบ ให้มีระบบสอบส่วนกลางอย่างเดียว ยังไม่ต้องเลือกมหาวิทยาลัยหรือเลือกคณะก็ได้

 

         

         น่าจะมีการพัฒนา algorithm ในลักษณะการเทรดหุ้น เอาเข้าจริงอาจจะไม่จำเป็นมากนักด้วยซ้ำ เพราะมหาวิทยาลัยง้อเด็กมากเหลือเกิน อยากได้นักศึกษา เพราะไม่มีเด็กจะเรียน มีปัญหาเด็กลดลงมากมายแทบทุกที่จนจะต้องปิดมหาวิทยาลัยขายมหาวิทยาลัยกันอยู่แล้ว พอมีเสนอเข้ามาก็อาจจะให้เลือกรอบแรก สักสองสามอันดับ ถ้า match ระหว่างคะแนนกับที่ผ่าน requirement ของมหาวิทยาลัยได้แล้วก็แจ้งให้ตัดสินใจเลือก (ถ้ามหาวิทยาลัยไม่กั้นคอกว่าจะเลือกวิชาเอกอะไร คณะอะไร จะยิ่งทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น) คนที่ไม่มีใครตอบรับ (ซึ่งคงจะมีไม่มากในรอบแรก เพราะจำนวนเด็กที่สมัครมีน้อยกว่าที่นั่งที่มหาวิทยาลัยมีให้) อีกสามวันก็ให้ยืนอีกรอบ แล้วเมื่อ match กันได้ ก็ให้เลือก

 

        ทำเช่นนี้แค่สองรอบก็น่าจะจบ ไม่ให้มีระบบซ้อนระบบกันมากเกินไปเช่นในปัจจุบัน ให้มีระบบเดียวเท่านั้นในการสอบ แต่ทำ clearing house ให้ดี ให้มีการพัฒนาให้มี algorithm ที่ดี แค่สองรอบก็จบแล้ว ไม่ต้องยุ่งยาก

   

       การมีระบบสอบเดียวแบบ Entrance และไม่ให้จัดสอบเองมีข้อดีอย่างไร

        อย่างแรกคือ ไม่มีความเหลื่อมล้ำมาก เด็กไม่ต้องเดินสายสอบ เพราะเด็กที่เดินสายสอบได้คือลูกคนมีเงินมากกว่าหน่อย พ่อแม่ไม่ต้องไปนั่งเฝ้า รถไม่ติดมาก

 

 

เลิกเถอะ!! TCAS ฟื้น"Entrance"ระบบเดียว

 

        อย่างสองคือ คะแนนเทียบกันได้ ไม่ต้องไปปรับเทียบอะไร มาตรฐานเดียวกัน เพราะมาจากครั้งเดียว หลายคนอาจจะเถียงว่าไม่มีโอกาสที่สอง ซึ่งจริง ๆ นั้นมี เป็นโอกาสในการยื่นคะแนนแล้วมี clearing house ซึ่งอาจจะมีได้สองรอบ

 

        อย่างสามคือ ป้องกันปัญหาความไม่ยุติธรรมอันเกิดจากการมีระบบสอบย่อย ๆ หลายระบบที่อาจจะเกิดการวิ่งเต้น เส้นสายได้ (ไม่ได้ประกันว่ามีระบบสอบระบบเดียวจะไม่เกิด อาจจะมีนักเลือกตั้งใหญ่เรียกข้อสอบมาแกะตราครั่งที่ตีไว้แล้วจากตู้ต้นฉบับข้อสอบมาดูให้ลูกสาวตัวเองก็ได้ ใครจะรู้)

 

         ระบบ clearing house นั้นมีระบบเดียว ใช้ร่วมกันทั้งหมด คงต้องหาอาจารย์ทาง computer หรือจะอาศัยคนทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาช่วยกันคิดระบบนี้ก็น่าจะได้ด้วยซ้ำไป ให้เกิดการ match กันระหว่างคะแนนของนักเรียนที่สอบแล้วได้มาจากระบบ entrance และให้สักสองรอบพอ

 

        การมีระบบสอบซ้อน ๆ กันหลายระบบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่ที่ทำได้ยาก เพราะทุกมหาวิทยาลัยก็อยากได้เด็กก่อนใคร เพราะทุกที่ต้องการเด็ก มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอดแล้ว เพราะประชากรสูงวัยเต็มตัว แต่การแก้ปัญหาด้วย TCAS ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังมีระบบซ้อนในระบบเต็มไปหมด

 

        ปัญหานี้จะหมดไปอย่างง่ายดาย ถ้าไม่มีการแย่งเด็ก ที่ทำให้เกิดระบบสอบ ระบบคัดเลือกซ้อนกันไปมาพยายามชิงไหวชิงพริบกันระหว่างมหาวิทยาลัย

 

      ขอให้มีระบบสอบระบบเดียว และมีระบบเคลียริ่งระบบเดียว พอแล้วครับ ทำให้ง่ายที่สุดครับ

 

         ถ้าไม่ไว้ใจ สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เอาระบบอเมริกันมาใช้ก็ได้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลงขันกัน ตั้ง Collegiate organization มีมหาวิทยาลัยร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทจัดทดสอบ แบบ College Board ของสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอยากได้ข้อสอบอะไรอย่างไรก็ไปผ่านตรงนี้ กำหนดนโยบายตรงนี้เอาได้เลย

 

เลิกเถอะ!! TCAS ฟื้น"Entrance"ระบบเดียว

 

         อย่าง SAT ของสหรัฐอเมริกานั้น พอ University of California รวมตัวกันบอกว่าต้องมี Essay writing เขียนเรียงความมาสอบด้วยไม่ใช่มีแต่กากบาท เพราะเด็กเข้ามหาวิทยาลัยต้องเขียนได้ College Board ก็ต้องทำตาม เพราะเป็นบอร์ด และเป็นลูกค้า ผลคือ SAT มีความตรงทำนายผลการเรียนในมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้น เพราะในมหาวิทยาลัยต้องเขียน College Board ต้องไปพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถให้คะแนนการเขียนเรียงความได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์จนสำเร็จ

 

       Clearing House นั้นก็อาจจะให้ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.)หรือจะให้ Collegiate organization ที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยไทย (ทปอ.) ร่วมกันก่อตั้งดำเนินการก็ได้ครับ

 

        ถ้าคำนึกถึงเด็กเป็นหลัก ทำระบบสอบระบบเดียว ระบบเคลียริ่งระบบเดียวจะดีที่สุดสำหรับเด็ก วางผลประโยชน์และการแย่งเด็กของทุกมหาวิทยาลัยลงไป ทุกอย่างจะจบได้อย่างเรียบร้อยครับ

 

      เรื่องโดย 0 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 0 ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA

---***----

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ