Lifestyle

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกา ต่างเผชิญกับพายุหิมะที่ผิดปกติ ขณะที่ไทยฝนตกหนัก อากาศเย็นจัดในฤดูร้อน สัญญาณจากธรรมชาติเตือนให้รับมือ

 

          ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองประธานกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในงาน เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 2 ประจำ 2561 โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. โดยระบุว่า สภาพทรัพยากรที่เสื่อมโทรมคือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนจนทำให้เกิดความแปรปรวนเกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือในเรื่องเหล่านี้อาจจะต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วงมากขึ้น

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

ดร.ธีรภัทร  ประยูรสิทธิ

         การทำลายทรัพยากรยังคงเกิดขึ้น โดยการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะปิดสัมปทานป่าไม้มานานแล้วก็ตาม โดยผู้บุกรุกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มคนรวยที่ต้องการที่ดินมาเพื่อท่องเที่ยวทำรีสอร์ท และกลุ่มคนจนชายป่าที่ไม่มีทางเลือกต้องการที่ดินทำกิน เช่นเดียวกับการล่าสัตว์ป่ายังคงเกิดขึ้น ในกลุ่มคนรวยที่ต้องการล่าเพื่อความสนุก ไม่ใช่การเข้าไปหาสัตว์ป่าเพื่อกินเพื่ออยู่เหมือนชาวบ้านชายป่า

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรปี 2560 จึงบัญญัติให้มีการปฏิรูปทรัพยากรเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงวางแผนปฏิรูปทรัพยากรทั้งในเรื่องของการจัดการป่าไม้ อากาศ น้ำ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและสร้างความยั่งยืน

           “อนาคตหลังจากที่แผนปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติแล้วเสร็จ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือพื้นที่ป่าไม้ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 จะต้องยังรักษาเอาไว้ไม่ให้ลดลงเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้จะต้องฟื้นฟูให้เพิ่มมากขึ้น”

          แผนปฏิรูปการจัดการทรัพยากรจะไม่ประสบความสำเร็จหากชุมชนท้องถิ่นไม่ให้ความร่วมมือ โดยดร.ธีรภัทร กล่าวว่า จากเดิมที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้ถือกฎหมายและจับกุมชาวบ้านทำผิด ตอนนี้เห็นว่าความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นในการปกป้องทรัพยากรคือหัวใจจะรักษาพื้นที่ป่าไม้เอาไว้

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

รศ.ดร.เสวียน  เปรมประสิทธิ์

         ท้องถิ่นต้องพร้อมรับมือปัญหาโลกร้อน และรักษาทรัพยากร คือความเห็นที่ รศ.ดร.เสวียน เปรมประสิทธิ์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เตือนหลังจากที่พบว่ามีข้อมูลที่บ่งบอกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขณะที่มนุษย์ยังไม่มีข้อมูลที่จะวิเคราะห์ปัญหาได้เท่าทัน

           “ปัญหาที่เกิดจากโลกร้อนมีขึ้นแน่นอน แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เพราะประวัติศาสตร์มนุษย์เกิดขึ้นมาเพียง 450 ปี แต่โลกเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 4,600 ปี มนุษย์เริ่มศึกษาข้อมูลเมื่อ 150 ปี ส่วนประเทศไทยเริ่มมีข้อมูลเรื่องของธรรมชาติเพียง 60 ปี เราจึงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง”

           รศ.ดร.เสวียน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของการสื่อสารกับชุมชน มีการป้องกันเมื่อเกิดปัญหาภัยพิบัติ ขณะเดียวกันจะต้องเตรียมศึกษาข้อมูลเรื่องของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเฉพาะพื้นที่ของตัวเองเอาไว้เพื่อให้สามารถวางแผนในการป้องกันได้

          ชุมชนท้องถิ่นคือหัวใจการรักษาทรัพยากร และความพร้อมในการรับโลกร้อนโดยพบว่าหลายชุมชนเริ่มตื่นตัวลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรของพื้นที่ตัวเองให้กลายเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำสะอาดสำหรับคนในชุมชนเอง

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

นายรัฐวุฒิชัย  ใจกล้า

         นายรัฐวุฒิชัย ใจกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา บอกว่า ชุมชนบ้านตุ่นเริ่มตระหนักถึงปัญหาการทำลายทรัพยากรจากเดิมที่เคยเป็นคนตัดไม้ทำลายป่าตอนนี้เริ่มหันมารักษาป่าไม้ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งเก็บน้ำให้กับชุมชนใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร

         การจัดการน้ำของชุมชนบ้านตุ่นใช้ระบบคณะกรรมการใช้น้ำจากทุกหมู่บ้านมาร่วมกันเป็นตัวแทนในการจัดสรรและใช้น้ำ หลังจากที่เคยขาดแคลนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอ่างเก็บน้ำทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะเมื่อชุมชนร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำไม่ตัดทำลายร่วมกัน

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

          “ เราใช้หลักธรรมภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยให้ชุมชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำมาร่วมกันเป็นคณะกรรมการในการจัดการ ประปาภูเขา รวมไปถึงทุกกลุ่มต้องร่วมกันในการรักษาพื้นที่ป่าไม้”

            สิ่งที่ชุมชนบ้านตุ่นบอกต่อกันเสมอ นายรัฐวุฒิชัย กล่าวว่า สิ่งที่บอกกันเสมอคือการที่เรามีน้ำใช้เพียงพอไม่ขาดแคลนเพราะป่าต้นน้ำยังอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่อยากขาดน้ำก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

นายบัญชา  ศรีชาหลวง

           เช่นเดียวกันพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม นายบัญชา ศรีชาหลวง องค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อ.นาแก บอกว่า การบริหารจัดการทรัพยากรของพื้นที่จะเน้นการมีส่วนร่วมโดยมีคณะทำงานที่บูรณาการร่วมกันระหว่าหน่วยงานราชการ ชุมชนมาพูดคุยในการรักษาพื้นที่ป่า เพราะป่าที่ชุมชนรักษาไว้เหมือนเป็นครัวที่ช่วยสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

           “ป่าไม้ของเราสามารถเข้าไปหาอาหารและของป่าได้ตลอด๑๒ เดือน เป็นเหมือนครัวของชาวบ้าน แต่ต้องมีกติการ่วมกันในการใช้ประโยชน์จากป่า”

           นายบัญชา กล่าวว่า ตำบลพิมาน บริหารจัดการพื้นที่โดยใช้ธรรมนูญสุขภาวะที่ชุมชนร่วมกันกำหนดโดยในใช้เป็นเครื่องมือบริหารงบประมาณและแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทรัพยากรทำให้ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น

 

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

นายกิตติพงษ์  ชัยมนัสกุล

          สำหรับสถานการณ์จัดการระบบนิเวศชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นายกิตติพงษ์ ชัยมนัสกุล ผู้จัดการศูนย์พัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและรณรงค์ กล่าวว่า หลังการพัฒนาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีตำบลเครือข่าย 2,035 ตำบล พบว่ามีชุมชนที่เข้าถึงน้ำและการจัดการน้ำและเข้าถึงน้ำสะอาด และมีการจัดการมลพิษในระดับครัวเรือน และมีครัวเรือนที่เข้าร่วมกันจัดการป่าอนุรักษ์ 1,595,076 ครัวเรือน และมีครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อม 1,595,076 ครัวเรือนโดยเฉพาะครอบครัว ทำแนวป่าป้องกันไฟป่า 10,900 ครัวเรือน

 

เตรียม "ชุมชนท้องถิ่น" รับมือโลกร้อน

          การตื่นตัวของชุมชนท้องถิ่นเพื่อเข้าร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหัวใจในการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภัยธรรมชาติจากปัญหาโลกร้อน

-------//-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ