Lifestyle

เปิดตัว"วิศวกรหุ่นยนต์"หลักสูตร 2 ปริญญาจุฬาฯ-สจล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุฬาฯ สจล. และซีเอ็มเคแอล เปิดป.ตรี ด้านวิศวกรหุ่นยนต์ -AI เรียนข้ามสถาบันได้ปริญญา2 ใบ รุ่นแรกรับ 40 คน เดือน ส.ค.61 นี้

         เปิดมิติใหม่วงการอุดมศึกษาไทย 3 สถาบันชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มแคแอล (CMKL)ลงนาม MOU จัดตั้ง 2 หลักสูตรปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree)ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากจุฬาฯ และจากสจล.  และม.CMKL จะเปิดหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ และได้ความร่วมมือจากจุฬาฯ และสจล.ในการร่วมพัฒนาหลักสูตร โดยผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับปริญญาจากม.CMKL

        ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ  เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าประเทศกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับหุ่นยนต์ และAI หรือปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ หรือAI ได้เพียงพอเท่ากับความต้องการของประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้มีการจัดอบรมระยะสั้น เพื่อพัฒนากลุ่มสายงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง  วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล ฯลฯ  เพื่อพัฒนาคนให้ตอบสนองการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ การพัฒนาคนก็ต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  อีกทั้งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยจะมุ่งจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ เพื่อพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนร่วมกัน แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยบูรณาการหลักสูตรเข้าด้วยกัน ดังนั้น หลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ จากความร่วมมือของ 2 สถาบัน จึงเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นการเพิ่ม เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลให้สามารถแข่งขัน โดยการเรียนการสอนจะอาศัยบูรณาการความรู้ร่วมกัน  และผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา

        ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) กล่าวว่า  ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก 2 หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีศักยภาพแตกต่างกันไป ความร่วมมือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน คณาจารย์ ดึงจุดเด่นของแต่ละที่มาร่วมเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการ แก่ สังคม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อีกด้วย

       "หลักสูตรดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะรับนักเรียน ม. 6 ที่มีความรู้ความสามารถ และสนใจงานด้านนี้ โดยจะเปิดรับโดยพิจารณาจากบอร์ตฟอริโอ ซึ่งเด็กที่ได้เหรียญจากการแข่งขันระดับโลก เช่น โอลิมปิกวิชาการ จะถือว่ามีแต้มต่อที่สูง หากหลักสูตรเรียบร้อยผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบ ก็จะเปิดรับสมัครนักเรียนทันที ซึ่งการรับหลักสูตรนี้นั้นถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล และได้รับอนุมัติแล้วจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และจะเปิดเรียนได้ทันเดือน ส.ค.2561 แน่นอน และในระยะยาว สจล.มุ่งเป้าที่จะเข้าไปร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพไปพร้อมๆกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง "อธิการบดีสจล. กล่าว

       รศ.ดร.สุพจน์  เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งมีความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ และ AI แต่ทั้งนี้การจะให้แต่ละแห่งมาเปิดหลักสูตรใหม่ ก็อาจจะดำเนินการได้ล่าช้ากว่าหลักสูตรจะเปิดสอน แต่หากเป็นการเปิดหลักสูตรร่วมกันจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน และเป็นการดึงศักยภาพของแต่ละที่มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หลักสูตรดังกล่าวไม่ว่าจะเรียนที่จุฬาฯ หรือสจล. ผู้เรียนได้ความรู้จากทั้ง 2 แห่งอย่างแน่นอน
       รศ.ดร.คมสัน มาลีสี  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ ขณะนี้ทั้ง 2 สถาบัน จุฬาฯ และสจล. กำลังดำเนินการร่างหลักสูตร ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้ในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้รับทราบต่อไป  เพื่อจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 เดือนส.ค.นี้ ซึ่งประมาณทีแคส รอบ 5 รับตรงอิสระ  โดยรุ่นแรกจะเปิดรับ 40 คน แบ่งเป็น จุฬาฯ เปิดรับตรง 20 คน และสจล.เปิดรับตรง 20 คน โดยผู้เรียนที่สอบติดรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยใดก็จะ เสียค่าใช้จ่าย และยึดตามระบบระเบียบของมหาวิทยาลัยนั้น เพียงแต่ในทางปฎิบัติ ผู้เรียนจะหมุนเวียนเรียนทั้ง 2 สถาบัน จุฬาฯ และสจล. และได้รับปริญญาจากทั้ง 2 แห่ง  สำหรับระบบการเรียนการสอนนั้น หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรใหม่ การเรียนการสอนจะมีการบรรยายไม่เกิน 100 หน่วยกิต และเน้นการปฎิบัติงาน เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยยึดตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน  ประเทศสหรัฐอเมริกา 

        ขณะที่ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวเสริมว่า ด้วยจุดเด่นของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เป็นสถาบันที่ดำเนินการภายใต้การจัดการการศึกษาร่วม ระหว่างสจล. กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก ทำให้หลักสูตร ปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical &Computer Engineering: ECE) สามารถผลิตบัณฑิตได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านหุ่นยนต์สมองกล วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงาน และเทคโนโลยีสุขภาพ ด้วยองค์ความรู้เหล่านี้จะทำให้บัณฑิตที่ศึกษาและจบหลักสูตรนี้ เป็นบุคลากรสำคัญที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ คาดว่าจะรับนักศึกษารุ่นแรก ประมาณ 20-30 คน และรับหลังเดือน ส.ค. 2561 นี้ 

       ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจ สามารถ เข้าไปวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โทรศัพท์ 02-218-6337) หรือคลิกเข้าไปที่ www.eng.chula.ac.th หรือ สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์  02-329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ