Lifestyle

สพฐ.ทบทวนมาตรการคุ้มครองเด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“หมอธี” ลั่นเอาจริงผอ.ฉาว ขณะที่ สพฐ.ทบทวนใหม่มาตรการคุ้มครองดูแลนักเรียน หลังใช้มา 10 ปีอับเดตใหม่ให้ทันสถานการณ์ เร่งเดินหน้าพัฒนานักจิตวิทยาประจำเขตฯพัฒนาครู

            จากกรณีนายณฐาภพ บุญทองโท อายุ 51 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าตองท่าเนินสามัคคี อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับน้องบี (นามสมมุติ) นักเรียนหญิงชั้น ม.2 อายุ 14 ปี ของโรงเรียนดังกล่าว โดยมีหลักฐานข้อความแชตไลน์ในโทรศัพท์มือถือหวานซึ้ง โดยฝ่ายนักเรียนใช้สรรพนามเรียก ผอ.ว่า “ที่รัก” และ ผอ.เรียกนักเรียนว่า “เมียที่รัก” ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษานครราชสีมา เขต 6 สั่งย้ายด่วนผู้อำนวยการไปช่วยราชการที่สำนักงานฯพร้อมตั้งกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงรายงานผลใน 7 วัน หากพบผิดจริงมีโทษทางวินัยร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก และความผิดทางอาญา ฐานพรากผู้เยาว์เด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปีนั้น

            เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ  กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานโดยละเอียด แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ ศธ.เอาจริง และพล.ท.โกศล  ประทุมชาติ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ก็ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอยู่เป็นระยะ ซึ่งการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนไปมีความสัมพันธ์กับเด็ก ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถือว่ามีความผิดอยู่แล้ว  อีกทั้งยังมีเรื่องความเหมาะสมและยังมีเรื่องจรรยาบรรณ ซึ่งระดับนี้ต้องรู้ตัว  ถ้าไม่รู้ตัวก็มีคนช่วยให้รู้ตัว ก็ต้องลงไปจัดการ

            “ล่าสุดทราบว่าสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ลงไปตรวจสอบคู่ขนานด้วยแล้ว ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ผ่านมาเวลามีปัญหา คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างเดียว แต่หลายเรื่อง เกี่ยวข้องกับจริยธรรม เป็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งต้องตั้งสอบวินัยอย่างร้ายแรง  ไม่ต้องห่วงยุคนี้ เอาจริงแน่นอน “นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

            ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเหตุใช้ความรุนแรงและแนวทางการปฏิบัติ กรณีที่เกิดเหตุการณ์ กระทำความรุนแรงต่อนักเรียนในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งที่ 1/2561 หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการศึกษา ครูเเละนักเรียนถูกกล่าวหามีความประพฤติไม่เหมาะสม ว่า จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะประเด็นชู้สาว แต่การคุ้มครองดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น ยังมีเรื่องอื่นๆที่ต้องดูแล อาทิ การกลั่นแกล้งระหว่างเด็กด้วยกันเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีสถิติสูงในอันดับต้นๆ ดังนั้น สพฐ.จะมีการทบทวนมาตรการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์กระทำความรุนแรง ต่อเด็กในสถานศึกษา พ.ศ.2550 ซึ่ง สพฐ.จำแนกภัยที่จะเกิดขึ้นเป็น 3 เรื่องหลัก คือ ภัยบุคคล ,อุบัติเหตุ และสาธารณภัย และใช้มานานหลายสิบปี จึงต้องดูว่ามาตรการ หลักเกณฑ์ ระเบียบที่กำหนด รวมถึงการออกแบบจำลองเพื่อป้องกันภัยต่างๆ ยังคงใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่

            ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ วางหลักไว้ว่า หลังเกิดเหตุ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาต้องตรวจสอบ ลงพื้นที่ทันทีเเละรายงานผลมาที่ตนทันที ซึ่งอาจจะเป็นผลไม่เป็นทางการก็ได้ โดยไม่ต้องรอตั้งคณะกรรมการการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนเเล้วถึงจะรายงานเพราะอาจล่าช้า  ข้อสั่งการเรื่องการสอบสวนข้อเท็จจริง เดิมกำหนดต้องดำเนินการสืบสวนให้เเล้วเสร็จภายใน 10 วัน เเต่ปัจจุบันสามารถทำได้รวดเร็วกว่านั้น เเต่ก็ให้ยึดตามกรอบเดิม เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

           “การทบทวนมาตรการครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปเรื่องของภัยที่เกิดบุคคล ที่เป็นภัยคุกคามแก่เด็ก ซึ่งมีภัยจากเรื่องทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก ครูลงโทษเด็ก ความรุนแรงของเด็กและเด็ก และการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบ  โดยจะมีการทำงานร่วมกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ซึ่งมีข้อมูลเรื่องเด็กมาร่วมระดมความคิดเห็น ในการกำหนดมาตรการใหม่ เพื่อปรับมาตรการให้ทันสมัย โดยจะเน้นเรื่องการป้องกัน ป้องปรามและลงโทษผู้กระทำผิดโดยเร็วที่สุด”ดร.บุญรักษ์ กล่าว

            เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ต่อไปการแก้ไขปัญหาเด็กจะไม่ดูเป็นรายกรณีเช่นที่ผ่านมา แต่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญคือ วิธีการในการดูเเล ช่วยเหลือหรือฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก จะมอบภารกิจให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ไปสำรวจสภาพปัญหาของเด็กในเเต่ละพื้นที่ รวมถึงวิธีการเข้าถึงเด็กเเละวิธีการเเก้ปัญหาที่เหมาะสมกับเด็กในเเต่ละโรงเรียนหรือเเต่ละพื้นที่โดยทำงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน สพฐ.จะเร่งหานักจิตวิทยามาประจำให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันมีเพียง 26 เขตจาก 225 เขต และพัฒนาครูทุกคนให้เข้าใจและรับมือในการดูแลเด็กได้ทันท่วงที รวมถึงเร่งพัฒนาระบบการแนะแนว ครูแนะแนว ศึกษานิเทศก์เข้าไปในโรงเรียน ทำความเข้าใจแก่เด็กให้เด็กรู้สึกมีตัวตน เห็นคุณค่าในตัวเองด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดทำแผนมาตรการเรียบร้อยจะเสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ พิจารณาต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ