Lifestyle

ศธ.หารืออุดมศึกษาขยายเครือข่าย UNInet สู่โรงเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมว.ศึกษาธิการ ชวนชาวมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนา Hi-speed Internet นำเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาส่งถึงน้อง ๆนร.ทั่วประเทศ

       จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยมีแผนวางรากฐาน "อินเทอร์เน็ตประชารัฐ" เข้าไปยังทุกหมู่บ้านกว่า 75,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2561 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนและชุมชนใน 5 ด้าน คือ 1) ด้านพาณิชย์/การค้า ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าขายออนไลน์ 2) ด้านสาธารณสุข โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อสม. 3) ด้านการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ต้องเป็น "ศูนย์กลางและแหล่งเรียนรู้อินเทอร์เน็ต" แก่ประชาชนในพื้นที่ ในช่วงนอกเวลาราชการหรือวันหยุด 4) ด้านการเกษตร ส่งเสริมระบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง  ให้เกษตรกรสามารถขายผลิตภัณฑ์เกษตรออนไลน์ ช่วยเพิ่มรายได้โดยตรง และ 5) ด้านการบริการข้อมูลของรัฐ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ในการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ
     ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา พบปะและหารือเพื่อติดตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารทีปวิชญ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
      รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มีการประชุมหารือการดำเนินงานด้านอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยเตรียมปรับปรุงและขยายรากฐานเครือข่าย UNInet ในระบบ Hi-speed Internet สู่สถานศึกษา ทั้งในโรงเรียน 37,000 แห่ง วิทยาลัย/สถาบันการอาชีวศึกษา สถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน วิทยาลัยชุมชน ตลอดจนสถานศึกษาของสำนักงาน กศน. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั้งประเทศ โดยในเบื้องต้นจะยกเลิกเครือข่าย MOEnet ซึ่งไม่ใช่ผู้ให้บริการสัญญาณจริง อีกทั้งยังมีความซ้ำซ้อนและมีค่าใช้จ่ายที่สูง พร้อมกับมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะทุ่มงบประมาณเพื่อขยายเครือข่าย UNInet ซึ่งได้วางรากฐานหลักไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่แล้ว ให้สถานศึกษาอีก 20,000 แห่งได้ใช้ประโยชน์ด้วย 

       สำหรับผลการดำเนินงานของเครือข่าย UNInet ของ สกอ.ในภาพรวม สามารถดำเนินการได้ดี และครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในส่วนการให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นแม่ข่าย (ม.นเรศวร, มรภ.นครสวรรค์, มรภ.เพชรบูรณ์, มรภ.พิบูลสงคราม, มรภ.อุตรดิตถ์, มรภ.กำแพงเพชร, ม.ภาคกลาง, ม.เจ้าพระยา, วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น, ม.พิษณุโลก, มทร.ล้านนา ตาก, มทร.ล้านนา พิษณุโลก, ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์, วชช.อุทัยธานี, วชช.พิจิตร และ วชช.ตาก) จากการรายงานก็ถือว่าทำได้ดี กระจายสัญญาณที่มีความเร็วและแรงดี คงที่อยู่ที่ 1GB มีโครงข่ายสำรอง 5 จุด และให้บริการครอบคลุมสถานศึกษาใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และตาก) นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สร้างนักวิจัยพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนานักศึกษาและท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมทักษะวิชาชีพแก่อาจารย์และบุคลากร อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษา

      อย่างไรตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันอุดมศึกษา  จะช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแก่สถานศึกษาต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้มีระบบที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องรับสัญญาณ เช่น Router ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะช่วยเพิ่มความเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 1-2 ปีนี้ จะบูรณาการงบกลาง ปี 2561 ของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับจัดระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพียงระบบเดียวครอบคลุมสถานศึกษาทั้งหมด  และจัดสรรงบประมาณไปให้พื้นที่/โรงเรียนเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากภาคเอกชนไปก่อน ในขณะเดียวกันจะขอให้ทาง UNInet ช่วยเหลือเรื่องทางเทคนิคและออกแบบกรอบปฏิบัติกว้าง ๆ ไว้ให้เลือกใช้ พร้อมจัดระบบติดตาม ซ่อมแซม และบำรุงรักษา ส่วนสถานศึกษาต้องออกแบบการจัดการเครือข่ายภายในขึ้นมาเอง ให้รองรับตามความต้องการ บริบทและความพร้อม รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เสริมอย่างเหมาะสมต่อไป ในส่วนปีงบประมาณ 2562 ได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขยาย Hi-speed Internet ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั้งหมดไว้แล้ว

       รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยได้วางนโยบายและทุ่มงบประมาณในเรื่องนี้จำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องสร้าง Digital skill เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกทำ และได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ จนเป็นทักษะติดตัวไปใช้ในการเรียน การใช้ชีวิตอยู่รอดในโลกอนาคต ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ต้องเป็น Global citizen ที่สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ซึ่งเชื่อว่า "เด็กไทยไม่ได้เก่งน้อยกว่าเด็กประเทศอื่น ๆ"  เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเรายังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและไม่ได้วางเป้าหมาย ที่จะปลูกฝังหรือสร้างความพร้อมเรื่องดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

     ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความพยายามในการปรับตัวมากขึ้น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งโลกยุคดิจิทัล จำนวนผู้เรียนที่ลดลง ที่สำคัญคือพฤติกรรมของเด็กยุคนี้ ซึ่งมีความต้องการในศาสตร์ ทักษะ และองค์ความรู้เฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง มิใช่เรียนเพียงศาสตร์เดียวสาขาเดียว โดยวิธีเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น เพื่อนำความรู้ไปใช้ต่อยอดได้ ไม่ใช่เรียนเพื่อจำหรือเข้าใจเท่านั้น   พร้อมขอให้เพิ่มสัดส่วนระหว่างอาจารย์กับงานวิจัย ที่จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมจัดการศึกษามากขึ้นด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ