Lifestyle

รู้ผลสืบข้อเท็จจริง"หมอยอร์น"6ธ.ค.60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง"หมอยอร์น"ตั้ง 2 ประเด็นหลัก ดื่มน้ำเมาหรือไม่-ทำไมไม่เป่าวัดแอลกอฮอล์ คาดแล้วเสร็จภายใน 15 วัน

       เมื่อเวลา 14.30 น. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง กรณี นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 12 กระทรวงสาธารณสุข(ขับรถชนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.)บริเวณประตูกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯครั้งแรกว่า  คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยตน ในฐานะประธาน นิติกร และผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน(สธฉ.) ได้ทำกรอบการทำงานเพื่อสืบให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 หรือในวันที่ 6 ธันวาคม 2560  โดยจะมุ่งเน้นเรื่องวินัยข้าราชการเป็นหลัก ส่วนเรื่องคดีอาญาจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  
      นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า   จะสืบใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การดื่มสุราแล้วเมาจริงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องได้แก่ เจ้าหน้าที่ รปภ.ที่เข้าเวรในวันและเวลาที่เกิดเหตุจำนวนประมาณ 3-4 คน โดยอยู่ระหว่างทำหนังสือเชิญเข้าให้ปากคำ แม่ค้าร้านอาหารปู่ย่าตายาย เพื่อฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ว่า เหตุการณ์ ณ วันนั้นเป็นอย่างไร และนพ.ยอร์น ก็จะต้องเชิญท่านให้ข้อมูลด้วย ส่วนพยานแวดล้อมต่างๆ จะใช้กล้องวงจรปิดภายในกระทรวงฯ ที่มีอยู่จำนวนมาก และ 2. เพราะเหตุใดถึงไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ 

รู้ผลสืบข้อเท็จจริง"หมอยอร์น"6ธ.ค.60
      ผู้สื่อข่าวถามว่า การขัดคำสั่งเจ้าพนักงานในการไม่เป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ถือเป็นความผิดทางวินัยด้วยหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า  กรณีนี้เป็นความประสงค์ส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหา ที่จะแจ้งประสงค์ยินยอมหรือไม่ยินยอมให้เป่าก็ได้ แต่คณะกรรมการฯต้องการทราบถึงเหตุผล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา 
        นพ.ณัฐวุฒิ  กล่าวด้วยว่า หลักการพิจารณาเรื่องความผิดทางวินัยข้าราชการจำเป็นต้องรอผลการสืบข้อเท็จจริงจากกรอบดังกล่าวก่อน แต่ตามระเบียบข้าราชการก็ไม่ได้กำหนด เรื่องฐานความผิดเกี่ยวกับการเมาเป็นการเฉพาะ แต่จะเป็นเรื่องจริยธรรม ความเหมาะสม โดยเฉพาะการอยู่ในเครื่องแบบราชการหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้จะมีการสืบข้อเท็จจริงด้วยว่า หากมีการดื่ม จะเข้าข่ายดื่มในเวลาราชการหรือไม่ 
        ต่อข้อถามเคยมีข้าราชการที่กระทำความผิดในเรื่องการดื่มสุราหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า มีบ้างประปราย แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม ส่วนใหญ่เป็นการดื่มนอกเวลาราชการ และไม่ได้สวมใส่เครื่องแบบราชการ ซึ่งกระทรวงฯ ก็มีการตักเตือนเสมอ กรณีนี้มีทุกกระทรวงและมีการตักเตือนกันทั้งหมด 
      "หลังจากการสืบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ 15 วัน จะมีการพิจารณาถึงความผิดทางวินัยต่อไป โดยแบ่งเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรง หรือความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ต้องรอการสืบข้อเท็จจริงก่อน แต่โดยหลักหากผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษคือ ปลดออก หรือไล่ออก ส่วนโทษความผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน"นพ.ณัฐวุฒิกล่าว  
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ