Lifestyle

ใครเล่นตลก ป.เอก698คนลงทะเบียนคนจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องขำเมื่อคนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก 698 คนมาลงทะเบียนคนจนนักวิชาการด้านแรงงานทีดีอาร์ไอ แนะรัฐตรวจสอบ ตั้งข้อสังเกตุใครเล่นตลกหรือระบบผิดพลาด

 

      ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง กรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับเอกมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยถึง 698 คน และจบปริญญาโทลงทะเบียน เกือบ 5,810คน ว่าจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร คนที่จบการศึกษาระดับสูงขนาดนั้น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริงหรือไม่ หรือมีการลงทะเบียนข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือถ้าเป็นจริง ต้องตรวจสอบหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนเหล่านั้น ถึงได้มาลงทะเบียนคนจน หรือว่าระบบการลงทะเบียนมีการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

ใครเล่นตลก ป.เอก698คนลงทะเบียนคนจน

     “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะขำออกนะ ถ้าคนที่จบปริญญาเอกแล้วมาลงทะเบียนคนจนแล้วมารับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 3,000 บาท ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ภาครัฐต้องตรวจสอบหาข้อมูลที่แท้จริงแล้ว ระบบคลาดเคลื่อนหรือคนลงทะเบียนให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือไม่ก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่ลงไปหาคำตอบ หรือถ้าจนจริงเกิดจากอะไร จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้อย่างไร ระบบการลงทะเบียนแบบนี้ได้ข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ ตรงนี้ต้องหาคำตอบ” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอา่ร์ไอ ตั้งข้อสังเกตุ 

     ป้าแป๊ด อายุ 73 ปี มีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท บอกว่าไม่ได้ไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพราะมองว่ามีบ้านอยู่แล้ว และถ้าใช้ชีวิตแบบพอเพียงก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก เพราะค่ารักษาพยาบาลก็ใช้บัตรประกันสังคมตามมาตรา 39 หลังจากที่ออกจากงานในการดูแลรักษา เบาหวาน ไต หัวใจเต้นผิดจังหวะและลิ้นหัวใจรั่วได้ แม้ว่า จะต้องเปลี่ยน โรงพยาบาลประกันสังคม จากรพ.ยันฮีที่ออกจากประกันสังคม ไปใช้รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่นก็ตาม

   “บางครั้งคนเราก็รักษาสิทธิ อันนี้เราก็ไม่ว่ากัน รัฐมีนโยบายอะไรออกมาประชาชนก็ไปใช้สิทธิตามนั้นก็เป็นสิทธิของเขาในเมื่อไม่ได้ทำอะไรผิด จะไปว่าประชาชนก็ไม่ได้ รัฐต้องออกแบบระบบให้รอบคอบรัดกุมช่้วยเหลือประชาชนที่ยากจนที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง จึงจะเป็นการดี ” ป้าแป๊ด กล่าว 

       หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยออกมาว่ามีคนที่จบปริญญาเอก มาลงทะเบียน698  และมีการตั้งข้อสังเกตุว่าคนที่มาลงทะเบียนนั้นจนจริงหรือไม่ ล่าสุด กระทรวงการคลังจะพิจารณาผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.67 ล้านคนอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มทยอยแจกบัตรภายในวันที่ 21 ก.ย. ให้ทันวันที่ 1 ต.ค.เพื่อให้ผู้ได้รับบัตรสามารถใช้สิทธิ์ได้

     สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคน ชั้นแรกเป็นการตรวจสอบเรื่องรายได้โดยกรมสรรพากร, การตรวจสอบบัญชีเงินฝาก โดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ การตรวจสอบสัญชาติ โดยกรมการปกครอง เป็นต้น

    ทั้งนี้ พบมีผู้ถูกตัดสิทธิไป 2.6 ล้านคน เพราะมีรายได้และทรัพย์สินเกิน 1 แสนบาท ทำให้เหลือจำนวนผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 11.67 ล้านคน

   มีการตั้งข้อสังเกตุว่าข้อมูลที่ประชาชนให้มาในการลงทะเบียนอาจจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ตอนกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มตอนลงทะเบียนว่า รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่เมื่อนักศึกษาไปสอบถามรายละเอียดอาจจะบอกมีรายได้เดือนละ 1 หมื่นบาท เมื่อคูณ 12 เดือน รายได้เกิน 1 แสนบาท เป็นต้น   ถ้ามีการตรวจสอบแล้วไม่ผ่าน จะไม่แจกบัตร

    ทั้งนี้ก่อนวันที่ 15 ก.ย. ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ควรไปตรวจสอบสิทธิให้แน่ชัดก่อนว่าตัวเองจะเป็นผู้ได้รับสิทธิในโครงการนี้หรือไม่ จากหน่วยที่ลงทะเบียนไว้ หรือที่สำนักงานเขต หรือที่ธนาคารทั้ง 3 แห่งที่เปิดรับลงทะเบียนคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย

      โดยผลการกลั่นกรองรอบ 2 นี้ จะส่งผลสำรวจทั้งหมด และสรุปตัวเลขสุดท้ายก่อน 21 ก.ย. แจกจ่ายบัตรให้แก่ประชาชนได้ตั้งแต่วันที่21-30 ก.ย.นี้ เพื่อให้ทันกับการเริ่มโครงการในวันที่ 1 ต.ค.

       นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นธรรมชาติ ที่หากเมื่อคนเรามีสิทธิใดๆจำต้องรักษาสิทธิของตัวเองไว้ก่อน และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาหลายกรณีแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายใดๆของภาครัฐที่ผ่านมาบางครั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด หรือคนที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือบางครั้งไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างแท้จริงหรือเข้าไม่ถึงข้อมูล 

    ทั้งนี้ผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจะได้รับบัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคนในกทม.และปริมณฑล 6 จังหวัดรวม 1.3 ล้านราย แบ่งเป็นวงเงินค่าโดยสาร บขส. 500 บาทต่อเดือน,วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน,วงเงินค่าใช้จ่ายในครัวเรือน กลุ่มรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาท-1 แสนบาทต่อปี ได้รับ 200 บาทต่อเดือน,รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีได้รับ 300 บาทต่อเดือน สามารถนำไปใช้ในร้านธงฟ้า หรือร้านค้าชุมชนที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด สามารถนำไปซื้อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อการเกษตร

       โดยจะขอความร่วมมือร้านค้าไม่ให้จำหน่ายสินค้าอบายมุข เช่น เหล้า เบียร์ ยาสูบ นอกจากนี้ ให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม คนในกทม.และปริมณฑล 6 จังหวัด ได้รับ 1,700-1,800 บาทต่อเดือน คนต่างจังหวัดได้รับ 1,200-1,300 บาทต่อเดือน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ