Lifestyle

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี  “รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์” 46 ปีของการอุทิศตัวเองเพื่อสถาบันการศึกษาแห่งนี้...

         จากเด็กบ้านนอก ที่อยู่บนดอยสูง อำะภอพาน จังหวัดเชียงราย เห็นคนที่ขาด“โอกาส”มาตลอด .... “เราเห็นคนที่อยู่ในเมืองที่เขามีสถานภาพทางเศรษฐกิจดี เขามีทางเลือกเยอะ แต่ยังมีคนที่ขาดทุนทรพัย์ ขาดผู้แนะนำ ขาดโอกาสในชีวิตมากมาย ถ้าเราไม่สร้างโอกาสให้พวกเขา แล้วใคร ? จะดูและเขา”

         เป็นการบอกเล่าในเชิงตั้งคำถามให้สังคมได้คิดต่อในประโยคข้างต้น ของ "รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์” สุภาพบุรุษ ที่มีตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในหลายที่ แต่ล่าสุด เขาดำรงตำแหน่งนี้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือ (มทร.ล้านนา)

         เท่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ ยิ่งเดี่ยวนี้มีโรงเรียนพี่เลี้ยง ยิ่งเป็นโอกาสดีของเยาวชนของเหล่าเยาวชนที่ฉายแวว สนใจ มันถึงจะช่วยได้ แต่ถ้าคนไหนไม่สนใจก็ช่วยไม่ได้ กว่าที่เยาวชนแต่ละคนจะฉายแววให้เห็นนั้น เราต้องมี “ภาคปฏิบัติการ” ให้เขาได้สัมผัส ได้เห็น “โอกาส” เราในฐานะสถาบันการศึกษา"ต้องสร้างโอกาส" ให้เขาเห็นในลักษณะต่างๆ ไม่จำเพาะว่าจะต้องอยู่ในเมืองใหญ่ หรือเพียงแค่เข้าไปสู่อุตสาหกรรม แต่เราต้องช่วยกันสร้างให้เขามีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของเขา และไม่ทิ้งความรักในการพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเอง

         นี่คือถ้อยประโยคของอธิการบดี ที่มากด้วยประสบการณ์ มีความเก๋า ของการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มีพัฒนาการจากเดิมเป็นเพียงแค่ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา" ในปี 2518 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทาน ชื่อใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ในปี 2531 อันมีความหมายว่า “สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา”

        ด้วยวัย 70 ปี ที่มากด้วยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และมีความเป็นผู้นำสูง มีทักษะในการบริหารบุคคล และเป็นผู้บริหารที่รู้จักสถาบันการศึกษา "กลุ่มมทร." หรือมหาวิทยาลัยเกิดใหม่แบบ“หมดไส้หมดพุง”

         เพียงเพราะเริ่มรับราชการครั้งแรก หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี 2514 จากนั้นมาบรรจุเป็นข้าราชการที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะสอบชิงทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย สำเร็จปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยในประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาการจัดการเทคโนโลยี 

 

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี

        ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็เริ่มจากตำแหน่ง อาจารย์ ผช.หน.แผนกวิชา ผช.ผอ. และ ผอ. ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ ผู้บริหารในสมัยนั้น ให้ไปปฏิบัติงานช่วยราชการหลายๆ วิทยาเขต ตั้งแต่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทเวศน์ วิทยาเขตภาคใต้ สงขลา และวิทยาเขตตาก จากประสบการณ์ในการแก้ปัญหาให้กับวิทยาเขตต่างๆ

      ว่ากันว่าสมัยนั้นการขาดกำลังคนเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่งผลให้มีการทาบทาม "รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์” ได้เข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหา อีกทั้งเวลาไปอบรมในต่างประเทศ หรือดูงานที่ไหน เขายังทำรายงานทุกชิ้นเสนอผู้บริหารระดับสูงด้วยความละเอียด มีข้อมูลเพื่อให้คุ้มค่า การเดินทางไปอบรมและดูงานมากที่สุด ถือเป็นจุดเด่นที่คนรุ่นใหม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง

 

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี

        การก้าวมาเป็น"อธิการบดี"ที่สร้างผลงาน โดดเด่นที่สุดในช่วงชีวิตของผู้ชายคนนี้ก็คือ การก้าวเป็น"อธิการบดีถึง 2 สมัย" ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) ในสมัยนั้นกว่าจะย้ายนักศึกษามาเรียนที่ธัญบุรี มิใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ผลักดันและสร้างพื้นที่สถาบันแห่งนี้ให้เป็นที่ยอมรับ จนใครๆก็รู้จักและใฝ่ฝันอยากมาเรียน

       ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งผลงานเลื่องชื่อในการช่วยพัฒนา ยกฐานะสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง คงจะไม่สมบูรณ์เพราะเขามีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันเป็นอย่างยิ่ง

       ถึงวันนี้ “รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์” เป็นแม่ทัพใหญ่ที่นำพา "มทร.ล้านนา" ซึ่งหมายถึงการหลอมรวมเอาวิทยาเขต และสถาบันวิจัย จำนวน 7 แห่งเข้าด้วยกัน คือ วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ วิทยาเขตน่าน วิทยาเขตตาก วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตเชียงราย และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มาดูแลและบริหารจัดการ 

         ด้วยการยึดหลักเดิม คือตามแนวพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของราชมงคล ในปี พ.ศ.2525 โดยเน้นให้ “…บัณฑิตทุกๆสาขา ทุกๆคน มีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องเป็นกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ การที่จะให้ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องลงมือทำมันอย่างจริงจัง….” จึงทำให้เป็นที่มาของ “บัณฑิตนักปฏิบัติ”

 

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี

         เพียงเพราะพระองค์ท่านเน้น “การลงมือทำอย่างจริงจัง” ซึ่งชาวราชมงคลทุกแห่ง ตระหนัก รับรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอธิการบดีนามว่า “นำยุทธ” ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

          “ผมเป็นห่วงราชมงคลว่าจะเรียนแต่ภาคทฤษฏี  และต่อจากนี้ไปคงต้องทำให้อาจารย์รุ่นใหม่ๆ เข้าใจและใส่ใจเรื่องภาคปฏิบัติให้มาก นับเป็นเรื่องท้าทายสำคัญมาก ในยุคที่ผู้คนใฝ่หาความรู้ มุ่งสู่ความรู้ในระดับสูง จนหลงลืม  การลงมือปฏิบัติ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องทำ

         เพราะมิฉะนั้น รากฐานสำคัญของราชมงคลจะแปรเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ก็พยายามให้กลุ่มผู้ประกอบการเป็นผู้พูดว่า ขาดฝีมือด้านไหน บางเรื่องผมจึงต้องลงมาพูดเอง เป็นเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดพลังร่วมและนำส่งถึงชาวมหาวิทยาลัย เพื่อเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม”

        เส้นทางการบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ด้วยฝีมือการบริหารของ "รศ.ดร.นำยุทธ" เป็นผู้นำทางและกำลังใกล้จะหมดวาระ 4 ปีในอีกไม่ช้านี้ เขายังยืนยันชัดเจนว่า "มทร.ล้านนา" ต้องสนองความเป็นอุดมศึกษาด้านวิชาชีพ แม้ราชมงคลจะมีทุนเดิมที่เน้นวิชาชีพและแนวทางการปฏิบัติ แต่มันก็ได้จางหายลงไปมาก 

        เขามองอีกว่า รูปแบบการทำงานในอนาคตต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในด้านสมรรถนะ จากเดิมเป็นผู้ทำตามก็จะเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันเราก็จะเป็นผู้ตามในบางจังหวะ และโอกาส คนของเราต้องออกแบบได้ สร้างสรรค์ นำเสนอได้ แนะนำเชิงวิชาการเพื่อให้ผู้คนปฏิบัติได้ ดังนั้นความรู้ที่มีอยู่ บางครั้งต้องชี้นำสังคมด้วย ไม่ใช่เรียนและทำวิจัยในแค่ตำรา มันคือความท้าทายมาก ในการชี้นำอนาคตของประเทศ 

 

กระทบไหล่...อธิการบดีที่ชาว มทร.รู้จักดี

        “ผมอยากเห็นบัณฑิตของมทร. ล้านนา ก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น อาจเป็นธุรกิจขนาดเล็กและค่อยๆ เติบโต ศักยภาพบัณฑิตมทร.ล้านนา สามารถทำได้ และมีมากด้วย”

         ปิดท้ายการพูดคุย ผ่านทุกคำพูดของ "รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์" ผู้รู้จักสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกือบทุกแห่งดี เพียงเพราะเขาทำงาน คลุกคลีมาถึง 46 ปี เต็ม แม้วันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จะขยายตัว มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9 แห่งก็ตาม!!!

          0 กมลทิพย์   ใบเงิน 0 เรียบเรียง

           [email protected]

        

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ