Lifestyle

ระวังไว้ ผิดกฎหมาย"โพสต์ผลิตภัณฑ์นมผง" หลัง 9 ก.ย.60 !!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรบ.มิลค์โค้ดมีผลบังคับใช้ 9 กันยายน 2560 ห้ามเด็ดขาดไม่ให้โฆษณา-ส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ฝ่าฝืนเจอโทษจำ-ปรับ โพสต์ลงโซเชียลฯส่วนตัวก็ไม่เว้น

        คนโซเชียลฯต้องรู้ไม่เพียงแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้นที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาในทุกสื่อและห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการตลาด แต่หลังวันที่ 9 กันยายน 2560 ผลิตภัณฑ์อาหารทารก กฎหมายห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดโดยเด็ดขาดเช่นกัน

        เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) มีเวทีเสวนา สช.เจาะประเด็น “หยุด!! ฆ่าน้ำนมแม่” โดยผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผุ้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก  พ.ศ.2560  หรือ พรบ.มิลค์โค้ด หรือ พรบ.นมผง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน 2560 ซึ่งสาระสำคัญ คือ การห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ห้ามลด แลก แจก แถมและการห้ามโฆษณาอาหารทารกโดยเด็ดขาด และห้ามการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กที่เชื่อมโยงมายังทารก โดยทารกหมายถึงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง อายุ 12 เดือน และเด็กเล็ก หมายถึง เด็กอายุเกิน 12 เดือนจนถึง 3 ปี

        รวมถึง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงฉลากของผลิตภัณฑ์นมผงในล็อตการผลิตหลังวันที่ 9 กันยายน 2560 ให้มีความแตกต่างระหว่างนมผงสูตรสำหรับทารกและสูตรสำหรับเด็กเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดเมื่อเห็นโฆษณานมผงเด็กเล็กว่าเป็นนมผงทารก ส่วนล็อตการผลิตก่อนหน้านั้นสามารถวางขายในตลาดได้อีกเป็นเวลา 1 ปี คือ หลังจากวันที่ 9 กันยายน 2561 จะต้องไม่มีฉลากที่คล้ายคลึงกันอีก  เป็นต้น

ระวังไว้ ผิดกฎหมาย"โพสต์ผลิตภัณฑ์นมผง" หลัง 9 ก.ย.60 !!!

        นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วจะห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็กเด็ดขาด และห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอาหารทารกเด็ดขาดหรือง่ายๆ คือ ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมผงที่เป็นสูตรของทารก และห้ามโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กในลักษณะที่เชื่อมโยงหรือสื่อถึงอาหารทารก เช่น ที่ผ่านมา ฉลากผลิตภัณฑ์นมผงที่เป็นสูตรของเด็กเล็ก จะทำให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับนมผงของเด็กเล็กทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดได้ แบบนี้เรียกว่ามีการเชื่อมโยงสื่อถึงกันระหว่างนมผงทารกและเด็กเล็ก ซึ่งหลังจากกฎหมายนี้บังคับใช้แล้วจะทำไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามโฆษณาอาหารเด็กเล็กที่เชื่อมโยงหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารทารกด้วย

    รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ที่สำคัญกฎหมายนี้กำหนดไว้ไม่ให้ผู้ใดทำการโฆษณาอาหารทารก ซึ่งจะครอบคลุมทุกสื่อและทุกคน เพราะฉะนั้น ศิลปิน ดารา โดยเฉพาะที่เป็นแม่ๆที่เคยโพสต์ผลิตภัณฑ์นมผงลงสื่อโซเชียลฯต่างๆ หลังวันที่ 9 กันยายน 2560 จะทำไม่ได้อีก เพราะผิดกฎหมายมิลค์โค้ด เข้าข่ายการโฆษณา แม้จะบอกว่าเป็นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารกแต่เป็นสำหรับเด็กเล็กซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถดูได้ว่าเป็นนมผงทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

      “แม้ว่าบทลงโทษปรับจะน้อย ดูเหมือนจะคุ้มหากจะยังว่าจ้างให้มีการโพสต์โฆษณาในโซเชียลมีเดีย แต่เชื่อว่าหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่มีบริษัทที่กล้าฝ่าฝืน โดยเฉพาะการจ้างศิลปินดาราโพสต์รูปผลิตภัณฑ์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นการโฆษณา เพราะหากทำจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งเรื่องชื่อเสียงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับบริษัทผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทารกและเด็กเล็ก ส่วนการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์หรือวิทยุจะไม่กระทบมาก เนื่องจากการโฆษณานมผงในสื่อเหล่านี้ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว” นพ.ธงชัยกล่าว

       พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ 1.การแยกแม่แยกลูก  ซึ่งจะต้องไม่แยกแม่แยกลูก หลังจากคลอดตัดสายสะดือและเช็ดตัวเด็กแล้ว ภายใน 1 ชั่วโมงจะต้องนำเด็กมาเข้าเต้าแม่ แม้วันแรกน้ำนมจะยังไม่ออก แต่จะเป็นการดูดกระตุ้น หากไม่ทำใน 2-3วันนมจะแข็งคัดเต้า 2.ไม่ผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น เพราะเด็กที่ผ่าคลอดอาจจะมีปัญหาที่ต้องดูแลพิเศษหลังคลอดตามมา ทำให้ต้องแยกจากแม่ไม่ได้เข้าเต้า และ3.ต้องหาที่ปรึกษาให้แม่ เนื่องจากแม่หลังคลอดหลายคนเมื่อน้ำนมไม่มา ก็จะหันไปหานมผงทันที จำเป็นต้องหาบุคคลหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้คอยให้คำปรึกษา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ