Lifestyle

กกอ. ไม่ปรับเกณฑ์ ครูคืนถิ่น ย้ำ TOEIC 400

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาธิการกกอ. ยืนยัน ไม่สามารถปรับเกณฑ์ ครูคืนถิ่น ได้พร้อมย้ำ TOEIC 400 คะแนน คกก.โครงการครูคืนถิ่น พิจารณาหลายรอบ ขณะที่ สช. หนุนทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษ

      ดราม่า "#ครูคืนถิ่น"  เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเซียล ความคิดเห็นหลากหลาย กรณีผู้ผ่านคัดเลือก “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” หรือ “ครูคืนถิ่น” ปี 2560 ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับลดคะแนนสอบ เช่น TOEIC จาก 400 คะแนน เหลือ 250 คะแนน หรือใช้วิธีการอบรมแทน นั้น 
      ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่าการกำหนดเกณฑ์โครงการครูคืนถิ่นนั้น มีการปรับเปลี่ยนทุกปี เพื่อคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ และการปรับเกณฑ์ปีนี้ มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะต้องการคนเก่งมาเป็นครู ส่วนการกำหนดเกณฑ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องผ่านจากการสอบข้อสอบกลาง 400 คะแนน ไม่ใช่คะแนนจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

      อีกทั้ง คะแนนโทอิค 400 คะแนนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีการพิจารณาหลายรอบแล้ว คงไม่สามารถปรับเกณฑ์ได้ ซึ่งหากปรับได้คงต้องเป็นเกณฑ์ใหม่ในปีถัดไป 
         ขณะที่ ดร.พะโยม  ชิณวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า  ขณะนี้นวัตกรรมการจัดการศึกษามีความก้าวหน้าไปมาก มีการส่งเสริมการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษา ที่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังมีในมิติอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้น ความรู้ ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษเป็นอีกเรื่องที่ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องมี            อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการกำหนดให้ครูที่ผ่านการคัดเลือกโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ ครูคืนถิ่น ปี 2560 จะต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษ เช่น มีคะแนน TOEIC  400 คะแนนนั้น ส่วนตัวมองว่าการทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องปลายทาง เพราะประเด็นสำคัญคือ การจัดการศึกษาแต่ต้น โดยส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาในโครงการครูคืนถิ่นได้รับการพัฒนาภาษาอังกฤษ
        “ผมมองว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สามารถช่วยสนับสนุนและพัฒนาครูคืนถิ่นได้ เพราะโรงเรียนในสังกัดมีทั้งที่เปิดหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม มินิอิงลิชโปรแกรม รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ ที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น ถ้านิสิต นักศึกษาในโครงการครูคืนถิ่นใช้โอกาสในช่วงฝึกปฏิบัติการสอน มาฝึกสอนที่โรงเรียนเหล่านี้ ก็จะได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งทักษะการฟัง การพูด เกิดความคุ้นเคยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม  นพ.ธีระเกียติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายส่งเสริมเรื่องภาษาอังกฤษ แก่ครูและนักเรียน ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้หารือกับรมว.ศึกษาธิการด้วย ขณะเดียวกัน ในการประชุมสมาคมโรงเรียนเอกชนในวันที่ 17 ก.ค.นี้ จะเสนอให้ร่วมมือกันนำจุดแข็งของแต่ละสมาคมร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษา”ดร.พะโยม กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ