Lifestyle

!!!โต้“หมอธี”ตัวเลข"ผลิตครู"ผิด!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธาน ทปสท.โต้“หมอธี”ตัวเลขผลิตครูผิด ระบุผลิตครูสูงสุดปีละ6หมื่นคนแต่จบครูยังไม่ได้เป็นครูอีกนับแสนคน”แนะ“แก้ปัญหาขาดครูต้องไม่ทำลายระบบคุณธรรม

          ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)ให้ความคิดเห็นต่อกรณีที่ นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาแถลง เหตุผลที่เปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู(ไม่มีวุฒิครู) สามารถสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ก่อนแล้วค่อยดำเนินการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทีหลัง โดยให้เหตุผลว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณอายุ 270,000 คน จึงจำเป็นต้องจำเป็นต้องหาครูมาประจำการโดยอ้างเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แล้วยังอ้างถึงความเสียสละของคนที่ไม่จบครูแล้วมาสอบเป็นครูที่ต้องไปเรียนหลักสูตรประกาศนีบัตรวิชาชีพครู(ป.บัณฑิต) หรือปริญญาโทเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครู รวมทั้งกล่าวว่าคนที่เรียนครูมา 5 ปีย่อมเก่งพอที่จะสามารถแข่งกับคนไม่เรียนครู คนเรียนมา 5 ปีก็ต้องแข่งขันได้ทั้งความเป็นครูและวิชาการด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว

          “ผมคิดว่า หมอธีเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น ประเด็นแรก แม้ในรอบ 10 ข้างหน้าจะมีครูเกษียณ 270,000 จริง แต่ก็ไม่ได้เกษียณพร้อมกัน จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเอาคนที่ไม่ได้จบสายครูมาสอบเป็นครู และขณะในแต่ละปีสถาบันการศึกษาก็ผลิตคนออกมาเฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นคน โดยเฉพาะปีสูงสุดถึง 6 หมื่นคน ซึ่งทำให้จำนวนบัณฑิตครูเกินจำนวนความต้องการ ในแต่ละปีอยู่แล้ว รวมทั้งมีคนที่จบมาแล้วยังไม่ได้เป็นครูอีกนับแสนคน นี่ยังไม่ได้คิดเรื่องอัตราการเพิ่มของประชากรที่ลดลง ย่อมส่งผลต่อจำนวนนักเรียนและความต้องการครูที่ลดลงด้วย”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว

          ผศ.ดร.รัฐกรณ์  กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา การอ้างเรื่องการเสียสละของคนที่ไม่จบครูต้องไปเรียนเพิ่ม เพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครู แล้วคนที่เขามุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาเรียนครูตั้งแต่แรกละ ตนคิดเราว่าน่าจะให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่า ประเด็นที่สาม ซึ่งตนคิดว่าสำคัญที่สุดคือการอ้างว่าเมื่อเรียนมา 5 ปี ต้องแข่งขันได้ทั้งความเป็นครูและวิชาการด้วย ในฐานะผู้เขียนเป็นทั้งอาจารย์ครุศาสตร์และมีโอกาสไปบรรยายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 5 ที่เตรียมตัวไปสอบครูผู้ช่วย ขอเรียนว่า การสอบบรรจุนั้นเป็นการวัดความรู้(Knowledge)ในเชิงวิชาการเป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้วัดทักษะความเป็นครู(Psychomotor) และคุณธรรมจริยธรรม จิตวิญญาณความเป็นครู(Affective)

         ประธาน ทปสท.  กล่าวอีกว่า ทั้งที่ทั้งสามด้านล้วนมีความสำคัญ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นครูที่ดี ซึ่งการวัดเฉพาะความรู้เป็นหลักนั้นคนที่ไม่ได้เรียนครูมา แต่มีสมองและความจำดี มีความขยันก็สามารถท่องตำรามาสอบได้ ส่วนคนที่เรียนครูมาแม้จะมีความสามารถครบทั้งสามด้าน แต่ก็อาจสอบแข่งขันสู้คนเก่งที่ไม่ได้เรียนครูมาไม่ได้ ถามว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องการใช้คนที่เก่งแต่ไม่แน่ใจว่าสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กได้ หรือต้องการคนที่มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่เหมะสมกับเด็กและมีจิตวิญญาณความเป็นครูซึ่งผ่านการหล่อหลอมมาถึง 5 ปี โดยผ่านการรับรอง ทั้งจากสถาบันผู้ผลิตและคุรุสภา อันนี้น่าคิด

         "ในประเด็นด้านกฎหมายนั้น หากพิจารณา พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 43 “ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดวิชาชีพควบคุมอื่น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่กำหนดไว้ 8 ประการ"ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว 

          ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  โดยแต่ละประการกำหนดการยกเว้นการจัดกิจกรรมเฉพาะ เพื่อการจัดการศึกษา อาทิ วิทยากรพิเศษ ผู้จัดการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งเป็นข้อยกเว้น เช่น บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารระดับเหนือเขตพื้นที่ เป็นต้น” และมาตรา 46 “ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมืให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา” ถ้าไม่ปฏิบัติกฎหมาย องค์กรวิชาชีพจะมีไว้เพื่ออะไร

         ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  นอกจากนี้เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มาตรา 258 จ (3) ที่ระบุว่า “ให้มีกลไก และระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณ ของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู”

            “จากเหตุและผลที่กล่าวมา ทั้งในแง่ของความเหมาะสม ความถูกต้อง รวมทั้งในแง่ของกฎหมาย ผมยิ่งไม่แน่ใจว่าการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และทำลายระบบคุณธรรมในการพัฒนาครู รวมทั้งทำลายจิตวิญญาณของความเป็นครู ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงอยากให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาทบทวนอีกครั้งครับ” ประธาน ทปสท.ฝากทิ้งท้าย 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ