Lifestyle

13ภาวะต้องใช้เครื่อง“Hyperbaric Chamber”แบบในห้อง"ธัมมชโย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์เผยเครื่อง“Hyperbaric Chamber”ใช้รักษาโรคน้ำหนีบ-แผลเบาหวาน ช่วยเลือดไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าสะดวกขึ้น ไม่ช่วยรัศมีเปล่งปลั่ง มี 13 ภาวะบ่งชี้ต้องใช้

        จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้เข้าตรวจสอบห้องรักษาอาการอาพาธของธัมมชโย ต่อมามีการเผยแพร่ผ่านทางโลกโซเชียลมีเดียว่า ภายในห้องดังกล่าวมีเครื่อง Hyperbaric Chamber โดยระบุว่าเป็นเครื่องช่วยชะลอความแก่ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูอ่อนกว่าวัย และใช้รักษาแผลเรื้อรังที่เ้ท้า 

          เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่อง Hyperbaric Chamber จัดเป็นเครื่องเพิ่มความดันอากาศสูง ที่ใช้ในการเพิ่มปริมาณออกซิเจน เพื่อให้เนื้อเยื่อที่มีบาดแผลได้ซึมซับออกซิเจนมากขึ้น ตามปกติเครื่องมือแพทย์ชนิดนี้ ใช้ในการรักษา โรคน้ำหนีบ หรือ น็อกน้ำ สำหรับคนที่ดำน้ำลึก จนมีแก๊สในร่างกายสูง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผลอาการข้างเคียงจากแผลของโรคเบาหวานได้ด้วย ช่วยทำให้ปัญหาเลือดเลี้ยง บาดแผลตามปลายมือปลายเท้าไม่สะดวกมีความคล่องตัวมากขึ้น เมื่อมีออกซิเจนช่วยนำไป โดยระยะเวลาการใช้เครื่องมือแพทย์ชนิดนี้ ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและมีการกำจัดระยะเวลาการใช้

     “การรักษาบาดแผลเบาหวาน ด้วยเครื่องมือแพทย์ชนิดนี้ ไม่ได้ทำให้เท้าหรือมือหายเน่า แต่ทำให้ความรุนแรงของบาดแผลทุเลาลง ด้วยออกซิเจน และการใช้ออกซิเจนจากเครื่อง Hyperbaric Chamber ทั้งนี้ ไม่เคยมีข้อมูลทางการแพทย์ปรากฏผลข้างเคียงว่า จะช่วยให้ผิวพรรณทั้งใบหน้า และลำตัวกระจ่างใสขึ้น ไม่ช่วยให้รัศมีเปล่งปลั่ง ในทางตรงกันข้ามการรับออกซิเจนมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และทุกครั้งของการใช้รักษาต้องอยู่ในการควบคู่ดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ได้ตามลำพัง ปัจจุบันเครื่องนี้มักอยู่ในสถานพยาบาลแบบเฉพาะทาง เช่น รพ.ในสังกัดกองทัพเรือ หรือ โรงพยาบาลปฐมภูมิ ที่มีความจำเพาะในการใช้เครื่องมือชนิดนี้ เท่านั้น คนทั่วไป ไม่สามารถซื้อหาเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางมาใช้ได้”นพ.ฉันชายกล่าว

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีHyperbaric Oxygen Therapyหรือ “HBO” ไว้ในเวบไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยแพร่เมื่อปี 2554 มีสาระสำคัญ คือ การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี HBO คือการให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ในห้องปรับบรรยากาศ หรือ Hyperbaric Chamber ที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณสูงมากกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ที่บรรยากาศปกติหลายเท่า ถือเป็นการรักษาเสริมที่ใช้ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม โดย 1.ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย 2.ช่วยยับยั้งและต่อต้านการติดเชื้อโรคบางชนิด 3.เพิ่มประสิทธิภาพเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค 4.ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น 5. ลดอาการบวมของอวัยวะ และ 6.ลดขนาดของฟองอากาศในเนื้อเยื่อและหลอดเลือด

           HBO จึงมีผลในการเสริมสร้างการหายของบาดแผล โดยเฉพาะแผลเรื้อรังที่เกิดจากปัญหาบางอย่าง เช่น เบาหวาน เส้นเลือดตีบตัน หรือแผลที่เป็นผลมาจากการฉายรังสี บาดแผลที่หายยากเหล่านี้มีลักษณะเหมือนๆ กันประการหนึ่ง คือ ในเนื้อเยื่อรอบแผลมีระดับออกซิเจนต่ำ เพราะมีเลือดมาเลี้ยงน้อย เซลล์ต่างๆ ที่มีหน้าที่ทำให้แผลหายไม่สามารถทำงานสร้างเนื้อเยื่อได้ตามปกติ การให้ HBO ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อรอบแผลมีมากขึ้น เซลล์ต่างๆ ที่ได้รับออกซิเจนจะเริ่มทำงาน ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ มีการสร้างเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยใหม่ๆ ขึ้นทำให้แผลหายได้ นอกจากนี้การบาดเจ็บที่รุนแรงซึ่งมีการบวมของเนื้อเยื่อ หรือการบาดเจ็บของอวัยวะที่ถูกบดกระแทก ภาวะติดเชื้อเรื้อรังของกระดูก บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ยังสามารถใช้ HBO ช่วยรักษาได้อีกด้วย

         ผลดีของการรักษาด้วย HBO คือ ลดความพิการและสูญเสียอวัยวะ ซึ่งบางรายแพทย์อาจต้องทำผ่าตัดเอาอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ช่วยลดบวมในแผลถูกบดกระแทก ช่วยให้แผลเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากการขาดออกซิเจนหายเร็วขึ้น จึงช่วยลดระยะเวลาของการรักษาลง สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษา

         ภาวะบ่งชี้ในการรักษาด้วย HBO ตามที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูงของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ 1.โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง 2.โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ 3.การติดเชื้อของเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน 4.การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเนื่องจากการถูกบดขยี้ 5.โรคลดความกด 6.โรคแผลหายยาก ได้แก่ แผลเบาหวาน แผลกดทับ และแผลจากการไหลเวียนในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงไม่ดี 7.โลหิตจางเนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก 8.การติดเชื้อและมีการตายของเนื้อเยื่อ 9.การติดเชื้อเรื้อรังของเยื่อหุ้มกระดูก 10.การปลูกถ่ายผิวหนังและกล้ามเนื้อ 11.การได้รับบาดเจ็บจากรังสี คือ กระดูกและเนื้อเยื่อตายจากรังสี เนื้อเยื่อตายจากรังสี และฟันผุจากการรับรังสี 12.แผลไหม้จากความร้อน และ 13.โรคฝีในสมอง (Intracranial Abscess)

          อนึ่ง การรักษาด้วยวิธี HBO เมื่อปี 2552 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคน้ำหนีบ โดยจัดอยู่ในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ