Lifestyle

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10ทรงส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพ : นักเรียนรับพระราชทานทุน จากเว็บไซต์ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี และ สพฐ.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่พระราชหฤทัยในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาของชาติ อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งจะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งเมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชประสงค์ให้กระจายการศึกษาสู่พื้นที่ทุรกันดารห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่เหล่านั้น ได้มีโอกาสรับการศึกษาทัดเทียมกัน

๐โรงเรียนในพระราชูปถัมภ์

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็นที่ตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาให้บุตรหลาน ทหารมหาดเล็กและข้าราชบริพาร ต่อมาในปีพ.ศ.25534คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับโอนกิจการมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และได้ย้ายโรงเรียนไปที่ตั้งใหม่ในที่ดินวัดกลางบางซื่อ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี บนเนื้อที่ประมาณ17ไร่สามารถรองรับเด็กมากขึ้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารเรียนระดับก่อนประถมศึกษา เมื่อวันที่29กรกฎาคม2534ในการนี้ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ ทรงมีพระราชานุญาตให้ใช้ อักษรพระนามาธิไภย มวก. เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้รับบุตรหลานของประชาชนทั่วไปเข้าเรียนด้วย ปัจจุบันโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปี6

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 42 พรรษา จังหวัด ระยองและ ศธ.ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยอง ตำบลบ้านนาอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นโรงเรียนเทิดพระเกียรติ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “มกุฎเมืองราชวิทยาลัย” หมายถึง ราชวิทยาลัยสูงสุดแห่งเมือง เมื่อวันที่ 15กรกฎาคม 2537 และเสด็จฯทรงวางศิลาฤกษ์ โรงเรียน ณ ที่ตั้งโรงเรียนและทรงเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ณ สถานที่เรียนชั่วคราว เมื่อวันที่29ธันวาคม2537องค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัยว่า“ให้ดำเนินไปตามแนวทางของโครงการโรงเรียนที่จัดตั้งไว้”

ไม่เพียงเท่านี้...ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่เหล่านั้นได้เข้าถึงการศึกษาอีกด้วย ซึ่ง ศธ. ได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน6แห่ง โดยทรงรับไว้เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้แก่ โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา1นครพนม,โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา2กำแพงเพชร,โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา3สุราษฎร์ธานี,โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี1อุดรธานี,โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2สงขลา และโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี3ฉะเชิงเทรา

รวมถึงโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ,โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ,โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ,โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ และโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10ทรงส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน ๐พระราชทานทุนการศึกษา

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล พระองค์มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการส่งเสริมการศึกษาให้เข้าถึงเยาวชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน ยากลำบาก แต่ประพฤติดี ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่อง และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาเป็นทุนการศึกษา นับเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย ในปีพ.ศ.2552 มีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”ขึ้น 

จากนั้นในปีพ.ศ.2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร หรือ ม.ท.ศ. โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการและทรงให้นำทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้การดำเนินการต่อเนื่องและยั่งยืน

โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นทุนพระราชทานให้กับนักเรียนที่จบในระดับการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน แต่เรียนดี ประพฤติดี มีวินัย มีคุณธรรม มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ สายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องจนจบระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถความต้องการของผู้เรียน ซึ่งทุนพระราชทานนี้ไม่มีภาระผูกพันในการใช้ทุนคืนแต่อย่างใดเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะเปิดโอกาสให้สามารถสมัครเข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารได้ตามความสมัครใจ

ในการดำเนินการคัดเลือกฯ ได้พระราชทานหลักการสำคัญว่า ยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัด มีกระบวนการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง โดยต้องลงไปเก็บข้อมูลที่พื้นที่จริงเพื่อให้ได้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมรับทุนพระราชทาน และทรงเน้นย้ำว่า“เมื่อทำโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง..”

ปัจจุบัน มีผู้ได้รับทุนพระราชทานตั้งแต่ปีพ.ศ.2552-2559 จำนวน 8 รุ่น โดยปีพ.ศ.2559 ถือเป็นรุ่นที่ 8 รวมมีนักเรียนทุนพระราชทานทั้งสิ้น 1,228 คน ขณะที่นักเรียนทุนพระราชทาน รุ่นที่แรกกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2559 โดยนักเรียนทุนพระราชทานต่างน้อมนำ ยึดมั่น ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานว่า“เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับ ประเทศชาติ” มาเป็นแนวทางในการดำรงตนด้วย

นอกจากนี้  ในแต่ละปียังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการมูลนิธิ ม.ท.ศ.และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ นำคณะนักเรียนทุนพระราชทานดีเด่นและครูดีเด่น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ซึ่งทุกคนล้วนปลื้มปิติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ