ไลฟ์สไตล์

ม.44 'มาสเตอร์คีย์ผ่าทางตัน'ปฏิรูปการศึกษา'?? 

ม.44 'มาสเตอร์คีย์ผ่าทางตัน'ปฏิรูปการศึกษา'??  : ทีมข่าวการศึกษา

           เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของ “กระทรวงศึกษาธิการ” ในยุครัฐบาลท็อปบู๊ท ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แค่ช่วง 14 เดือนนับตั้งแต่เมษายน 2558 “บิ๊กตู่” ก็ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.โดยอาศัยมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาแก้ไขปัญหา “กระทรวงครู” เกือบ 10 ฉบับ ยังไม่นับรวมคำสั่งตามมาตรา 44 เกี่ยวกับโยกย้ายและสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและพนักงานขององค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการอีกหลายราย

           เรียกได้ว่า “กระทรวงศึกษาธิการ” เป็นหน่วยงานที่ใช้คำสั่งมาตรา 44 เปลืองที่สุด!!

           ย้อนหลังตั้งแต่สมัย “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ออกมา 2 ฉบับ ประเดิมด้วย คำสั่งที่ 6/2558 “โยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ” โดยหมุนเวียนสลับเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูง หรือซี 11 โดยอ้างว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ตามติดด้วย คำสั่งที่ 7/2558 “การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค.” ที่ล้มบอร์ดคณะกรรมการบริหารของทั้ง 3 องค์กรพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงสั่งให้เลขาธิการคุรุสภาเลขาธิการสกสค.และผอ.องค์การค้าของ สกสค.ในสมัยนั้น หยุดการปฏิบัติหน้าที่พร้อมเริ่มปฏิบัติการตั้งทีมล้างบางการทุจริตใน สกสค.และองค์การค้าของสกสค. ตลอดจนรื้อคุรุสภาองค์กรที่ดูแลวิชาชีพครู

           เข้าสู่ยุค “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีคำสั่งรัวออกมาแบบติดๆ ไล่ตั้งแต่คำสั่งที่ 8/2559 เรื่อง “การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน” โดยโอนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาไว้ใต้ปีกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้การพัฒนาอาชีวศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมสกัดปัญหาการเด็กตีกัน แต่ดูเหมือนยังเกิดเหตุตีกันรายวัน 

           จน “บิ๊กตู่” ต้องใช้ไม้แข็งออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2559 กำหนด “มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา” ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ “กักตัว” นักเรียนนักเลงก่อเหตุได้ 6 ชั่วโมง ลงโทษจำคุกโทษปรับแก่ผู้ยุยงให้เกิดเหตุและสูญเสียชีวิต โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ เรียกว่าเป็นการใช้ "ไม้แข็ง" ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่บุตรหลานกระทำด้วย​​

           เพื่อเคลียร์การบริหารจัดการศึกษาในจังหวัด ที่มีรอยต่อและไม่สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้ จึงมีคำสั่งที่ 10/2559 เรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” พร้อมกับคำสั่งที่ 11/2559 “การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัด 77 จังหวัด ซึ่งผลจากคำสั่งที่ 10/2559 ทำให้ต้องยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาและให้โอนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอยู่ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคที่มี “รมว.ศึกษาธิการ” เป็นประธาน

           คำสั่ง 2 ฉบับนี้ มีแรงกระเพื่อมรุนแรงต่อการบริหารงานบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ ตั้งแต่การโยกย้ายการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง 3 เดือนแรกของช่วงรอยต่อ การทำงานยังไม่ราบรื่นการบรรจุบัญชีครูผู้ช่วยที่จะหมดอายุและให้ขยายไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าเร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ เตรียมเสนอขอใช้ มาตรา 44 เพิ่มเติมแนวทางการทำงานเพื่อ กศจ.และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ทำงานได้ราบรื่นขึ้น

           และมีคำสั่งที่ 23/2559 เรื่อง “การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือสมศ.” โดยให้ "ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผอ.สมศ.หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว

           ว่ากันว่า “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งที่ 28/2559 เรื่อง “ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” หลังมีกระแสประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะระบุจัดการศึกษาให้ฟรีแค่ 12 ปีตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ปัจจุบันรัฐจัดให้ฟรี 15 ปีตามโครงการเรียนฟรีเรียนดีอย่างมีคุณภาพ

           มีกระแสเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา “วิกฤติธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไทย” ไม่ควรมองข้ามข้อเสนอของ “ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ” ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ห้าม “คนนอก” หรือ "เกษียณ" เข้ามาเป็น “ผู้บริหาร” และห้าม “นายกสภา” กินตำแหน่งหลายมหาวิทยาลัย เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ในอุดมศึกษาไทย

           “มาตรา 44” เป็นกฎหมายพิเศษ เพื่อเคลียร์ข้อติดขัดในการทำงานต่างๆ ที่กฎหมายปกติจัดการไม่ได้ ครั้นจะรอแก้ไขกฎหมายก็กินเวลานานนับปีแต่คำสั่ง มาตรา 44 เมื่อมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายฉบับนั้นจะมีผลบังคับใช้ทันทีและหากพลิกดูรายละเอียดของคำสั่งทุกฉบับล้วนขึ้นต้นคำสั่งว่า “เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น” ดังนั้นต้องจับตาว่า มาตรา 44 จะเป็น “มาสเตอร์คีย์” ที่ไขประตูทุกบานไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริงหรือไม่!?
 
            
 

ข่าวยอดนิยม