Lifestyle

พบ 3 ปมปริศนา แกะรอยชาว'อยุธยา'ในพม่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พบ 3 ปมปริศนา แกะรอยชาว'อยุธยา'ในพม่า : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด

 
                    มิงกะลาบา... แปลว่า "สวัสดี" ในภาษาพม่า ภาษาทางการของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า ซึ่งเรารู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้ความสัมพันธ์ในอดีตนั้นอาจจะดูขมขื่นทุกครั้งเมื่อมีใครเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างไทย-พม่า แต่ในความขมขื่นนั้นไม่ใช่ความเกลียดชัง หากแต่นำมาขับเคลื่อนพลังให้เกิดแง่มุมดีๆ ให้ขบคิดและประสานความร่วมมือกัน ให้เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นปัจจุบันในฐานะที่ไทยกับพม่ากำลังรวมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
 
                    เมื่อเร็วๆ นี้ เอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย ประเทศพม่า ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ : ศึกษาในเขตปกครองมัณฑะเลย์และเขตปกครองสะกาย โดยระหว่างที่กรมศิลปากรยังไม่อาจสรุปได้ว่า กรณีสถูปที่เชื่อว่าบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ที่สุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ จะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิหรือไม่ โดยรอให้ทีมโบราณคดีทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันพิสูจน์หาข้อเท็จจริงก่อน แต่สิ่งที่ค้นพบในการเดินทางครั้งนี้คือ “ร่องรอยของชาวอยุธยา” ที่ปรากฏในหลายเมืองของมัณฑะเลย์ 
 
                    ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาการสืบค้นร่องรอย “โยเดีย” ในพม่า เล่าว่า ในพงศาวดารฝ่ายไทย กล่าวว่า เชลยอยุธยาถูกกวาดต้อนไปพม่าอย่างน้อย 3 ครั้งใหญ่ๆ แต่ละครั้งมีเจ้านายชั้นสูงถูกนำไปเป็นเชลยด้วย พ.ศ. 2106 สมัยสมเด็จพระจักรพรรดิทรงยอมจำนนต่อบุเรงนอง พ.ศ. 2112 บุเรงนองยกทัพปราบพระมหินทร์แต่เนื่องจากพระองค์สวรรคตระหว่างทาง พระมหาธรรมราชาผู้สืบทอดสมบัติจึงต้องส่งสมเด็จพระนเรศวรและพระสุพรรณกัลยาไปเป็นตัวประกัน พร้อมบรรดาราษฎร  ณ กรุงหงสาวดี ต่อมา พ.ศ. 2310 จากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้ถูกนำตัวไปยังเมืองอินวาทั้งที่อยู่ในเพศบรรพชิต รวมถึงชาวช่าง นักดนตรี นาฏศิลป์ ฯลฯ
 
                    “เชลยศึกเหล่านี้ มีการตั้งชุมชนบ้านเรือน ถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีมารุ่นสู่รุ่นกระจัดกระจายตามเมืองต่างๆ ในพม่าทั้งในกรุงอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ มาจนถึงปัจจุบันการแกะรอยชะตากรรมชาวอยุธยา หรือ โยดะยา หรือ โยเดีย ในพม่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่เหลือเอกสารที่จดบันทึกรายชื่อเชลยศึก การเข้าถึงเอกสารชั้นต้นของพม่าที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งปัจจุบันพม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ ที่มีลักษณะเมืองปิดเข้าถึงได้ยากโดยเฉพาะชาวต่างชาติ สิ่งที่ยังคงเป็นหลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ซึ่งประกอบด้วยความทรงจำของชุมชน โบราณสถาน ดนตรี และจิตรกรรมฝาผนัง โดยยังถือว่าราชพงศาวดารของพม่าและไทยก็ยังต้องถือเป็นหลักในการค้นคว้าที่อาจเชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นๆ ได้”
 
                    อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางไปลงพื้นที่ครั้งนี้ของกรมศิลปากร เรายังได้พบร่องรอยชาว “โยเดีย” หลายแห่ง ที่เห็นชัดเจน 3 แห่ง โดย แห่งที่ 1 ภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาในอุโบสถวัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย นับเป็นหลักฐานใหม่ด้านจิตรกรรมที่เกี่ยวกับชาวอยุธยาในพม่า สร้างในสมัยราชวงศ์หญ่าวยัน (พ.ศ. 2140-2284) แม้ว่ายังไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าช่างผู้สร้างงานจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถแห่งนี้เป็นช่างไทย แต่ลายกนกที่พม่าเรียกว่า “ลวดลายพันธุ์พฤกษาแบบอยุธยา” ในยุคคองบองที่มัณฑะเลย์ตามความเห็นของนักวิชาการพม่าก็อาจเป็นเครื่องยันยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างลวดลายที่แพร่มากับช่างไทยได้ อาจมีช่างจากเชียงใหม่ร่วมงาน โดยสังเกตจากตุงในจิตรกรรม แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือลายปูนปั้นตกแต่งหน้าบันด้านหน้าที่เป็นรูปบุคคลคุกเข่า ทำให้นึกถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม จ.เพชรบุรี ฯลฯ แต่น่าเสียดายปัจจุบันมีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมดแล้ว
 
                    แห่งที่ 2 การแกะรอยตามบันทึก 27 ปีของ สด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เผยคำบอกเล่า พระอินตาคา สมภารวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย ยันพบหลักฐาน “เจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ” มรณภาพ มีพิธีปลงพระศพใหญ่โต เขียนไว้ในศิลาจารึกภาษาสันสกฤต แล้วนำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของวัด พระอินตาคายังได้นำตัวจารึกที่เป็นกระดาษสามาให้ตนและคณะได้ชมด้วย น่าเสียดายปัจจุบันหลักฐานหลายอย่างสูญหาย เจดีย์ที่พบมีการบูรณะในแบบพม่าหมดแล้ว และเจ้าอาวาสท่านก็มรณภาพไปแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งและบันทึกของพระอินตาคาไปยังเมืองย่างกุ้งแล้ว
 
                    แห่งที่ 3 จากการบอกเล่าของ นพ.ทิน หม่าวจี ชาวเมืองมัณฑะเลย์ที่มีเชื้อสายชาวอยุธยาและสนใจค้นคว้าศึกษา สำรวจและจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับชาวอยุธยาในมัณฑะเลย์ว่า ได้รับการบอกเล่าจากบิดาคือนายอูหม่อง หม่องทิน เล่าเหตุการณ์ตอนเสียกรุง พ.ศ. 2310 เรื่องเชลยไทยในมัณฑะเลย์ และงานประเพณีบูชาพระเจดีย์ทรายซึ่งอยู่ริมคลองชะเวตาชองมาตั้งแต่เด็ก โดยต้นตระกูลสืบเชื้อสายมาจากชาวอยุธยาที่มีอาชีพด้านนาฏศิลป์ ต่อมาจึงเริ่มศึกษาเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยในย่านวาแหง ย่านมินตาสุ ซึ่งเป็นที่ที่ราชสำนักจัดให้เจ้านายยวนและอยุธยาเข้าพำนัก ย่านโมงตีสุ ที่มีตลาดโยเดีย และศาลพระราม บูชาหัวโขนรามเกียรติ์ มีวัดพระเจดีย์สามองค์ โดยได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่ม ปัจจุบันในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา ตนยังได้พบปะพูดคุยกับชาวไทยที่สืบเชื้อสายชาวอยุธยาเป็นประจำประมาณ 30 คน บริเวณย่านมินตาสุยังมีการทำขนมไทยขาย เช่น ขนมครก ลอดช่อง หม้อแกง ฯลฯ 
 
                    ล่าสุด เอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร  บอกว่า ขณะนี้ได้รับข่าวดีว่าพบหลักฐานที่เป็นสไลด์สำเนาหลักศิลาจารึก ภาษาสันสกฤต ของนายสัญชัย หมายมั่น อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่เป็นคณะทำงาน ร่วมเดินทางไปกับนายสดเมื่อปี 2530  ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุ ประเทศไทยเรานี้เอง และขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร และให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพม่า ศึกษารายละเอียดของข้อความในสไลด์ดังกล่าว หากเนื้อความระบุว่า มีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ มรณภาพ และนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์วัดข่ามินเวจริง ก็จะประสานกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุดพม่า โดยทั้ง 3 ปมปริศนานี้ทางกรมศิลปากรจะส่งชุดคณะทำงานไปศึกษารายละเอียดร่วมกับกรมโบราณคดีพม่าถึงแนวทางศึกษาต่อไป 
 
 
 ............................
 
(พบ 3 ปมปริศนา แกะรอยชาว'อยุธยา'ในพม่า : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด)
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ