Lifestyle

เปิดงานวิจัยเด็กอาชีวะ'ตีโจทย์ยางพาราตกต่ำ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดงานวิจัยเด็กอาชีวะ'ตีโจทย์ยางพาราตกต่ำ': โดย...ทีมข่าวการศึกษา

               ยางพาราเป็นพืชอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ปีละกว่า 670,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลก จำนวน 3.12 ล้านตัน คิดเป็น 33-35% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติของโลก ซึ่งมีปริมาณ 10.66 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูกยางรวมทั่วประเทศ 18.76 ล้านไร่

               ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2.6 ล้านตัน ในปี 2545 เป็น 3.77 ล้านตัน ในปี 2555 ขณะที่การส่งออกยางธรรมชาติ เพิ่มจาก 2.35 ล้านตัน ในปี 2545 เป็น 3.12 ล้านตัน ในปี 2555 ส่วนการใช้ในประเทศเพิ่มจาก 278,355 ตัน ในปี 2545 เป็น 505,052 ตัน ในปี 2555

                แต่ช่วงที่ผ่านมาราคายางพาราในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง จาก 150-190 ต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นปี 2554 มาอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากเกษตรกรผู้ปลูกยางให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ

               ขณะที่นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำด้วย "การแทรกแซง" เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ พร้อมกับเสนอให้มีการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดการนำวัตถุดิบยางที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันไทยส่งออกยางในรูปวัตถุดิบถึง 86% ของที่ผลิตได้ มีเพียง 14% ที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ

                จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า หากเปรียบเทียบในรูปมูลค่าของยางในรูปของวัตถุดิบ มีมูลค่าที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้าที่ผลิตโดยใช้ยางเป็นวัตถุดิบ เช่น มูลค่าเพิ่มของการแปลงยางธรรมชาติให้เป็นยางล้อรถ จะทำให้มูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 4-6 เท่าสำหรับยางล้อจักรยานยนต์ 8 เท่าสำหรับล้อรถบรรทุก และ 10 เท่าสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

                ด้วยเหตุนี้เอง การนำวัตถุดิบยางที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอื่นๆ จะทำให้เกิดผลผลิตที่มีมูลค่ามากขึ้น

                หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยางพาราและเส้นใยไฟเบอร์กลาสในการรองรับกำลังของพื้นปูน”ของนายนภสินธุ์ เจียมเดชารัตน์ อดีตเยาวชนอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี (วท.สุรนารี) ที่ได้รับทุนการสนับสนุน โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. เมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยมี ดร.สายันต์ แก่นนาคำ อาจารย์ประจำจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา เป็นที่ปรึกษาโครงการ

               นภสินธุ์ เล่าว่า แรงบันดาลใจในการจัดทำโครงการนี้มาจากการที่เห็นว่า ประเทศไทยมียางพาราจำนวนมาก จึงลองนำเอายางพารามาผสมกับปูนแล้วอัดบล็อกดู ปรากฏว่าไม่ทน แต่เมื่อใส่เส้นใยไฟเบอร์กลาสเข้าไปสัก 2-3 ชั้น ก็เริ่มเห็นว่ามีความคงทนมากขึ้น สามารถรองรับกำลังของพื้นปูนได้

                โครงการนี้เป็นโครงการต่อยอดจากการศึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้านงานพื้นคอนกรีต เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศเนื่องจากยางพาราเมื่อก่อนมีแต่ภาคใต้ แต่ตอนนี้เริ่มมีปลูกในภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว เลยคิดว่าน่าจะนำยางพารามาใช้ประโยชน์ ต่อยอดได้มากกว่านี้ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยางพาราไปรองรับกำลังของพื้นโรงงานอุตสาหกรรม เพราะบางพื้นโรงงานต้องใช้กำลังมากในการรองรับเครื่องจักร จึงมองว่าน่าจะเป็นฐานข้อมูลที่สามารถต่อยอดได้

                งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำตาข่ายไฟเบอร์กลาสขนาด 5x5 เซนติเมตร มาแช่ในน้ำยางพารา แล้วนำไปตากแดดเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นทำการอบด้วยอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที ก่อนที่จะนำมาวางแบบหล่อเพื่อเทคอนกรีตทับลงไปบนแผ่นตาข่ายที่แช่น้ำยางพารา มาเปรียบเทียบกับตาข่ายที่ไม่มีส่วนผสมของยางพารา ซึ่งผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า กำลังรับแรงอัดค่าเฉลี่ยในการรับแรงอัดของคอนกรีตที่ใช้ตาข่ายที่แช่น้ำยางพาราสามารถรับแรงอัดได้ดีกว่าคอนกรีตที่ไม่มีการเสริมกำลังใดๆ

               ดร.สายันต์ แก่นนาคำ อาจารย์ประจำ จาก มทส. เล่าว่า นายนภสินธุ์ได้เชิญเป็นที่ปรึกษาโครงการ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และถือเป็นเรื่องดีที่ สสค.เปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเสนอโครงการได้ด้วยตนเอง หากเล็งเห็นศักยภาพที่มีอยู่ เพราะยังมีเยาวชนอีกหลายคนที่มีความสามารถ หากเขาได้รับโอกาสและความช่วยเหลืออย่างตรงจุดก็สามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ได้อย่างแน่นอน

               สำราญ พงษ์กลาง ผอ.วท.สุรนารี มองว่า อยากให้มีการนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปศึกษาต่อ เพราะหากสามารถนำมาใช้ได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก เพราะเป็นการนำวัตถุดิบยางพาราที่ปัจจุบันมีการปลูกทั่วทุกภาคของประเทศมาใช้ ทำให้ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราของไทย โดย วท.สุรนารี ยินดีที่จะทดลองและวิจัยในเรื่องนี้ต่อ

                “การวิจัยครั้งนี้เป็นแนวคิดของเด็กไทย ที่คิดนำวัตถุดิบในธรรมชาติในบ้านเรามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราของไทย และก็น่าจะช่วยลดต้นทุนให้แก่อุตสาหกรรมก่อสร้างอีกด้วย เพราะถ้าดูในเบื้องต้นแล้ว การผลิตในประเทศน่าจะถูกกว่าต่างประเทศ” ผอ.วท.สุรนารี กล่าว

                แม้การทดลองครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดอีกหลายด้าน แต่งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อยอดการรับแรงของงานคอนกรีต ที่สามารถประยุกต์ใช้คุณสมบัติของยางพาราในงานคอนกรีต เพื่อเพิ่มการรองรับน้ำหนักของอาคารบ้านเรือนหรือตึกต่างๆ แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราของไทยในระยะยาวอีกด้วย

               
....................

(เปิดงานวิจัยเด็กอาชีวะ'ตีโจทย์ยางพาราตกต่ำ': โดย...ทีมข่าวการศึกษา )

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ