ไลฟ์สไตล์

มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมปี55

มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมปี55

18 ธ.ค. 2555

มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมปี55 ประเพณีรับบัวบางพลีคว้ารางวัล

          กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2555 จำนวน 70 รายการ จาก 7 สาขา พร้อมกับมอบรางวัลให้ชุมชนที่ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีก 14 ชุมชน หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนชาวบางพลี จาก ประเพณีรับบัว
 
          นางวิไล วิทยานารถไพศาล รักษาการอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสิรมวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 รวมจำนวน 80 รายการ ด้วยตระหนักว่าเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มุ่งส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ยกย่องภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ส่งเสริมศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย
 
          นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกต่อไปในอนาคต
 
          ซึ่งในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2555 ใน 7 สาขา จำนวนทั้งสิ้น 70 รายการด้วยกัน จากใน 7 สาขาด้วยกัน เช่น สาขาศิลปะการแสดง สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และสาขาภาษา
 
          โดยครั้งนี้ มีนายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมมอบเกียรติบัตรให้ชุมชนที่ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน จำนวน 14 ชุมชน จาก สาขาศิลปะการแสดง รายการหนังใหญ่ มี 3 ชุมชน คือ หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี, หนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง และหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี
          -สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม มี 7 ชุมชน คือ กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านนาโยง บ้านนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง, กลุ่มกระดิ่งทองเหลืองบ้านเขาลอยมูลโค ต.ดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี, ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว บ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี, กลุ่มผลิตเกวียนสลักลายบ้านนาสะไมย์ บ้านนาสะไมย์ อ.เมือง จ.ยโสธร, เครื่องทองโบราณสกุลช่างเพชรบุรี ตระกูลชูบดินทร์ จ.เพชรบุรี, กลุ่มขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย กทม. และชุมชนบ้านบาตร กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย ชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.
 
          สาขาภาษา มี ๓ ชุมชน คือ ภาษาชองชุมชนชอง จ.จันทบุรี, ภาษาญัฮกุร ชุมชนญัฮกุร จ.ชัยภูมิ และภาษาก๋อง ชุมชนก๋อง จ. สุพรรณบุรี
 
          สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล (ประเพณีรับบัว) ชุมชนชาวบางพลี จ.สมุทรปราการ
          นอกจากนั้นยังมีการแสดงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนฯ ในสาขาศิลปะการแสดง เช่น การแสดงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา(ภาคเหนือ), การแสดงก้านกกิงกะหร่า(การแสดงวัฒนธรรมของคนไต), การแสดงกันตรึม(ดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสานใต้) เป็นต้น และการจัดแสดงนิทรรศการ รวมถึงการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนในครั้งนี้
.......................................
          มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2555
          สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 12 รายการ ประกอบด้วย
          1.1 ประเภทดนตรี 5 รายการ ได้แก่ ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู, ซอสามสาย, เพลงหน้าพาทย์, กันตรึม, เจรียง และ กาหลอ
          1.2 ประเภทการแสดง 7 รายการ ได้แก่ ก้านกกิงกะหร่า, ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา, รำฝรั่งคู่, ละครดึกดำบรรพ์, โนราโรงครู, มะโย่ง และรองเง็ง
             
          สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม จำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย
          2.1 ประเภทผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า 5 รายการ ได้แก่ ผ้าทอไทครั่ง, ผ้าทอไทลื้อ, ผ้าทอกะเหรี่ยง, ผ้าทอไทยวน และผ้าทอผู้ไทย
          2.2 ประเภทเครื่องรัก 2 รายการ ได้แก่ เครื่องมุกไทย และ เครื่องรัก
          2.3 ประเภทเครื่องโลหะ 2 รายการ ได้แก่ ขันลงหินบ้านบุ และบาตรบ้านบาตร
          2.4 ประเภทงานศิลปกรรมพื้นบ้าน 2 รายการ ได้แก่ สัตตภัณฑ์ล้านนา และโคมล้านนา
             
          สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน จำนวน 14 รายการ ประกอบด้วย
          3.1 ประเภทนิทานพื้นบ้าน 12 รายการ ได้แก่ นิทานพระร่วง, นิทานตาม่องล่าย, พระสุธนมโนห์ราภาคใต้, วันคาร, ตำนานเจ้าหลวงคำแดง, ตำนานพระธาตุดอยตุง, ตำนานเจ้าแม่สองนาง, ตำนานอุรังคธาตุ, ตำนานหลวงปู่ทวด, ตำนานนางโภควดี, ตำนานสร้างโลกของภาคใต้ และวรวงศ์ 
          3.2 ประเภทตำรา 2 รายการ ได้แก่ ปักขะทึนล้านนา และตำราศาสตรา
             
          สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย
          4.1 ประเภทการเล่นพื้นบ้าน 3 รายการ ได้แก่ ไม้หึ่ม , หมากเก็บ และ เสือกินวัว
          4.2 ประเภทกีฬาพื้นบ้าน 4 รายการ ได้แก่ หมากรุกไทย, ตะกร้อลอดห่วง, วิ่งวัว และวิ่งควาย
          4.3 ประเภทศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว 1 รายการ ได้แก่ เจิง
             
          สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม จำนวน 7 รายการ ประกอบด้วย
          5.1 ประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี 5 รายการ ได้แก่ การผูกเกลอ, การผูกเสี่ยว, เทศน์มหาชาติ, พิธีทำบุญต่ออายุ และการแต่งกายบาบ๋า เพอนารากัน
          5.2 ประเภทงานเทศกาล 2 รายการ ได้แก่ สารทเดือนสิบ และประเพณีรับบัว
  
          สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล จำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย
          6.1 ประเภทอาหารและโภชนาการ 6 รายการ ได้แก่ สำรับอาหารไทย, แกงเผ็ด, แกงเขียวหวาน, ส้มตำ, น้ำพริก และปลาร้า
          6.2 ประเภทการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน 3 รายการ ได้แก่ ลูกประคบ, ยาหอม และหมอพื้นบ้านรักษากระดูกหัก
          6.3 สาขาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และไสยศาสตร์ 1 รายการ ได้แก่ คชศาสตร์ชาวกูย
          6.4 ชัยภูมิและการตั้งถิ่นฐาน จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ดอนปู่ตา
             
          สาขาภาษา จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วย
          7.1 ประเภทภาษาไทยถิ่น จำนวน 3 รายการ ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา, อักษรไทยน้อย และ อักษรธรรมอีสาน
          7.2 ประเภทภาษากลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ภาษาชอง, ภาษาญัฮกุร และภาษาก๋อง