ข่าว

ปัจจัยภายใน-นอกหนุน "ยาง" มีเสถียรภาพ กยท. ฟันธง ไตรมาส 2 ส่งออกสดใส

19 พ.ค. 2565

กยท.เผยสถานการณ์ "ยาง" ไตรมาส2 ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศเกื้อหนุน โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัว ทำให้ความต้องการยางล้อขยายตัว มั่นใจแนวโน้มส่งออก "ยางไทย" สดใส

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางในไตรมาสที่ 2(เมษายน-มิถุนายน)ปี 65 ว่า "ราคายาง" มีแนวโน้มที่ดีและมีเสถียรภาพมากขึ้นเนื่องจากปริมาณต้องการใช้ "ยาง" ยังมีมากกว่าปริมาณผลผลิตเช่นเดียวกับไตรมาสแรกในประเทศไทย  คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 763,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.37 % เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหยุดการกรีดยาง

     ปัจจัยภายใน-นอกหนุน \"ยาง\" มีเสถียรภาพ กยท. ฟันธง ไตรมาส 2 ส่งออกสดใส

 

ประกอบกับสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 เป็นต้นมาซึ่งกรมอุตุฯได้คาดการณ์ว่าจะตกไปจนถึงปลายมิ.ย. 65 ประกอบกับสถานการณ์ระบาดของโรคใบร่วงส่งผลให้ "ผลผลิตยาง" ไตรมาสนี้จะออกสู่ตลาดลดลง จะทำให้การส่งออกลดลงด้วยเหลือประมาณ 994,000 ล้านต้นหรือลดลง 6.36 % 

 

นอกจากนี้ปัจจัยภายนอก ปท.ส่งผลดีต่อสถานการณ์ยางโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ ผลผลิตยางลดลดกว่า 30% เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ปัญหาโรคใบร่วงที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้และสวนยางบางแห่งเปลี่ยนจากยางพาราไปปลูกปาล์มน้ำมันที่มีราคาดีกว่าในขณะที่ประเทศผู้ปลูกยางรายใหม่ไม่ว่าจะเป็น ลาว  เวียดนาม คุณภาพยางย้งต่ำไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 

      ปัจจัยภายใน-นอกหนุน \"ยาง\" มีเสถียรภาพ กยท. ฟันธง ไตรมาส 2 ส่งออกสดใส

 

ส่วนแนวโน้มการส่งออกยางของไทยนั้น  แม้ไตรมาสที่ 2 จะส่งออกลดลง   แต่มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสต๊อกยางของประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของยางจากไทย พบว่า สต๊อกในเดือนเมษายน2565 ที่ผ่านมา ลดลงจากเดือนมีนาคม 2565  จีนต้องนำเข้ายางเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกยาง

 

เช่นเดียวกับตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา  EU  ญี่ปุ่น ยังคงขยายตัวเหนือระดับ50 โดยดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP สหรัฐอเมริกาขยายตัว59.20  EU ขยายตัว55.50 และญี่ปุ่นขยายตัว 53.50    

      ปัจจัยภายใน-นอกหนุน \"ยาง\" มีเสถียรภาพ กยท. ฟันธง ไตรมาส 2 ส่งออกสดใส

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมยางล้อซึ่งใช้ "ยางธรรมชาติ" เป็นวัตถุดิบเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์ Covid – 19  คลี่คลาย โดยอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ประเทศจีนเพิ่มขึ้น10.2%  สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 19.3% และ
ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 13.1% ในขณะที่อุตสาหกรรมยางล้อรถบรรทุกมียอดผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยจีนเพิ่มขึ้น  2.5% อินเดียเพิ่มขึ้น16.9% และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 16.4% 

 

ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ "ราคายาง" เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพโดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี ค.ศ. 2021 ยอดการผลิตสูงถึง  6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 109% จากปีก่อนหน้า

 

โดยจีนครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดมากถึง 3.2 ล้านคันหรือประมาณครึ่งหนึ่งของยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทำให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในปี 2022 

 

ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางล้อที่มีสมรรถนะสูงกว่ายางล้อทั่วไปซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย 

นอกจากนี้สถานการณ์การขนส่งทางเรือดีขึ้น ทิศทางของค่าขนส่งทางเรือปรับตัวลดลง รวมถึงภาวะขาดดุลทางอุปทานยางธรรมชาติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ยอดผู้ติดเชื้อ Covid –19 ลดลง ทำให้กิจกรรมในหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณยางมีจำนวนจำกัด  ดังนั้นแนวโน้มที่ยางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพจึงมีความเป็นไปได้สูง

 

อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องปรับตัวในการทำสวนยางให้ได้มาตรฐานด้วยซึ่งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนโดยได้มีการนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขในการรับซื้อยาง  ดังนั้น กยท. จึงส่งเสริมให้ "เกษตรกรชาวสวนยาง" ทำสวนยางให้ได้มาตรฐาน  FSC และนำระบบ Rubberway  เข้ามาใช้สำรวจและเก็บข้อมูลของชาวสวนยางอีกด้วย