ข่าว

อรพิน พิพัฒน์วิไลกุล เปิดนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ เสนอเข้าแผนพัฒนาจังหวัด สร้างงาน สร้างคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐ จับมือเอกชน เยี่ยมชมความคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เตรียมเสนอเข้าบรรจุในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปี 2566 - 2570 ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด ในการสร้างงาน สร้างรายได้ และศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสานตอนบน

     เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกองเอก สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด นาง อรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการฯ ได้บรรยายสรุปความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

     ให้ทาง นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ขณะเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี 

     โดยเป็นการบรรยายถึง วิสัยทัศน์ ความเป็นมา แผนงานการดำเนินงานและแนวทางการดำเนินธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ณ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรม ต.โนนสูง .เมือง จ.อุดรธานี เพื่อให้เข้าใจภาพรวม แผนกลยุทธ์และการตลาด ปัญหาและอุปสรรค ข้อจำกัดด้านต่างๆ 

     นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ       
    
    

     นิคมฯมีพื้นที่ทั้งหมด 2,170 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก พื้นที่ 1,325 ไร่ ระยะสอง พื้นที่ 845 ไร่ คาดว่าจะมีโรงงาน 80–100 โรงงาน การจ้างงาน 15,000 –20,000 อัตรา คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 74,000-100,000 ล้านบาท

     สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructures) ได้แก่ การก่อสร้างถนนในนิคม ไฟฟ้า น้ำประปา และบ่อกักเก็บน้ำหรือบ่อหน่วงน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และศูนย์คลังสินค้าและกระจายสินค้า (Logistics Park) 

     ทางนิคมฯ ได้วางแผนส่วนนี้มีพื้นที่ถึง 600 ไร่ สามารถรองรับผู้ประกอบการที่ต้องการเช่าและซื้อพื้นที่คลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า 

     ทั้งนี้การก่อสร้างคลังสินค้าทั้งสามหลัง 1 , 2 และ 3 มีความคืบหน้าไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และแผนการก่อสร้างคลังสินค้าที่ 3, 2 และ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายน 2564 ตามลำดับ และพร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มพื้นที่ 

     หลังจากนั้นคณะได้เยี่ยมชมบริเวณทั้งในและนอกบริเวณนิคมอุตสาหกรรม ขณะดำเนินการก่อสร้างของแต่ละส่วนตามที่วางแผนไว้ รวมถึงส่วนพื้นที่การบริหารจัดการ Logistics Park 

     และบริเวณรอบๆ นิคมอุตสาหกรรม เช่น สถานีรถไฟหนองตะไก้ หนองน้ำธรรมชาติ หนองนาตาล รวมถึงถนน Local road ที่กำลังดำเนินการร่วมกับการทางรถไฟแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เรียบคู่ขนานทางรถไฟไปยังรอบเมืองอุดรธานี ระยะทาง 12.74 กิโลเมตร 

     ซึ่งเส้นทางนี้จะช่วยลดความแออัดของการจราจรในเมืองอุดรธานี อันเกิดจากการขนส่งสินค้าของรถบรรทุกในเมืองได้เป็นอย่างมีระบบ และสร้างความปลอดภัย ช่วยลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

     ทั้งนี้ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แสดงความชื่นชมในความมุ่งมั่นในการสร้างนิคม ความคืบหน้าและความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

     รวมถึงเป็นนิคมอุตสาหกรรมตัวอย่างที่เกิดจากภาคเอกชนในการผลักดันอย่างแท้จริง โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

     ทั้งนี้จุดประสงค์หลักในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมคือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ที่จะได้รับต่อทั้งแรงงานในท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่รอบตัวนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโอกาสการลงทุนจากผู้ประกอบการทั้งนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เห็นศักยภาพ

     และโอกาสทางธุรกิจในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ตาม วิสัยทัศน์ของนิคมที่ว่า “นิคมสีเขียว สร้างงานเพื่อคุณภาพชีวิตเชื่อมโยงเศรษฐกิจก้าวไกล” 

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างอาชีพที่หลากหลาย สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากแต่ภูมิภาคที่อพยพแรงงานที่ออกไปประกอบอาชีพ แล้วกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดจำนวนหลายแสนคนในปัจจุบัน 

     นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กล่าวว่า การเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าการดำเนินงานครั้งนี้ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ควบคุมดูแลด้านยุทธศาสตร์จังหวัดและภาคเศรษฐกิจจังหวัด และภาคเอกชน โดยหอการค้าฯ ที่ได้สนับสนุนผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ มาโดยตลอดสำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

     ถือว่ามีความได้เปรียบด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนามตอนเหนือ และจีนตอนใต้ 

     เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว รองรับอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย และศูนย์โลจิสติกส์

     โดยจังหวัดและหอการค้าฯ ได้รับมอบถึงแผนการดำเนินงานหลักและกิจกรรมโดยรวมของทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยจะนำเสนอโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เข้าสู่บรรจุในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ปี 2566-70 

     ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัดในการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เป็นการยกระดับเมืองเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน 

     รวมถึงการนำเสนอต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการเป็นพื้นที่ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการจ้างานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ