ข่าว

จี้เข้ม"ดิลิเวอรี่"โหด ศรีสุวรรณโวยโขกค่าส่งขู่ร้องศาล -ค่าไฟลดอีก3%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสุวรรณ" โวยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ฉวยวิกฤติโควิด-19 โขกค่าบริการคนกักตัว จี้รัฐใช้ ก.ม.ควบคุมขู่ร้องศาล ด้าน กกพ.ผุดแพ็กเกจเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้าลดค่าไฟลงอีก 3%มีผลทันที เริ่มรอบบิล เม.ย.-มิ.ย. รวม 3 เดือน

               วันที่ 2 เมษายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เชื่อรัฐยอมกักตัวอยู่กับบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการโขกสับราคาอย่างหน้าเลือดจากธุรกิจรับส่งอาหารไปส่งให้ถึงบ้าน หรือเดลิเวอรี่ว่า มีการกำหนดราคาค่าบริการอย่างไร้การควบคุม เป็นผลจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และนโยบายของรัฐบาลในการรณรงค์ให้ประชาชนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน และสั่งร้านอาหารห้ามนั่งกิน ทำให้เป็นช่องทางให้ธุรกิจรับ-ส่งอาหารเป็นที่ต้องการของประชาชน และเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอันมาก มีการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมในการหาร้านค้า ร้านอาหาร เข้าร่วมบริการ

 

 

 

 

               “แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะหักค่าส่งยังไม่ร่วมค่าแวต 35% (ถ้ารวมแวตก็ 42%) ยกตัวอย่าง ร้านค้าขายข้าวแกงกล่องละ 40 บาท ก็จะเหลือ 25.20 บาท หากต้องให้เหลือ 40 บาทเพื่อให้พอมีกำไรอยู่บ้าง ต้องตั้งราคาที่กล่องละ 63.50 บาท ซึ่งด้วยราคานี้ทำให้ขายยาก และภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค และยังไม่รวมเงินที่ร้านค้าที่เข้าร่วมบริการกว่าจะได้รับอีก 45 วัน รวมทั้งการที่ต้องเซ็นสัญญาร่วมธุรกิจอย่างน้อย 12 เดือนอีกด้วย แม้ปัจจุบันมีบางธุรกิจเดลิเวอรี่พยายามล่อใจลูกค้าโดยลดค่าคอมมิชชั่นลงมาเหลือ 30% ก็ตาม” นายศรีสุวรรณกล่าว

               นายศรีสุวรรณบอกอีกว่า ปัญหาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีการกำหนดราคากันเองอย่างไร้การควบคุม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่พยายามจะปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคมด้วยการอยู่กับบ้านไม่ออกนอกที่อยู่อาศัยในยุคโควิด-19 แต่คนเราต้องกินต้องใช้ จึงหันไปพึ่งบริการธุรกิจรับส่งอาหารดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่กลับหนีเสือปะจระเข้โดยที่หน่วยงานภาครัฐไม่คิดที่จะเข้ามาควบคุม ทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ผิดกฎหมายชัดๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกรมการค้าภายใน ที่จะต้องรีบเร่งออกกฎระเบียบมาควบคุมดูแลธุรกิจเหล่านี้ไม่ให้ฉกฉวยโอกาสในยามที่ประชาชนเดือดร้อนเช่นนี้ แต่ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นไม่ทำอะไร สมาคมจะนำความขึ้นฟ้องต่อศาล ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

               ขณะที่นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท โดยจะเร่งดำเนินการให้มีผลในการเรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินบริหารค่าไฟฟ้า ประมาณ 5,610 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการมาตรการดังกล่าว

               “การลดค่าไฟฟ้าลงอีก 3% เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดค่าไฟฟ้า บรรเทาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” นายคมกฤช กล่าว

               โฆษก กกพ.กล่าวอีกว่า ในส่วนมาตรการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จากการประกาศใช้พระราชกำหนด เพื่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กกพ.ยังได้มีมติให้ผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 ให้มีผลตั้งแต่เมษายน–มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวที่ปัจจุบันต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำ จะเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้าตามความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริง

               “สำนักงาน กกพ. ยังคงติดตามประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในส่วนที่มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งในด้านของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสำนักงาน กกพ. ยังคงมีเงินบริหารค่าไฟฟ้าเพียงพอที่จะดูแลค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพตลอดปี 2563” นายคมกฤช กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

               ส่วนธนาคารกรุงไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่ ล่าสุดพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อปกตินาน 3 เดือน พร้อมเปิดช่องทางใหม่ให้ยื่นขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ www.krungthai.com/covid19 และ Krungthai Contact Center โทร.0-2111-1111 ได้ทุกวันตลอด 24 ชม.

               รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ประกาศให้พนักงานหยุดงาน 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 พร้อมนี้จะมีการปรับลดเงินเดือนพนักงานตั้งแต่ 10-50%

               อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การบินไทยได้ประกาศหยุดบินทุกเส้นทางชั่วคราว เส้นทางไปยุโรป เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 และภูมิภาค เริ่ม 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ