ข่าว

ส่งเสบียงถึงบ้านผ่านแอพ"Co-op Click" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่งเสบียงถึงบ้านผ่านแอพ"Co-op Click" ช่วย"แท็กซี่"สนองนโยบายอยู่บ้านเพื่อชาติ 

         ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) ผนึกเครือข่ายสหกรณ์รถแท็กซี่กรุงเทพฯ กว่า 50 สหกรณ์ช่วยอาชีพคนขับแท็กซี่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วยการรับออเดอร์สินค้าสหกรณ์ผ่านแอพ Co-op Click ทั้งข้าวสาร อาหารแห้งกว่า 100 รายการ จัดส่งถึงหน้าบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

         ประธานชุมนุมสหกรณ์ “ศิริชัย ออสุวรรณ” ยันหากประสบความสำเร็จจะใช้บริการต่อการกระจายผลไม้ภาคตะวันออกสู่ผู้บริโภคช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ขณะประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ยอมรับได้หารือถึงข้อกำหนดด้านกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบกในการอนุญาตรถโดยสารสาธารณะ “แท็กซี่” ที่ให้ขนคนไม่ใช่ขนของ

ส่งเสบียงถึงบ้านผ่านแอพ"Co-op Click" 

ศิริชัย ออสุวรรณ

   

                นับเป็นอีกทางออกของผู้ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำอย่างคนขับรถแท็กซี่ให้อยู่รอดในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสืบเนื่องมาจากประธานเครือข่ายสหกรณ์รถแท็กซี่กรุงเทพฯ นำสมาชิกผู้ขับรถแท็กซี่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ในช่วงวิกฤติ จนในที่สุดก็เห็นแสงสวางที่ปลายอุโมงค์เมื่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์แอพพลิเคชั่น “CO-op Click” โดยใช้บริการรถแท็กซี่ในการขนส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคในช่วง “อยู่บ้าน หยุดชื้อ เพื่อชาติ” ตามนโยบายรัฐบาล

               "สั่งสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น “CO-op Click” เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่อยากจะช่วยคนขับแท็กซี่ในช่วงภาวะวิกฤติ" ศิริชัย ออสุวรรณ" ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เผยกับ “คมชัดลึก” ถึงมาตรการช่วยเหลืออาชีพขับแท็กซี่ในช่วงวิกฤติ โดยมีอยู่ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย แบบแรกสหกรณ์จะจัดชุดสินค้าพื้นฐาน ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ ที่จำเป็นติดไว้ในรถแท็กซี่คันละ 2-3 ชุด ถ้าผู้โดยสารอยากได้ก็จะจำหน่ายให้ทันทีในราคาที่เป็นธรรม  โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นผู้จัดทำโบรชัวร์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป 

ส่งเสบียงถึงบ้านผ่านแอพ"Co-op Click" 

              ส่วนแบบที่สองจะใช้บริการแท็กซี่ในการจัดขนส่งสินค้าสหกรณ์สู่ผู้บริโภคถึงหน้าบ้านที่สั่งซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น “CO-op Click” ซึ่งผู้สั่งซื้อสินค้าจะสามารถรู้ล่วงหน้าทั้งราคาสินค้าและค่าบริการแท็กซี่ด้วย

              “ขณะนี้เรามีเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศที่พร้อมจัดส่งสินค้ามาให้เรา ขณะเดียวกันก็มีสินค้าในสต็อกอยู่จำนวนหนึ่ง จึงมั่นใจได้ว่าสินค้ามีเพียงพอแน่นอน สินค้าตัวใดขาดตลาดที่สหกรณ์เรามีและที่สำคัญราคาต้องเป็นธรรม คุณภาพระดับพรีเมียม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคมนี้เป็นต้นไป” ประธานชสท.กล่าวและว่า

              หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถช่วยคนขับแท็กซี่ให้สามารถอยู่ได้ในช่วงวิกฤติและอาจจะต่อยอดโครงการรูปแบบดังกล่าวนี้ในการช่วยกระจายผลไม้ที่จะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าด้วย

             ขณะที่ วิทูร แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ยอมรับกับ “คมชัดลึก” ในการใช้แท็กซี่เป็นโลจิสติกส์ช่วยกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในช่วงวิกฤติโควิด-19 ว่าเป็นอีกแนวทางในการช่วยผู้ขับแท็กซี่ให้มีรายได้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ลำพังแค่รับส่งผู้โดยสารทุกวันนี้ยังไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน และขณะนี้ก็ยังไม่มีทางเลือกอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวก็เป็นผลมาจากที่ตนและสมาชิกสหกรณ์แท็กซี่ได้ไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าขอให้หาทางช่วยเหลือผู้ขับแท็กซี่ด้วยหลังรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกฉิน ผู้คนไม่ออกจากบ้านตามนโยบายรัฐบาล อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จึงทำให้คนขับแท็กซีไม่มีรายได้ เนื่องจากไม่มีผู้ใช้บริการ

ส่งเสบียงถึงบ้านผ่านแอพ"Co-op Click" 

             "​แท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการจะมีข้อกำหนดต่างๆ  เช่น คนขับต้องเข้ารับการอบรมก่อน ต้องแต่งตัวสะอาด  ใส่ชุดยูนิฟอาร์ม ใส่แมสก์ป้องกัน ส่วนรถแท็กซี่ก็จะต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดทุกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ  ส่วนจะใช้แท็กซี่จำนวนเท่าไหร่ กี่คันต่อวันก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งสินค้าว่ามีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ให้แท็กซี่ไปจอดรอคิวนาน  ซึ่งหลังเปิดโครงการก็จะมีการประเมินกันเป็นระยะๆ"

              ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ เผยพร้อมระบุสำหรับอัตราค่าบริการ ก็จะคิดตามระยะทางเช่นเดียวกับการใช้บริการของผู้โดยสารและสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้ทันที 

            “จะใช้บริการแท็กซี่ที่อยู่ใกล้จุดจำหน่ายสินค้าของผู้สั่งซื้อสินค้าเป็นหลัก เช่นสมมุติว่าลูกค้าสั่งซื้อสินค้าอยู่แถวปทุมธานีก็ต้องดูว่าจุดให้บริการสินค้าสหกรณ์ในละแวกนั้นก็จะใช้บริการแท็กซี่ที่อยู่บริเวณนั้นเพื่อความสะดวก รวดเร็วและค่าแท็กซี่ก็จะไม่แพง ไม่ใช่ต้องวิ่งส่งสินค้าจากกรมไปส่งที่ปทุม” วิทูรกล่าว พร้อมน้อมรับหากทางชุมนุมสหกรณ์จะใช้บริการแท็กซี่เป็นโลจิสติกส์ในการขนส่งผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าสู่ผู้บริโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่ายินดีหากเป็นไปได้ เพราะจะเป็นหนทางหนึ่งที่เสริมรายได้ให้คนขับแท็กซี่ด้วย  ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบกอีกครั้งเนื่องจากแท็กซี่เป็นรถโดยสารสาธารณะใช้สำหรับขนคนไม่ใช่ขนส่งสิ่งของ 

              “ถามว่าผิดกฎหมายไหมที่ใช้แท็กซี่ขนของ ที่จริงมันก็ผิดนั่นแหละ แต่ก็ได้หารือกับท่านอธิบดีกรมขนส่งทางบก แล้วว่าท่านก็ได้อะลุ้มอล่วยกันไปก่อนในช่วงนี้เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ ขอให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปก่อน” ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ กล่าวย้ำ

       

   

          อย่างไรก็ตามล่าสุดอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ "พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  มีคำสั่งไปยังสำนักงานสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีสหกรณ์การเกษตรในสังกัดกว่า 1,300 แห่ง เป็นผู้ผลิตสินค้า ทั้งข้าวสาร นม ไข่ไก่ ผักผลไม้ และอาหารแปรรูปต่างๆ ให้เปิดเป็นจุดจำหน่ายสินค้าราคายุติธรรมให้ประชาชน หลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยเก็บไว้บริโภคระหว่างอาศัยอยู่ในบ้านพัก 

          สำหรับผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหกรณ์ผ่านช่องทางออนไลน์แอพพลิเคชั่น “Co-op Click” หรือ www.co-opclick.com และจัดส่งโดยรถแท็กซี่ถึงหน้าบ้านในทันทีโดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ