ข่าว

สู้ระบาดระยะ3 เท4แสนล้าน ไม่กู้ไอเอ็มเอฟ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯ ถกทีม "สมคิด" จ่อคลอดมาตรการเศรษฐกิจระยะ 3 สู้โควิด-19 คาดใช้งบกว่า 4 แสนล้านบาท ยันไม่ถังแตก ไม่จำเป็นต้องกู้ไอเอ็มเอฟ รัฐเล็งเพิ่มเงินผู้พิการ 1,000 บาทต่อคน พณ.สั่งห้ามส่งออกไข่ไก่เพิ่มอีก 30 วัน

               วันที่ 30 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลา 11.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.รคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าหารือที่ห้องทำงานชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า

               นายอุตตม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 หรือมากกว่า 400,000 ล้านบาท ผ่านนโยบายต่างๆ ที่ยึดโยงไปทุกพื้นที่ มาตรการชุดนี้จะช่วยดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะกลุ่มเหล่านี้ปัจจุบันรายได้หายไป ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น

อ่านข่าว เตรียมรับมือระยะ 3 โควิด-19 ระบาด

               “มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 จะดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบและมีขนาดที่เหมาะสม โดยขณะนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันคิดสร้างความเข้มแข็งต่อเนื่องให้เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งยังไม่เสนอคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพราะต้องศึกษารายละเอียดก่อน” นายอุตตมกล่าว

ปัดถังแตก-ยันไม่กู้ไอเอ็มเอฟ

               ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังถังแตกและจำเป็นต้องกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นั้น รมว.คลังยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ถังแตกและไม่มีความจำเป็นต้องกู้จากไอเอ็มเอฟแน่นอน โดยการจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณดูแลอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยแหล่งเงินทุนที่จะใช้นั้น จะมีทั้งงบประมาณและส่วนอื่นที่กำลังพิจารณามาเสริมกัน ด้านการรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่จะต้องรักษาไว้ในระดับไม่เกิน 60% นั้น ยืนยันว่าขอให้มั่นใจขณะนี้ฐานะการคลังของไทยเข้มแข็ง และจะรักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้ไม่เกิน 60% ได้แน่นอน ส่วนจะโยก พ.ร.บ.งบประมาณ หรือการออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไม่นั้น สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาทุกทางเลือกที่เหมาะสม

               สำหรับกรณีที่สายการบินของไทยเตรียมขอกระทรวงการคลังพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 16,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น นายอุตตม กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เข้าไปดำเนินการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ส่วนมาตรการอื่น เช่น การเสริมสภาพคล่อง ขณะนี้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขอให้ภาคการบิน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เข้าไปเสริม

ยอดลงทบ.เยียวยา3วันเฉียด20ล.คน

               “ที่ ธปท.ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ติดลบ 5.3% มองว่า ไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบไวรัสดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อใด สิ่งที่ ธปท.ประเมินเป็นตัวเลขหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวเลขที่แท้จริงจะเท่าใดไม่มีใครตอบได้” รมว.คลังระบุ

               นายอุตตม เปิดเผยว่า ยอดล่าสุดจนถึงขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 19.8 ล้านคน พร้อมระบุว่าผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนตามชุดมาตรการนี้จะต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

เพิ่มเงินผู้พิการ1,000บาท/เดือน

               ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติบรรเทาเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 4 มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ได้แก่ 1.การจ่ายเงินเยียวยาผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ 2 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ รายละ 1,000 บาท เพิ่มเติมจากเบี้ยผู้พิการที่ให้ทุกเดือน เดือนละ 800 บาทอยู่แล้ว โดยใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจะประสานกรมบัญชีกลางเพื่อให้เงินโอนตรงเข้าบัญชีภายในเดือนเมษายนนี้

               2.พักชำระหนี้คนพิการที่กู้เงินจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากเดือนเมษายนนี้ มีจำนวนลูกหนี้ 1.34 แสนราย มูลหนี้ 3.8 พันล้านบาท และ 3.เสนอ ครม.ให้ทบทวนมติในการเพิ่มเบี้ยผู้พิการ เป็น 1,000 บาท แก่ผู้ที่มีบัตรผู้พิการทุกคนทั่วถึง 2 ล้านคน แม้ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 4.ให้อนุกรรมการฯ ปรับระเบียบการกู้เงินกองทุนฯ ให้ผู้พิการกู้ได้ รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ 1 ปี วงเงิน 2,000 ล้านบาท

ยืดเวลาห้ามส่งไข่ไปนอกอีก30วัน

               ความคืบหน้ากรณีปัญหาราคาไข่ไก่แพงและยังขาดแคลนอีกด้วยนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ได้ออกประกาศขยายระยะเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่เพิ่มเติมอีก 30 วัน จากเดิมที่ห้ามส่งออกไข่ไก่ชั่วคราว 7 วัน ซึ่งจะหมดระยะเวลามาตรการในวันที่ 31 มีนาคม โดยมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่ 30 วันจะไปสิ้นสุดมาตรการช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2563 แต่หากสถานการณ์ไข่ไก่ดีขึ้นมีเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน ก็อาจจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่ได้ ทั้งนี้ตัวเลขการผลิตอยู่ที่ 40-41 ล้านฟองต่อวัน และบริโภคภายในประเทศในภาวะปกติ 39 ล้านฟองต่อวัน ที่เหลือส่งออก 1 แสนฟองถึง 1 ล้านฟองต่อวัน ก็จะกลับเข้ามาหนุนตลาดในประเทศ

               “กระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมมือกรมปศุสัตว์ ยืดเวลาการปลดแม่ไก่ยืนกรงจากเดิม 72 สัปดาห์ ออกไปเป็น 80 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง รวมทั้งยังได้ขอความร่วมมือกำหนดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มให้ขายไม่เกิน 2.80 บาทต่อฟอง และเร่งรัดให้ฟาร์มต่างๆ ส่งไข่ไก่เข้าไปยังศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะห้างค้าปลีก และร้านค้าปลีก เพื่อให้ไข่ไก่กระจายถึงมือประชาชนในช่วงที่มีความต้องการมากกว่าปกติถึง 3 เท่าตัว” นายจุรินทร์กล่าวและว่า เราจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย หากพบว่ามีการกักตุนและค้ากำไรเกินควร

               รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน กระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเว็บไซต์สมาร์ทโชวห่วยเดลิเวอรี่.moc.go.th และ Line DGA : สมาร์ทโชวห่วยเดลิเวอร์รี่ เพื่อเป็นช่องทางการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคในภาวะวิกฤติ โดยร้านค้าโชห่วยที่กระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ และหลายแห่งก็มีบริการส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ด้วย

               “ในเฟสแรกยังเป็นร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ในเบื้องต้นมีร้านค้าอยู่บนแพลตฟอร์ม 2,655 ร้านค้า และมีร้านค้าที่มีบริการส่งสินค้าทันทีแล้ว 136 ร้านค้า เริ่มเปิดบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ในอนาคตยังมีแผนจะขยายแพลตฟอร์มดังกล่าวในระดับประเทศต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

 

5วันขอคืนประกันค่าไฟ4ล้านคน

               ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถรองรับคำร้องของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ซับซ้อน โดย 5 วันที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าระบบยื่นขอคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม รวมทั้งหมดประมาณ 4.10 ล้านราย (กฟน. ประมาณ 1,417,000 ราย ประมาณ 2,686,000 ราย) คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 7.06 พันล้านบาท (กฟน. ประมาณ 3,262 ล้านบาท และ กฟภ. ประมาณ 3,802 ล้านบาท) โดยเชื่อว่าวงเงินกว่า 7 พันล้านบาท จะทำให้ประชาชนมีเงินสำรองนำมาใช้จ่ายเป็นค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้

               รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นซูเปอร์โพลพบประชาชนพึงพอใจมาตรการช่วยบรรเทาราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มในช่วงสถานการณ์การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินมาตรการของกระทรวงพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง โดยมองว่า ความพึงพอใจดังกล่าวเกิดจากประชาชนสามารถสัมผัสได้โดยตรง เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงต่างๆ คือต้นทุนอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน เมื่อราคาปรับลดลงก็สามารถลดภาระได้ทันที โดยกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการในส่วนของมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ