ข่าว

แบงก์ชาติอัด1.1ล้านล้าน สกัดคนแห่ถอนกองทุน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธปท.คลอด 3 มาตรการ ดูแลความเรียบร้อยในตลาดการเงิน ป้องกันการขาดสภาพคล่อง สกัดประชาชนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุน ส่วนคลังชง ครม.อังคารนี้ อุ้มลูกจ้างตกงาน เน้นในกลุ่มกิจการที่รัฐประกาศให้หยุด คาดขอเพิ่ม 4,000บ./คน

            วันที่ 22 มีนาคม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่ง ธปท.เริ่มเห็นกลไกตลาดการเงินไม่เป็นปกติ เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยมีผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเกิดความกังวลและไปเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนบางกองทุน ส่งผลให้กองทุนดังกล่าวต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีออกมา แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะมีเครดิตเรตติ้งที่ดีมากก็ตาม ซึ่งการเทขายสินทรัพย์ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะมีคนมาไถ่ถอนหน่วยลงทุน ส่งผลซ้ำเติมตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพคล่องมีจำกัด จึงส่งผลกระทบต่อมูลค่าของหน่วยลงทุนด้วย

            “เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราคิดว่า ต้องมีมาตรการเพื่อลดความกังวลของผู้ถือหน่วยลงทุน หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อกลไกการทำงานของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม” นายวิรไทกล่าว

 

 

 

 

            ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนใน 3 ด้าน เพื่อดูแลความเรียบร้อยของตลาด โดยมาตรการแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจมีความกังวลและพากันมาไถ่ถอน ดังนั้น ธปท.จึงได้จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยที่ ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท.ได้ โดย ธปท.พร้อมดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าตลาดเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่กองทุนดังกล่าว จะมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ามีขนาดที่ใหญ่เพียงพอ

            มาตรการที่สอง ถ้ามองไปข้างหน้า พบว่า มีหุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้เอกชนที่จะมีการครบกำหนดไถ่ถอนในแต่ละปีจำนวนหนึ่ง ซึ่งในภาวะปกติ หุ้นกู้เหล่านี้สามารถต่ออายุ(โรลโอเวอร์)ได้ไม่ยาก แต่ในภาวะที่ตลาดผิดปกติ หลายหน่วยงานตั้งแต่สมาคมธนาคารพาณิชย์ สมาคมธุรกิจประกันภัย ธนาคารออมสิน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) จะร่วมกันจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ เรียกว่าเป็น “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” เพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท โดยตอนนี้มีผู้แจ้งความจำนงเข้าร่วมแล้ว 80,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่คือ เมื่อมีตราสารหนี้คุณภาพดีครบกำหนดแล้วต้องการโรลโอเวอร์ หากระดมทุนได้ไม่ครบ กองทุนนี้จะเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ผู้ออกหุ้นกู้เอกชนสามารถโรลโอเวอร์ได้ โดยเงินที่ท็อปอัพเป็นเงินระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน

            ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 24 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังมีมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 2 เสนอต่อที่ประชุมครม. โดยมาตรการออกมาเน้นดูแลประชาชน รายย่อย และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยหลังจากนี้ครม.เศรษฐกิจ จะหารือกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อหารือมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม

            “กระทรวงการคลังกำลังสรุปข้อเสนอทั้งหมดเข้า ครม. ขอให้รออีก 2 วัน จะมีความชัดเจนของมาตรการออกมา ถ้ามาตรการชุดที่ 2 ไม่พอ รัฐบาลพร้อมออกชุดที่ 3 มาช่วย เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน และรายย่อย” นายกอบศักดิ์ กล่าว

            นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่คลังเตรียมเสนอครม.เป็นมาตรการที่จะเข้าไปดูแลลูกจ้างที่กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และลูกจ้างในกิจการที่รัฐประกาศให้หยุดกิจการชั่วคราว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด โดยจะมีมาตรการทั้งด้านการเงิน และมาตรการเติมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกจ้างดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อรัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการก็ต้องมีมาตรการไปช่วยดูแล ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้นเป็นส่วนเสริมจากประกันสังคมที่จ่ายชดเชยการหยุดงานให้ รวมถึงมาตรการที่จะออกมานั้นจะครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีหลายแนวทางที่จะดูแล

            เมื่อถามว่าจะมีการแจกเงินอีกไหม โดยเฉพาะการแจกเงิน 2,000 บาทที่รัฐบาลเคยมีแนวคิดก่อนหน้านี้นายประสงค์ กล่าวว่า ขอให้รอดูการประชุมครม.วันอังคารนี้ มาตรการอาจดีกว่าคิดกัน ซึ่งหลังจากมาตรการผ่านครม.แล้ว จะมีผลทันที ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินที่จะดูแลกลุ่มคนดังกล่าวและเตรียมพร้อมวงเงินไว้แล้ว

            แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะขอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2563 จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ว่างงานจากคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน โดยผู้ว่างงานเหล่านี้จะได้รับการแจกเงินคนละ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมจะได้รับคนละ 4,000 บาท

 

 

 

 

           ขณะที่นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่รัฐสั่ง “ปิดชั่วคราว” จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือดังนี้ ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท) สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท)

           นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม กำหนดให้การจ่ายชดเชย กรณีว่างงานสูงสุด ไม่เกินรายละ 15,000 บาท ในกรณีการจ่ายชดเชยจากสถานการณ์ปัญหาไวรัสโควิด มติคณะกรรมการประกันสังคมให้ชดเชยรายละ 50% เท่ากับไม่เกิน รายละ 7,500 ของเงินชดเชยสูงสุด 15,000 บาท

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ