ข่าว

สมคิดถกภาคเอกชนสู้โควิด-19 วอนอย่าปลดพนง.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐ เร่งผลิตเจล หน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้น ลอตแรกแจกสัปดาห์หน้าตามร้านสะดวกซื้อ ปั๊ม ธนาคาร ประเมินสิ้นปีท่องเที่ยววูบ 30 ล้านคน ส่วนม.หอการค้าไทย คาดรัฐสั่งปิดสถานบันเทิง 14 วัน สูญ 2-3 หมื่นล.

          วันที่ 18 มีนาคม  นายสมคิด จาตุศรีทักษ์ รองนายรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมร่วมกับผู้บริหารภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้าซักได้ใช้ซ้ำ 10 ล้านชิ้น ภายใน 2 เดือน ลอตแรกสัปดาห์หน้ารีบแจกตามร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ธนาคาร กระจายไปต่างจังหวัดให้เพียงพอ หากไม่เพียงพอผลิตเพิ่มเติม ยอมรับว่า

          ขณะนี้ประชาชนตื่นกลัวการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงต้องการหน้ากากอนามัย เจล สเปรย์ทำความสะอาด หากแจกไปแล้วไม่พอ ภาคเอกชนต้องจำหน่ายขอให้กระจายอย่างทั่วถึง จึงขอให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเตรียมตัวให้พร้อมกับความต้องการ รวมทั้งบางรายต้องการนำเข้าจากจีน เพราะสถานการณ์คลี่คลายลง โดยขอความร่วมมือกรมศุลกากรและกรมสรรพากรอำนวยความสะดวกเรื่องภาษีและการนำเข้า

 

 

 

 

          สำหรับการผลิตเจล สเปรย์ กระทรวงพลังงานประสานกับ ปตท.และโรงงานเอทานอลแจกตามปั๊ม ปตท. เป็นประจำทุกวันจันทร์ เบื้องต้นแจกตามหน่วยงาน องค์กรที่จำเป็นต้องใช้ทำความสะอาด และยังขอให้ผู้ประกอบการ เพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อการซื้อของประชาชนด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังเปิดทางให้โรงงานแอลกอฮอล์ส่งให้ภาคเอกชนผลิตเจล สเปรย์ สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะวงการแพทย์จะมีใช้ป้องกันโรคได้อย่างเพียงพอ ขณะนี้จำนวนแอลกอฮอล์มีสต็อกอยู่เพียงพอ

          นายสุริยะ รายงานที่ประชุมว่า การผลิตหน้ากากผ้าซักได้ 10 ล้านชิ้น ต้นทุนการผลิต 6 บาทต่อชิ้น โดยใช้งบกลาง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่ง จึงพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเตรียมผลิตหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้น แจกจ่ายประชาชนป้องกันสารคัดหลั่ง ไอ จาม ป้องกันการติดเชื้อ

          นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการสำรองอาหารสำเร็จรูปช่วงเกิดปัญหาแพร่ระบาดไวรัส จึงขอให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้ผู้บริโภคคลายความกังวล เพราะไทยเป็นประเทศผลิตอาหาร ยืนยันว่าการพักอยู่กับบ้าน ต้องให้มั่นใจว่ามีอาหารรองรับเพียงพอไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว น้ำดื่มค่ายต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่มีปัญหาการผลิต กระดาษทิชชู่ และรัฐบาลยืนยันว่าไม่มีการปิดเมือง

          ตัวแทนผู้ประกอบการรายงานว่า ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ผลิตอาหารสำเร็จรูป 3 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งการส่งออกข้าว อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป การเกิดวิกฤติครั้งนี้จึงยืนยันว่าเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ เพียงช่วงที่ผ่านมาห้างสรรพสินค้าเติมให้ตามชั้นไม่ทัน สินค้าจึงหายเพียงบางช่วงเวลา ยอมรับว่าการใช้กระดาษทิชชู่ในเมืองยุโรปเขาใช้ทำความสะอาดทุกอย่าง จึงมีปัญหาขาดแคลน ส่วนไทยใช้น้ำทำความสะอาด จึงไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว

          ผู้ประกอบการรายงานที่ประชุมว่า ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสนอว่าหากท้องที่ใดประกาศปิดจังหวัดควรระบุให้ชัดเจนว่าปิดการเคลื่อนย้ายคน แต่ไม่ควรปิดเส้นทางคมนาคม เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกการจำหน่ายทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังกระจายสินค้าออกไปได้ทั่วประเทศ สำหรับการผลิตเนื้อหมู ไก่ ยังผลิตได้ 1-2 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เอกชนมีจุดกระจายสินค้านับ 100 จุด พร้อมกระจายไปทั่วประเทศไทย หากถึงจุดวิกฤติอยากให้เคลียร์เรื่องการขนส่ง การผลิตให้ชัดเจน และมีระบบอนามัยดูแลระบบขนส่ง รถขนส่งต้องฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ การควบคุมดูแล ในส่วนร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ากระจายไปทั่วถึง

          นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้ประกอบการร่วมกันออกมายืนยันจะทำให้คลายความกังวล ไม่ต้องกักตุนสินค้า และอยากให้ภาคเอกชนชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เพราะหากถูกออกจากงานจะสร้างความลำบาก จึงขอให้จ้างงานต่อไปช่วงนี้ แม้ต้องลดค่าตอบแทนลงบ้าง เพื่อความอยู่รอดร่วมกัน รัฐบาลให้นำค่าตอบแทนลดหย่อนภาษีการจ้างงานถึง 3 เท่า คาดว่าภาคเอกชนจะไม่ปลดพนักงานออกในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงวิกฤติ หากให้ออกจากงานจะมีผลต่อแรงงานอีกจำนวนมาก

          สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บิ๊กซี ท็อปส์ แม็คโคร เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นต้น

          ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลามทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้หลายประเทศออกมาตรการเร่งด่วนในการคัดกรองและป้องกัน บางประเทศตัดสินใจปิดประเทศเพื่อหยุดการเคลื่อนย้ายคน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยล่าสุดไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 สิ้นสุดการระบาดทั่วโลกในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 27 ล้านคน ลดลง 32.15% หรือลดลง 12.8 ล้านคน จากปี 2562 ที่มี 39.8 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือ 1.31 ล้านล้านบาท ลดลง 32.37% หรือสูญรายได้ 6.26 แสนล้านบาท จากปีที่แล้วซึ่งมีรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท

          “หากคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 1.06 ล้านคน เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.61 แสนคน และแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ 6 แสนคน”

          รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปถึงกรณีที่ 2 สิ้นสุดการระบาดทั่วโลกเดือนกันยายนนี้ ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 20 ล้านคน และหากลากยาวไปถึงกรณีที่ 3 สิ้นสุดการระบาดเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นกรณีแย่ที่สุด คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่ถึง 10 ล้านคน หรือหายไปราว 30 ล้านคนจากปีที่แล้ว

 

 

 

 

          ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวถึง ครม.ออกประกาศควบคุมพื้นที่ต่างๆ 14 วัน เบื้องต้นโดยเฉพาะสถานบันเทิงไม่มีตัวเลขรายได้ชัดเจนว่าแต่ละวันหรือแต่ละเดือนมีรายได้มากน้อยเพียงใด แต่คาดว่าจากภาพรวมการปิดสถานบันเทิงน่าจะทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียเม็ดเงินรวมกันมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาท แค่ 2 สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะยาวนานแค่ไหน แต่เท่าที่ติดตามทั่วโลกจะควบคุมโรคดังกล่าวได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

          ส่วนไทยแม้จะใช้มาตรการคุมพื้นที่แตกต่างจากหลายประเทศที่ใช้มาตรการปิดประเทศ โดยรัฐบาลไทยใช้มาตรการควบคุมพื้นที่ เพราะเห็นว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 รู้กลุ่มชัดเจนว่ามาจากสถานที่ใดบ้าง ดังนั้น การปิดสถานบันเทิง สนามมวย และอีกหลายพื้นที่ เพื่อต้องการลดปัญหาการแพร่กระจาย หากภายใน 2 สัปดาห์ลดการแพร่กระจายและลดปริมาณคนติดเชื้อได้อาจทำให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว หากยังไม่สามารถลดการแพร่กระจายมาตรการอาจจะเข้มข้นมากขึ้น

          ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกจากผลกระทบด้านต่างๆ ที่มาจากปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจโลก อีกหลายปัจจัย น่าจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินมากถึง 6-7 แสนล้านบาท เท่ากับจีดีพีครึ่งปีแรกจะติดลบ 0.5-1% คาดทั้งปีจะติดลบไม่น้อยกว่า 0.5% อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าหลังจากทั่วโลกควบคุมโควิด-19 ได้ กิจกรรมครึ่งปีหลังคาดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ดังนั้น เวลานี้ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยทั้งประเทศจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ