ข่าว

ดัชนีหุ้นไทยปิดบวก14จุด หลัง"เซอร์กิต เบรกเกอร์"ซ้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หุ้นพลิก!ปิดบวก14 จุด หลังจากช่วงเช้าดิ่งแรง 111 จุด จนทำให้ต้องใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ เป็นวันที่ 2 "สมคิด" เตรียมชงจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเสนอนายกฯ สัปดาห์หน้า ส่วนทองคำลดแรง 700บาท นำมันลด5วันติด

          วันที่ 13 มีนาคม เปิดตลาดหุ้นเช้าดัชนีหุ้นร่วงแรง ปรับตัวลดลงกว่า 10% หรือ 111.52 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,003.39 จุด มูลค่าการซื้อขาย 4,138.46 ล้านบาท ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องใช้มาตรการหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) เป็นเวลา 30 นาทีทันทีตั้งแต่เวลา 09.59-10.29 น. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน และเมื่อกลับมาเปิดซื้อขายอีกครั้งเมื่อเวลา 10.30 น. ดัชนีก็หลุด 1,000 จุด ลงไปต่ำสุดที่ 969.08 จุด ก่อนจะกลับมาบวกได้ในช่วงเที่ยงที่ 1,155.35 จุด เพิ่มขึ้น 40.44 จุด มูลค่าการซื้อขาย 58,875.78 ล้านบาท หลังมีข่าวรัฐบาลเตรียมชงจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในสัปดาห์หน้า โดยคาดใช้เงินจากหลายฝ่าย

          ก่อนปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับ 1,128.91 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 14.00 จุด หรือ 1.26% โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,164.16 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 119,303.38 ล้านบาท

 

 

 

 

          นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่าในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ตเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เป็นจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้เสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุนในภาพรวม ทั้งนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทสมาชิกและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว ซึ่งเริ่มตั้งแต่การซื้อขายในภาคบ่ายของวันที่ 13 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563

          “เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้เสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุนในภาพรวม ขณะที่ปัจจุบันตลาดพยายามดูประกอบด้วยหลายๆ เรื่อง โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องแรกและยังมีกฎเกณฑ์อื่นอีก อาทิ มาตรการที่อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องที่มากขึ้น เรื่องข้อมูลข่าวสารต่างๆ และเกี่ยวกับการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนทำรายการซื้อหุ้นคืนด้วย โดยหากอนาคตมีความชัดเจนจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง” นายภากร กล่าว

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคมนี้ จะนำเรื่องนี้ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับและบริหารกองทุน ประกอบไปด้วยตัวแทนของกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกองทุนนี้จะไม่ใช้เงินงบประมาณแต่จะใช้เงินจากการลงขันกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ธนาคารของรัฐ และภาคเอกชน ส่วนขนาดของกองทุนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีขนาดเท่าไร แต่จะมีขนาดใหญ่พอที่จะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนได้ว่าเรามีเงินจำนวนหนึ่งที่จะดูแลตลาดทุนของเรา

          “เมื่อตอนปี 2540 มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมาโดยขนาดกองทุนอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้าน ก็สามารถที่จะเคลมดาวน์ตลาดลงได้ ในขณะนี้คงต้องการเงินที่มากกว่านั้น เนื่องจากตลาดเรามีมาร์เก็ตแคปที่ใหญ่มากถึงประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนต้องใหญ่มากแต่ต้องเป็นขนาดที่ให้ความมั่นใจได้ เมื่อจัดตั้งแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาไล่ซื้อหุ้นทันที ก็ต้องดูในเรื่องเวลาที่เหมาะสมด้วย”

          นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น ต้องตอบให้ชัดว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีหลายรูปแบบ เช่น การใช้เงินรัฐ แมทชิ่งฟันด์ระหว่างรัฐและเอกชน แต่มาตรการที่ได้ผลดีที่สุดคือ รัฐต้องไม่เข้ามาบิดเบือนกลไกตลาดด้วยการตั้งกองทุนมาซื้อหุ้นอย่างเดียว แต่ควรเพิ่มวงเงินการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือ SSF เพื่อจูงใจให้ประชาชนลงทุนจะได้ประโยชน์มากกว่า และใช้เม็ดเงินน้อยกว่าการตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะวงเงินพิเศษที่เพิ่ม 200,000 บาท ในการลงทุนช่วงเดือนเมษายน–มิถุนายน อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าหากจะให้กระตุ้นตลาดหุ้นและให้ใช้สิทธิ์ได้เป็นการชั่วคราวควรเพิ่มวงเงินมากกว่านี้ อาจะเป็น 500,000 บาท ก็ได้

          ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองดัชนีหุ้นไทยลดมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าดัชนีหุ้นไทยจะลดลงไปถึงจุดใด จากปัญหาโควิด-19 ที่กดดันตลาดทั่วโลกมากที่สุด แต่หากดูจากอดีต วิกฤติหลายๆ ครั้งจะพบว่า มีหุ้นพื้นฐานที่ดีและได้รับผลกระทบไม่มากนัก ที่ยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง จึงแนะนำให้นักลงทุนเลือกหาหุ้นรายตัว โดยหากเป็นนักลงทุนระยะยาว ถือเป็นจังหวะดีที่สามารถเลือกทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง เช่น RATCH, INTUCH และ LH

          ส่วนตลาดทองคำเปิดตลาดร่วงแรง 750 บาท และเริ่มดีขึ้น ล่าสุดทองคำแท่งขายออกอยู่ที่บาทละ 24,000 บาท ลดลงบาทละ 500 บาท โดยราคาทองคำไทย ดิ่งลงตามตลาดโลก ที่มีการขายทองคำ หุ้น พันธบัตร เพราะกังวลโควิด-19 จะกระทบยาว โดยทองคำวันนี้ปรับลดลง 700 บาท ส่วนบรรยากาศที่ร้านทองวานนี้ ประชาชนแห่มาทั้งซื้อและขายทองคำกันอย่างหนาแน่น

          นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง มองว่าราคาทองคำที่ร่วงลงมาขณะนี้จะมีแรงซื้อจากนักลงทุนเข้ามาจำนวนมากเช่นกัน โดยให้กรอบระยะสั้น 1-2 วันนี้ที่แนวรับ 1,560 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และแนวต้านที่ 1,590-1,610 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศ ให้แนวรับอยู่ที่ 23,750 บาท/บาททองคำ และแนวต้านที่ 24,000 บาท/บาททองคำ

 

 

 

 

          ขณะเดียวกัน ปตท.-บางจาก ประกาศปรับลดราคาน้ำมัน ทุกชนิดลง 60 สต./ลิตร ยกเว้น E85 ลดลง 40 สต./ลิตร มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.63) สำหรับการลดราคาน้ำมันครั้งนี้ นับเป็นการลดราคาลงติดกันครั้งที่ 5

          โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ เบนซิน = 29.16, แก๊ซโซฮอล 95 = 21.75, อี20 = 18.74, แก๊ซโซฮอล์ 91 = 21.48, อี85 = 16.49, ดีเซล = 22.79, ดีเซล-บี10 = 19.79, ดีเซล-บี20 = 19.29, ดีเซลพรีเมียม = 26.64 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ