ข่าว

รัฐเร่งสร้าง"ความเชื่อมั่น"แทนแจกเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลอดมาตรการกระตุ้นศก.รับ"โควิด-19"ชี้รัฐเร่งสร้าง"ความเชื่อมั่น"แทนแจกเงิน

        เปิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจระยะสั้นใน 2 เดือน ทั้งมาตการด้านการเงิน  มาตรการด้านภาษี รวมถึงการแจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยไม่เกินหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน ไม่เกิน 2 เดือน หลังผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจนัดพิเศษที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังจะเสนอมาตาการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในวันพรุ่งนี้(10 มี.ค.) 

 

         ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ “โควิด-19” ได้สร้างความสะพรึ่งกลัว แตกตื่น ตกใจ ไปทุกหย่อมหญ้า ซ้ำร้ายกว่านั้นส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การปิดสถานประกอบกิจการ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ทำให้หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ต่างเข็นมาตรการมาเยียวยาออกมารองรับกันคึกคัก เพื่อเรียกขวัญกำลังใจของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐบาลของประเทศไทย โดยมาตรการ

     “วันนี้ต้องแยกแยะว่านี่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังต้องรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลพิจารณาผลกระทบทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม"การแถลงของนายกรัฐมนตรีภายหลังการประชุมในวันนั้น ส่วนการแจกเงินหัวละพันระยะเวลา 2 เดือนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันนั้น นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่ามุ่งเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการระดับล่างมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน  

     ถึงกระนั้น  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่าการใช้เงินจะมีการระวังและครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป โดยมาตรการที่ออกมานี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการในช่วง 2 เดือนเท่านั้น(เม.ย.-พ.ค.)ผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยประชาชนที่ได้รับเงินจะได้สามารถกดเงินสดไปใช้จ่ายได้ทันที

    สำหรับรายละเอียดมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ด้านหลัก คือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี  โดย"มาตรการด้านการเงิน"นั้นจะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%

    2.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับสถาบันการเงิน โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ  3.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และที่เป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%

   และ 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน

    ส่วน"มาตรการด้านภาษี" ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟต์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้

  3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และมาตราการที่ 4 ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ

   นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีก ประกอบด้วย 1.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้แก่ภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2.บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด 3.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น และ 5.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)วงเงินพิเศษจากเดิมอยู่ที่ 2 แสนบาท โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายในมิ.ย.2563 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%  

   อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในวันนั้นได้ฉายภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เติบโตได้ต่ำกว่าปกติในหลายด้าน ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออก โดยปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2563 ด้วย

   “เศรษฐกิจไทยในวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น  ตรงนี้อยากให้ทุกฝ่ายทำใจ เพราะรัฐบาลก็ทำใจแล้วว่าไตรมาส 1/2563 จะไม่ดี แต่หลังจากนี้ วังว่าไตรมาส 2/2563 จะฟื้นตัวได้จากการใช้จ่ายของรัฐที่กลับมา ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ขยายความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หายไปแล้วกว่า 50%  หากผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ ค่อยมาพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงต่อไป” กอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจแจงผลการประชุมครม.วันนั้น

  

 

          ศักดิ์ชัย ผินนารี กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีไซน์ ทริป จำกัดเผยกับ“คมชัดลึก”ถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลงัดออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่าเห็นด้วยกับทุกมาตรการที่ออกมา แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ เอกชนให้มีการจัดงานใหญ่หรืออีเว้นต่อไป ไม่ใช่งดเว้นทุกกิจกรรม ไม่วาจะเล็กหรือใหญ่ เพราะจะยิ่ง ทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงไปอีก เนื่องจากไม่มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเกิดขึ้น

          "การงดจัดอีเว้น งดกิจกรรมทุกรูปแบบไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจมากกว่า เพราะถ้าคนยังกลัว ไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทางแก้ก็คือคุณก็ต้องสกรีนคนเข้าร่วมงานที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างเช่นห้ามผู้ที่มีไข้เกิน 37 องศาเข้าร่วมงานหรือใครรู้ตัวว่าป่วยก็ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะอีเว้นที่จัดในสถานที่ปิด อย่างเช่น ในห้างสรรพสินค้าฯ ศูนย์แสดงสินค้านั้นควรให้มีการจัดต่อไป เพราะสามารถควบคุมคนเข้าได้ อย่างงานของบริษัทที่รับงานอีเว้นท่องเที่ยวหลายงานทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดช่วงนี้ก็ต้องยกเลิกทั้งหมด"บอสใหญ่ดีไซน์ ทริปกล่าวสิ้นหวัง

            ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนกล่าวกับ"คมชัดลึก"ถึงนโยบายการแจกเงินของรัฐบาลว่าเป็นมาตรการเยียวยาระยะสั้น ซึ่งเป็นวิธีการที่เงินลงถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่ได้รับหากลงถึงประชาชนระดับฐานรากจริง ๆ ก็จะเกิดประโยชน์ เพราะพวกเขาจะนำเงินออกมาใช้หมดในทันที แต่หากไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีประดยชน์เพระาจะไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

            "มาตรการระยะสั้น การแจกเงินเป็นวิธีที่กระตุ้นเศรษฐกิจง่ายและเห็นผลเร็วที่สุด แต่ต้องให้ตรงกลุ่มเป้าหมายนะ เงินแสนล้านที่แจกจะต้องลงถึงมือชาวบ้านในระดับฐานรากจริงๆ เพราะคนกลุ่มนี้ได้มาเท่าไหร่เขาก็ใช้หมด ไม่ได้เก็บไว้ เมื่อเขาใช้เศรษฐกิจในชุมชนก็จะหมุนเวียน" ดน.มนต์ชัยกล่าวและเห็นด้วยกับการออกมาตรการทางด้านการเงินและด้านภาษีในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้กระทั่งมาตรการการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เพื่อให้เขายืนระยะอยู่ได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปก่อน

             นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่าประเทศไทยมีมาตรการได้การรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอันดับต้น ๆ ของโรค โดยเห็นได้จากตัวเลขการติดเชื้อในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเป็นการด่วนนับจากนี้ไปจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศกลับคืนมา เมื่อประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยพวกเขาก้จะออกมาจับจ่ายใช้สอยเอง ไม่จำเป็นต้องแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

              "วันนี้รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้ได้ว่ารับมือกับโควิด-19 ได้  ถ้าประชาชนมีความมั่นใจแล้ว เขาก็จะออกมาเองไม่ต้องไปแจกเงินหรือไปกระตุ้นอะไร จำได้ไหมเมื่อครั้งไข้หวัดนกระบาด ประชาชนกลัวมาก ไม่กล้ากินไก่ห ทำให้ฟาร์มไก่ ร้านขายไก่ทอด ธุรกิจที่มีไก่เป็นส่วนประกอบเจ๊งกันระนาว กระทั่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีในขณะนั้นต้องกินไก่โชว์ให้ดู ประชาชนถึงจะยอมกิน เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชน" ดร.มนต์ชัยกล่าวย้ำอย่างมั่นใจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ