ข่าว

เปิดประชาพิจารณ์"มอเตอร์เวย์"ลดแออัดจราจร"วงแหวนตะวันตก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประชาพิจารณ์รูปแบบ"มอเตอร์เวย์"ลดแออัดจราจร"วงแหวนตะวันตก"         

           จากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลส่งผลให้ปริมาณการจราจรบนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านทิศตะวันตก โดยเฉพาะช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทองนั้นเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาสภาพการจราจรติดขัด ทำให้เกิดความไม่สะดวกและล่าช้าในการเดินทางและขนส่งสินค้า

            ด้วยเหตุนี้ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านทิศตะวันตกช่วงบางขุนเทียนถึงบางบัวทองให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองยกระดับ โดยวางตกม่อไว้บริเวณเกาะกลางถนน มีการควบคุมทางเข้า-ออกโดยสมบูรณ์เพื่อให้สอดรับกับถนนวงแหวนด้านตะวันออกและด้านใต้ที่มีการควบคุมทางเข้า-ออกโดยสมบูรณ์แล้ว

เปิดประชาพิจารณ์"มอเตอร์เวย์"ลดแออัดจราจร"วงแหวนตะวันตก"

 

              “ปริมาณจราจรช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทองในชั่วโมงเร่งด่วนอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคันต่อวัน ถ้าไม่ทำอะไรเลยวันนี้อีก 6-7 ปีข้างหน้า การจราจรเส้นนี้จะวิกฤติที่สุด คำตอบก็คือจะต้องทำให้ทั้งเส้นเป็นมอเตอร์เวย์ ถ้าไปทำตอนนั้นไม่มีทางทัน อีกอย่างถนนเส้นนี้เป็นวงแหวนรอบแรกของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ เอาทางเส้นหลักไปทำมอเตอร์เวย์มันทำไม่ได้ เพราะประชาชนเคยใช้ฟรีมาแล้วและกรมทางหลวงเองก็ไม่มีเป้าประสงค์ที่จะเปลี่ยนช่วงนี้ เป็นทางด่วนพิเศษ แต่ต้องการเปลี่ยนทางยกระดับแทน ส่วนข้างล่างก็ยังใช้ได้ตามปกตินะครับ”

                เสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ วิศวกรที่ปรึกษา กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท พีเอสเค คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทรานส์ คอนซัลท์ จำกัด และบริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านทิศตะวันตกช่วงบางขุนเทียนถึงบางบัวทองให้เป็นทางหลวงพิเศษยกระดับระหว่างเมืองในระหว่างการเสวนารับฟังความคิดเห็นต่อรายละเอียดโครงการครั้งที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนภาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี

               โดยมีเป้าหมายเพื่อการเชื่อมโยงกับโครงการข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในอนาคตได้อย่างเป็นระบบเพื่อทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าสะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางและขนส่งสินค้าลดลงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศด้วย ทั้งนี้เนื่องจากโครงการจำเป็นต้องใช้วงเงินการลงทุนสูง ในขณะที่งบประมาณของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามนโยบายรัฐบาล จึงเป็นแนวทางเลือกหนึ่งในการดำเนินโครงการ 

เปิดประชาพิจารณ์"มอเตอร์เวย์"ลดแออัดจราจร"วงแหวนตะวันตก"

               ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 

                กรมทางหลวง โดยสำนักแผนงาน จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้การดำเนินการศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียด ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ตลอดจนรูปแบบการดำเนินงานการให้เอกชนร่วมทุน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายวงแหวนตะวันตกช่วงบางขุนเทียน-บางใหญ่ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนและสิ้นสุดที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง รวมระยะทาง 38 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขตและ 4 อำเภอในพื้นที่ 2 จังหวัด กรุงเทพฯ และนนทบุรี ทั้งนี้การก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) กรมทางหลวงได้ประเมินค่าลงทุนอยู่ที่กิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท

             วิศวกรที่ปรึกษาคนเดิมระบุอีกว่าสำหรับรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามการศึกษาเดิมที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องทาง ขนาดช่องละ 3.6 เมตร จราจรไหล่ทางด้านละ 1 เมตรและไหล่ทางด้านนอก 2 เมตร ดังนั้นในการออกแบบกรอบรายละเอิียดจะออกแบบตามรูปแบบเดิม โดยจะพิจารณาตำแหน่งเสาโครงการตามข้อมูลการสำรวจใหม่เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ด้านล่างให้น้อยที่สุด 

                ส่วนแนวเส้นทางโครงการส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่เกาะกลางของทางหลวงหมายเลข9 (ถ.กาญจนาภิเษก) ตามการศึกษาเดิม นอกจากช่วงบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 และลอดใต้รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ซึ่งจากการศึกษาเดิมไม่ได้พิจารณาตำแหน่งเสาของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวเพื่อเลี่ยงตำแหน่งเสา ส่วนแนวเส้นทางอื่นเป็นไปตามการศึกษาเดิม 

               ในขณะที่ทางขึ้น-ลงโครงการจากการศึกษาเดิมมีด่านเก็บค่าผ่านทาง แต่การศึกษาใหม่มีการเปลี่ยนระบบเก็นค่าผ่านทางเป็นแบบ Open Road Tolling(ORT) ซึ่งจะไม่มีตู้เก็บค่าผ่านทาง รถสามารถวิ่งผ่านได้ตลอดโดยไม่ต้องหยุดรถเพื่อจ่ายเงินหรือมีไม้กั้นช่องทางเข้า-ออก ส่งผลให้สามารถลดพื้นที่ก่อสร้างและลดการเวนคืนพื้นที่บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางและอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางลงได้ อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางในช่วงเวลาเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี

               ยกตัวอย่างมอเตอร์เวย์สาย7 พัทยา-ชลบุรี หากใครมีโอกาสใช้เส้นทางสายนี้จะพบว่ารถจะมาติดที่หน้าด่านลาดกระบัง ทำให้ความสะดวกในการเดินทางลดลงเพราะมีด่านกีดขวาง แต่จะทำอย่างไรให้มอเตอร์เวย์เข้า-ออกสะดวก รวดเร็ว  ให้มีด่านน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย  ซึ่งรูปแบบดังกล่าวในโลกนี้เขามีแล้ว และในประเทศไทยก็กำลังจะมีมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราชที่ทางเข้าไม่มีด่านขวาง สามารถเข้าโดยไม่ต้องผ่านด่าน โดยใช้ระบบรีโมทเซ็นเซอร์ ผู้ที่ดูแลเขาจะรับรู้ว่ารถคันไหนเข้ามาจากที่ใดก็จะเก็บเงินจากตรงนั้น  ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศในเอเชียเริ่มใช้แล้ว อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ฯลฯ จะเห็นว่าในอนาคตไม่ควรจะมีด่านจะมีเพียงเสาจับเซ็นเซอร์เท่านั้น

     

 

        “จะทำอย่างไรให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐานที่ใครๆ จะใช้ได้  ถามว่าควรเป็นรถทุกคันที่ขึ้นมอเตอร์เวย์ใช่หรือไม่ แต่ในขั้นต้นอย่างน้อยที่สุดคนใช้รถที่มีเอ็มพาสหรืออีซี่พาสติดรถเพื่อระบุตัวตน ได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรกและต้องเข้าใจถึงความรู้สึกผู้ใช้อย่างแท้จริงด้วย อย่างในต่างประเทศทั่วโลก เอ็มพาส อีซี่พาสเอามาติดเพื่ออะไร ติดเพื่อเกี่ยวกับการได้ส่วนลดด้วย ผู้ที่ใช้ระบบนี้จะได้รับส่วนลดการผ่านทาง ทำไมผมต้องเสียเงินล่วงหน้าทั้งที่ไม่ได้ใช้ ผมควรใช้ 1 เดือนก่อนเสียเงินเหมือนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาได้หรือไม่ คือใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ขณะที่การจ่ายเงินก็จะต้องมีหลากหลายช่องทาง อาทิ  จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ต โอนผ่านแบงก์หรืออื่นๆ" เสกสิทธิ์ให้มุมมองทิ้งท้าย ก่อนจบการเสวนา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ