ข่าว

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที โดย...  ทีมรายงานพิเศษคมชัดลึก

 

 


          เหตุการณ์ “ภูเขาไฟตาอัล” ของฟิลิปปินส์ เกิดปะทุพ่นลาวาสูงกว่า 10 กิโลเมตร เถ้าถ่านฟุ้งกระจายไปถึง “กรุงมะนิลา” ที่อยู่ห่างไปกว่า 70 กม. รัฐบาลสั่งอพยพผู้คนหลายแสนเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมสั่งปิดน่านฟ้าและสนามบิน เพราะมีสัญญาณเตือนภัยภูเขาไฟระเบิด ภัยแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิออกมาเป็นระยะๆ

 

 

          เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังจำได้ดี เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย กระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยเผชิญกับ “ภัยสึนามิ” อย่างจริงจัง มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 2.8 แสนคน เฉพาะในไทยเสียชีวิตไปกว่า 5,300 คน สูญหายอีกกว่า 3,000 คน

 

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 


          จากนั้นมาประเทศต่างๆ ได้จับมือกันคิดค้นสร้างระบบเตือนภัยสึนามิอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีการติดตั้งในหลายประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทยด้วย


          คำถามคือ ปัจจุบัน “ระบบเตือนภัยสึนามิ” ที่ติดตั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยังใช้ได้ดีหรือไม่ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง ?


          ตัวอย่างกรณีภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ของอินโดนีเซียปะทุ ทำให้แผ่นดินไหวระดับ 6.2 ที่เมืองจายาปุระ อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ผู้คนเสียชีวิตกว่า 400 สูญหายกว่า 200 คน หลังแผ่นดินไหวและถูกคลื่นสึนามิซัด ที่น่าสนใจคือ “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แสดงความโมโหและไม่พอใจอย่างยิ่ง หลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่ แล้วพบอุปกรณ์เตือนภัยสึนามิที่ลงทุนไปหลายร้อยล้านบาทนั้น ทำงานผิดพลาดไม่ส่งสัญญาณเตือนภัย เนื่องจากขาดงบประมาณบำรุงซ่อมแซม แถมมีมือดีไปขโมยแกะชิ้นส่วนไปขาย !

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 

 


          ย้อนดูประเทศไทย หลังสึนามิปี 2547 หลายหน่วยงานขอ “งบประมาณ” ติดตั้งระบบเครือข่ายตรวจความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวและเตือนคลื่นสึนามิ ทั้งในระดับชาติและระดับสากล


          ในที่สุดรัฐบาลสมัยนั้นควักงบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท สั่งซื้ออุปกรณ์เตือนสึนามิติดตั้งกลางทะเล พร้อมติดตั้งหอเตือนภัย 340 แห่ง รวมถึงสถานีแม่ข่ายอีก 600 กว่าแห่งทั่วภาคใต้ หากเกิดคลื่นสึนามิ หน่วยงานที่ตรวจสอบแผ่นดินไหวในทะเลจะรับรู้ได้ไม่เกิน 5 นาที และภายในไม่ถึง 10–15 นาที จะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบ

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที



          ล่าสุดสื่อมวลชนภาคใต้รายงานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 พบสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่กระบี่มีปัญหา ไม่มีเสียงดังครอบคลุมทุกจุด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ทำให้พบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดในบางจุด รวมถึงปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมและระบบส่งไฟเสียหาย


          ผู้เชี่ยวชาญจาก “ห้องปฏิบัติการเตือนภัย” ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.) อธิบายข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับอุปกรณ์และขั้นตอนการเตือนภัยสึนามิ ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังว่า


          หลายประเทศทั่วโลกจับมือกันสร้างเครือข่ายระบบเตือนภัยสึนามิ โดยมีหน่วยงาน “NOAA” (National Oceanic and Atmosphereic Administration) ของสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัด และระบบเตือนภัยทั่วบริเวณมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และแอตแลนติก


          “ระบบแจ้งเตือนภัยคลื่นสึนามิหรือที่เรียกย่อๆ ว่า ดาร์ท (DART) จะส่งข้อมูลคลื่นสึนามิมาถึงไทยล่วงหน้าประมาณ 60-120 นาที เมื่อได้รับข่าวสารจากศูนย์ประสานงาน ก็สามารถเตรียมความพร้อมย้ายชาวบ้านริมฝั่งทะเลไปหลบในที่ปลอดภัย ประเทศไทยเองช่วยลงทุนสั่งซื้อทุ่น 2 ตัว ชื่อ ทุ่นหมายเลข 23401 ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ห่างจากไทย 1,000 กิโลเมตร ส่วนตัวที่ 2 ชื่อ ทุ่นหมายเลข 23461 อยู่ฝั่งทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งภูเก็ต 300 กิโลเมตร ทุ่นทั้ง 2 ตัวจะส่งสัญญาณมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่าระดับน้ำอยู่ที่เท่าไรตลอดเวลา ถ้าระดับน้ำสูงผิดปกติหรือมีแรงดันน้ำผิดปกติ หรือแบตเตอรี่หมด จะมีเสียงร้องเตือนและกะพริบเตือนที่หน้าจอ”

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 


          สำหรับการทำงานของระบบเตือนภัย ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ 1.ทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) ทำหน้าที่ในการรับส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันน้ำทะเลที่ติดตั้งที่พื้นท้องทะเลสู่ระบบดาวเทียม เช่น ข้อมูลทิศทางลม อุณหภูมิ ฯลฯ 2.เครื่องบันทึกความดันน้ำ (Bottom Pressure Recorder: BPR) ติดตั้งอยู่ที่พื้นมหาสมุทร ทำหน้าที่วัดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่พื้นมหาสมุทร และคำนวณหาระดับความสูงของน้ำเพื่อตรวจจับคลื่นสึนามิ และ 3.ระบบโทรคมนาคมรอบโลก (Global Telecommunications System: GTS) ทำหน้าที่สื่อสารแลกเปลี่ยนข่าวสารสภาพอากาศระหว่างหน่วยงานอุตุนิยมวิทยากับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยและเฝ้าระวังสึนามิ


          คำอธิบายเบื้องต้นทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรับมือคลื่นสึนามิได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการหลายประเทศ พร้อมส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง


          แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ “แบตเตอรี่” ที่ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเพียง 2-5 ปี


          การเปลี่ยนแบตเตอรี่หมดอายุกลายปัญหาสำคัญ เพราะต้องเดินทางไปยังกลางทะเลลึก ใช้เวลาหลายวัน หากคำนวณค่าเรือ ค่าอุปกรณ์เดินทาง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาทต่อครั้ง


          จนเกิดเสียงแอบบ่นจากเจ้าหน้าที่ว่า การขอเบิกค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่กลางทะเลแต่ละครั้งทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะคิดว่าเป็นการสูญสิ้นงบประมาณโดยไม่จำเป็น


          อยากให้ความสูญเสียอินโดนีเซียที่เกิดจาก “แบตเตอรี่อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิ” เป็นอุทาหรณ์สำคัญให้รัฐบาลไทยศึกษาเรียนรู้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย...


 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ