ข่าว

วิพากษ์"บิ๊กดาต้า"ภาคเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิพากษ์"บิ๊กดาต้า"ภาคเกษตร ตอบโจทย์ผู้ใช้ต้องได้ประโยชน์

               นโยบาย "การขับเคลื่อนภาคการเกษตร ปี 2563” ที่รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” และคณะ แถลงวันก่อน มุ่งเป้า 8 แผนงานหลัก ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ 2.ส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ 3.ใช้ระบบตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ/ล้นตลาด 4.ลดต้นทุนการผลิต 5.การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน 6.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร 7.การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการเกษตร หรือบิ๊กดาต้า ด้านการเกษตร และ 8.การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์หลักทุกอำเภอทั่วประเทศร่วมกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน

วิพากษ์"บิ๊กดาต้า"ภาคเกษตร

                 โดยมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักบูรณาการการทำงานร่วมกัน และดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการเกษตรหรือบิ๊กดาต้านั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ รมว.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

               “สำหรับแนวทางทำให้กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมให้แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งศูนย์อะกริเทคในระดับภูมิภาค ร่วมกัน 6 ภาคี ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด โดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ กล่าวไว้ในวันแถลงข่าว  

               “บิ๊กดาต้าทางด้านการเกษตรส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี มันยากและหนทางอีกยาวไกล แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ได้มีการเริ่มต้น แม้จะต้องใช้เวลาก็ตาม”

              ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิพากษ์นโยบายการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการเกษตรหรือบิ๊กดาต้า เนื่องจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนจะทำให้ง่ายต่อการนำไปกำหนดโยบาย อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความพร้อมในเรื่องการทำงานเพื่อสนองนโยบายให้ไปสู่แนวทางที่วางไว้ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานจะมีแต่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล จึงทำให้การวางนโยบายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

วิพากษ์"บิ๊กดาต้า"ภาคเกษตร

                “ที่ผ่านมาเรามีแต่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เพราะเราไม่มีข้อมูลให้วิเคราะห์ ทำให้นโยบายที่นำไปปฏิบัติไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ความเป็นจริง” 

               ดร.มนต์ชัย มองว่า ปัญหาหนึ่งที่ยากในการจัดทำบิ๊กดาต้าทางการเกษตรมาจากการจัดเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ เพราะกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีการจัดสำมะโนประชากรทางการเกษตรอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่มีเพียงการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรแฝงอีกจำนวนมากที่ไม่มีอยู่ในระบบ นอกจากนี้ในส่วนของร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร ก๋็ไม่ให้ข้อมูลการซื้อขายตามความเป็นจริง ดังนั้นจึงทำให้การนำข้อมูลมาใช้ในเชิงนโยบายจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

                “เรามีข้อมูลในส่วนของเกษตรกรเป็นหลัก เราถามข้อมูลอะไรเกษตรกรบอกหมด แต่ในส่วนผู้ประกอบการร้านค้า พ่อค้า ใครซื้ออะไรจำนวนเท่าไร เขาไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรายังไม่มีกฎหมายมารองรับตรงนี้” 

               ด้าน เปรม ณ สงขลา เจ้าของสวนเคหการเกษตร อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ยอมรับกับ"คมชัดลึก"ว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแต่ละกรมกองต่างๆ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หวงข้อมูล และที่สำคัญรูปแบบของแต่ละหน่วยงานจะต่างกัน หากจะดำเนินการจริงๆ ก็ต้องมาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้เป็นไปในทางเดียวกัน โดยเขาชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องบิ๊กดาต้าทางการเกษตรนั้นเคยดำเนินการแล้วในสมัยรัฐมนตรี ดร.ยุคล ลิ้มแหลมทอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากปัญหาดังกล่าว

วิพากษ์"บิ๊กดาต้า"ภาคเกษตร

                นอกจากนั้นยังต้องคำนึงประโยชน์ที่จะนำมาใช้ว่าเป็นคนกลุ่มใดเกษตรกรทั่วไปหรือเกษตรกรนักลงทุน ซึ่งถ้าเป็นเกษตรกรทั่วไปก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเกษตรกรนักลงทุนจะมีความเสี่ยงมาก หากคุณภาพของข้อมูลไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นเรียลไทม์ โดยจะนำมาซึ่งการขาดทุนได้ ดังนั้นการจัดทำศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้าจะต้องคำนึงถึงผู้ใช้ประโยชน์สำคัญที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียงบประมาณการทำโดยเปล่าประโยชน์

              อย่างไรก็ตาม เจ้าของสวนเคหการเกษตรยอมรับว่าทุกวันนี้ก็ยังใช้ข้อมูลทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ แต่ใช้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้นเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น หากจะนำมาใช้จริงจะต้องศึกษาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของข้อมูล โดยเฉพาะการอัพเดตข้อมูลของหน่วยราชการส่วนใหญ่จะล่าช้ามาก ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่จะนำไปใช้

             “บิ๊กดาต้าทางการเกษตรมีความจำเป็น ยังไงก็จะต้องมี เพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าทำแล้วเจ๊งใช้ไม่ได้มันก็จะเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ จึงไม่อยากให้เป็นแค่นโยบายที่สวยหรู แต่อยากให้ทำแล้วสามารถใช้ได้จริง” เจ้าของสวนเคหการเกษตรกล่าว

         

     สำหรับในส่วนการจัดทำศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้านั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) รับผิดชอบในการจัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ หรือ National Agricultural Big Data เพื่อต้องการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของระบบการผลิตด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

                   ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และบิ๊กดาต้าด้านสินค้าเกษตร ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐ แต่วิวัฒนาการทางด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงโลกตามยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ส่งผลให้การบริหารจัดการภาคการเกษตร ต้องอาศัยข้อมูลที่ดี มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การทำการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และหลักการตลาดนำการเกษตร

                 โดยการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสินค้าเกษตร ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 10 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ 13 สินค้า ประกอบด้วย 1.ข้าว 2.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.สับปะรดโรงงาน 4.มันสำปะหลังโรงงาน 5.อ้อยโรงงาน 6.ยางพารา 7.ปาล์มน้ำมัน 8.ลำไย 9.เงาะ 10.มังคุด 11.ทุเรียน 12.มะพร้าว และ 13.กาแฟ โดยมีรายละเอียดของข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.th ทั้งนี้จะสามารถเปิดให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเข้าดูรายงานและใช้ข้อมูลในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ ตามสิทธิ์การเข้าถึงและสามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคมนี้

       

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ