ข่าว

บอร์ด 'กนง.' มีมติหั่นดอกเบี้ย 0.25%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ดกนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 1.25% ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เหตุส่งออกลด กระทบจ้างงาน

 

 

          วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 - นายทิตนัน มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า  คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

 

 

            ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

 

           ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่า ในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลด อัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยง ด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจําเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดําเนิน นโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจํากัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ มากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า

 

           ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัว ชะลอลง สําหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและ การจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมี แนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

 

           อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐ และเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจาก สภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

          นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานที่สําคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

 

          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจาก ราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตาม แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนา เทคโนโลยีที่ทําให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ํา สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุน ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค


         

 

         ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฏเกณฑ์กํากับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุล เงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้าน อัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุน เคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดําเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจําเป็น

 

          ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้ เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดําเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบ การเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรม การก่อหนี้และความสามารถในการชําระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และ ความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์

 

          รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนําไปสู่ การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกํากับดูแลสถาบันการเงิน (microprudentia) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudentia) ร่วมกันอย่าง เหมาะสม

 

          มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตรา เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดําเนินนโยบายการเงินใน ระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

----//---

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ