ข่าว

เมอร์เซอร์ เมลเบิร์น เผยผลสำรวจดัชนีบำนาญระดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมอร์เซอร์ เมลเบิร์น เผยผลสำรวจดัชนีบำนาญระดับโลกเล็งเห็นความสัมพันธ์ระหว่างหนี้ครัวเรือนและสินทรัพย์บำนาญ

              รายงานชี้แจงดัชนีเงินบำนาญประจำปี โดยบริษัท เมอร์เซอร์ เมลเบิร์น (MMGPI) ฉบับที่ 11 ได้มีการเปรียบเทียบระบบเงินบำนาญทั้งสิ้น 37 ระบบด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลประชากรถึง 2 ใน 3 ของโลก
สำหรับปีพ.ศ. 2562 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการสำรวจดัชนีชี้วัดเงินบำนาญ โดยอยู่ในอันดับที่ 37 ด้วยมูลค่าดัชนี 39.4 ซึ่งตัวเลขนี้สื่อถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบบำนาญในอนาคตของประเทศไทย
รายงานชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับสินทรัพย์บำนาญและหนี้ครัวเรือน

           รายงานดัชนีเงินบำนาญระดับโลกซึ่งจัดทำโดยบริษัท เมอร์เซอร์ เมลเบิร์น (MMGPI) ประจำปี พ.ศ. 2562 เผยให้เห็นถึง ระดับของสินทรัพย์บำนาญที่มีผลกระทบกับระดับหนี้ครัวเรือนอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของหนี้ภาคครัวเรือนในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของสินทรัพย์ที่ถือครองโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญ
 
             รายงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย และเป็นโครงการวิจัยร่วมกันระหว่าง Monash Centre for Financial Studies (MCFS) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยภายใน Monash Business School แห่งมหาวิทยาลัยโมนาชในเมืองเมลเบิร์น และบริษัทเมอร์เซอร์ ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลก
 
              ในปีนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ระบบรายได้หลังเกษียณได้ถูกรวบรวมไว้ในรายงานดัชนีเงินบำนาญนี้ โดยมีดัชนีรวมอยู่ที่ 39.4 โดยจะมีตัวเลขในด้านความเพียงพออยู่ที่ 38.5 และ 38.8 ในด้านความยั่งยืน และสำหรับด้านความน่าเชื่อถืออยู่ที่ 46.1
 
               นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “มูลค่าดัชนีเงินบำนาญของประเทศไทยนั้นสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้ โดยการเพิ่มขอบเขตอาชีพของลูกจ้างในประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระดับการมีส่วนร่วม ตลอดจนเงินออม เงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มมูลค่าดัชนีโดยรวมของประเทศไทยนั้น ยังสามารถทำได้โดยการเพิ่มการสนับสนุนสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย การเพิ่มข้อกำหนดในสวัสดิการลูกจ้างขององค์กรภาคเอกชนให้มีผลประโยชน์
                ส่วนหนึ่งที่จะสามารถเป็นรายได้อย่างต่อเนื่องของลูกจ้างแต่ละคนภายหลังจากการเกษียณในอนาคต หรือแม้แต่การกำหนดข้อบังคับจำนวนเงินขั้นต่ำสำหรับกองทุนเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของพนักงานให้เพียงพอต่อการยังชีพในอนาคต ก็สามารถดำเนินการได้เพื่อเพิ่มมูลค่าดัชนีเงินบำนาญของประเทศได้เช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการพัฒนานโยบายที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มพนักงานสัญญาชั่วคราว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เข้าร่วมยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก และเราคาดหวังว่าจำนวนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
 
               รายงานฉบับนี้ถือเป็นการสำรวจในระดับนานาประเทศฉบับแรกที่รวบรวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ “ผลกระทบจากความมั่งคั่ง” เช่น แนวโน้มในการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามระดับความมั่งคั่งที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์บำนาญ โดยข้อมูลจากรายงานชี้ให้เห็นว่าเมื่อสินทรัพย์บำนาญเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ปัจเจกบุคคลมีความรู้สึกมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น และยังส่งผลต่อแนวโน้มในการกู้ยืมที่มากขึ้นอีกด้วย
 
                ดร. เดวิด น็อกซ์ จากบริษัท เมอร์เซอร์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงการเติบโตของสินทรัพย์ที่ถือครองโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคครัวเรือนมีความรู้สึกมั่นคงทางการเงินจากการมีรายได้ที่แน่นอนในอนาคตมากยิ่งขึ้น จึงมีการกู้ยืมเงินก่อนเกษียณเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาความเป็นอยู่ส่วนบุคคลมากขึ้นเช่นกัน
 
               ดร.น็อกซ์ กล่าวว่า “ในขณะที่ความมั่งคั่งส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของการเป็นเจ้าของที่พักอาศัย สินทรัพย์การลงทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น หรือเงินออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่อยู่ในระดับสูงขึ้น มิได้เป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มของหนี้ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน โดยข้อมูลจากรายงานนี้ชี้ให้เห็นว่าในระดับโลกแล้ว ทุก 1 ดอลล่าร์ที่เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์บำนาญ หนี้ครัวเรือนของบุคคลนั้นจะเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เซนต์”
 
               รายงานฉบับนี้ได้มีการเปรียบเทียบระบบบำเหน็จบำนาญทั้งหมด 37 รูปแบบ ซึ่งมีข้อมูลครอบคลุมประชากรโลกถึงเกือบ 2 ใน 3 โดยได้มีการเน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างของระบบบำนาญที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกอย่างแพร่หลาย ทั้งยังเผยให้เห็นว่าแม้กระทั่งระบบบำเหน็จบำนาญที่ดีที่สุดของโลกเองก็ยังคงมีข้อบกพร่องอยู่ นอกจากนี้ รายงานประจำปีพ.ศ. 2562 ยังเพิ่มข้อมูลจากประเทศฟิลิปปินส์และตุรกีเข้ามาอีกด้วย นอกเหนือจากประเทศไทยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
 
                แม้ว่าระบบบำเหน็จบำนาญของแต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่รายงานฉบับนี้ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ทุกระบบสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเอาชนะความท้าทายที่ทุกภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ได้
 
             “ปัญหาที่ระบบต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันคือ อายุขัยของประชากรที่ยืนยาวมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มแรงกดดันในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรสูงอายุ ผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงจุดแข็งและจุดด้อยในระบบของตนเองอย่างถี่ถ้วนเพื่อผลสำเร็จในระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุในอนาคตนั่นเอง” ดร.น็อกซ์ กล่าว
 
                 รายงานนี้ใช้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของดัชนีย่อย ได้แก่ ความเพียงพอ ความยั่งยืน และความโปร่งใส ในการประเมินระบบบำนาญแต่ละระบบร่วมกับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องมากกว่า 40 ประเภท และอีกทั้งยังใช้ระบบการคำนวณอัตราเงินบำนาญสุทธิรูปแบบใหม่ (นำระดับเงินบำนาญสุทธิที่จะได้รับ มาแทนที่ระดับเงินได้จากการจ้างงานก่อนเกษียณ) และในขณะที่รายงานดัชนีในหลาย ๆ ฉบับที่ผ่านมา ใช้วิธีการคำนวณจากค่ามัธยฐานของอัตราเงินบำนาญสุทธิจากผู้มีรายได้ปานกลาง แต่รายงานฉบับล่าสุดนี้ ได้มีการใช้ช่วงเงินที่กว้างขึ้นตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อให้การทำรายงานครอบคลุมกลุ่มผู้เกษียณอายุที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
 
                 “ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา รายงานดัชนีเงินบำนาญระดับโลกของเมอร์เซอร์ เมลเบิร์น ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของระบบเงินบำนาญทั่วโลก และการที่รายงานนี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับนานาประเทศยังเป็นเครื่องยืนยันถึงชื่อเสียงของเมลเบิร์นในฐานะศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย นวัตกรรม และระบบการเงินของโลกอีกด้วย” นายมาร์ติน พาคูลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นวัตกรรม และการค้า กล่าว 
             ในส่วนของประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นมีมูลค่าดัชนีสูงสุด (81.0) และครองอันดับต้นๆมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี จากข้อมูล 11 ปีนับตั้งแต่ที่มีการรายงานดัชนีบำนาญนี้มา ในขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำที่ 39.4
 
                สำหรับค่าดัชนีย่อย ไอร์แลนด์ได้ค่าความเพียงพอสูงสุด อยู่ที่ 81.5 เดนมาร์กได้ค่าความยั่งยืนสูงสุดที่ 82.0 ในขณะที่ฟินแลนด์ได้ค่าความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ 92.3 สำหรับค่าดัชนีย่อยต่ำสุดนั้น ประเทศไทยได้รับค่าความเพียงพอต่ำสุดอยู่ที่ 35.8 และอิตาลีได้รับค่าความยั่งยืนต่ำสุด 19.0 ฟิลิปปินส์ได้ค่าความน่าเชื่อถือต่ำสุดอยู่ที่ 34.7
 
               ดัชนีความยั่งยืน ยังถือเป็นจุดอ่อนของอนาคตที่จะเต็มไปด้วยประชากรสูงอายุและระบบแบบกำหนดเงินสมทบ
              ค่าดัชนีย่อยในส่วนของดัชนีความยั่งยืน ยังคงชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบในหลายๆ ด้านเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ระบบบำนาญในปัจจุบันจะสามารถมอบผลประโยชน์ได้อย่างแท้จริงให้แก่ทุกฝ่ายได้ในอนาคต
 
                ดัชนีความยั่งยืนถือเป็นประเด็นปัญหาที่เด่นชัดในหลายๆประเทศในแถบอเมริกาใต้และเอเชีย จากที่เห็นเด่นชัดในค่าเฉลี่ยความเพียงพอที่ได้เพียงเกรด D เท่านั้น เช่นในตัวอย่างของประเทศชิลี แม้จะได้ค่าดัชนีย่อยนี้สูงถึง 71.7 แต่บราซิลและอาร์เจนตินากลับได้เพียง 27.7 และ 31.9 ตามลำดับเท่านั้น อาจคล้ายคลึงกับในประเทศแถบเอเชีย ที่สิงคโปร์ได้คะแนนสูงที่ 59.7 ในขณะที่ญี่ปุ่นได้เพียง 32.2 เท่านั้น
 
                 อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ประเทศในแถบยุโรปเองก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้เดนมาร์กจะได้รับค่าดัชนีย่อยของความยั่งยืนสูงที่สุดถึง 82.0 แต่อิตาลีและออสเตรียได้ค่าดัชนีย่อยนี้เพียง 19.0 และ 22.9 เท่านั้น
 
                 แม้ปัจจัยที่ใช้คำนวณค่าดัชนีความยั่งยืนหลายตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ยังมีตัวแปรอีกหลายตัวที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในระยะยาวของระบบให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ โดยข้อแนะนำจากรายงานนี้ยังครอบคลุมถึงการกระตุ้นหรือกำหนดระดับเงินออมให้สูงขึ้นสำหรับอนาคตได้ เช่น การเพิ่มอายุการเกษียณงานของภาครัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการเปิดโอกาสหรือการจูงใจให้ประชากรยืดอายุการทำงานออกไปอีกสักระยะก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเช่นกัน
 
      

          “ถึงแม้ว่าบางประเทศจะยังใช้ระบบแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined Benefits) ซึ่งอาจใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Liability-Driven Investment แต่แผนเงินบำนาญแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution) จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการสะสมเงินออมเพื่อการเกษียณส่วนบุคคล และการเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปรับด้วยความเสี่ยงให้สูงขึ้น ผ่านความหลากหลายของสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์ ดีพ คาปูร์ ผู้อำนวยการ MCFS กล่าว
 
             “การพิจารณาทบทวนเพื่อปรับอายุเกษียณให้สอดคล้องกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศได้เริ่มขั้นตอนนี้ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของระบบบำนาญ” ศ. คาปูร์ กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ