ข่าว

ร่างสัญญาบีบรัฐ จ่ายชดเชยไฮสปีด 'ซีพี'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่างเอกสารแนบท้ายสัญญาไฮสปีด เปิดช่องส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ 86% ใน 1 ปี 3 เดือน บีบรัฐจ่ายชดเชยให้กลุ่มซีพี ลงนามร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงกับ ร.ฟ.ท.25 ต.ค.นี้

 


          18 ต.ค.2562-รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สรุปเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่จะมีการลงนามระหว่าง ร.ฟ.ท.และกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) โดยมีการกำหนดข้อความสำคัญที่เพิ่มในร่างสัญญา คือ คำว่า “จะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน” หาก ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ครบ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน

 

 

                ทั้งนี้ การกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่ส่วนสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ในแผนการส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาในพื้นที่เวนคืนจะดำเนินการได้เร็วสุด 2 ปีหลังออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เลย ดังนั้นการกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี หลังลงนามสัญญา

 

                รวมทั้งมีการกำหนดในเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาถึงการชดเชยผลกระทบให้แก่เอกชนในกรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งกรณีส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาไม่ได้ตามแผน ไม่ควรให้เริ่มแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชนทันทีที่ส่งมอบไม่ได้ 1-2 ปี หลังลงนามสัญญา แต่ควรเป็นหลัง 3-4 ปีไปแล้ว ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสมเหตุสมผลสำหรับส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้

 


              สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโครงการที่ ร.ฟ.ท.ต้องส่งมอบมีทั้งหมด 4,421 ไร่ เป็นพื้นที่ต้องเวนคืน 850 ไร่ และพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบ 3,571 ไร่ โดยจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่พร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา 3,151 ไร่ พื้นที่ถูกบุกรุก 210 ไร่ และพื้นที่ติดสัญญาเช่า 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา มีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ในขณะ ร.ฟ.ท.เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ว่าจะส่งมอบพื้นที่ 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนาม

           

           นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวว่า สร.รฟท.เตรียมขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงผลกระทบที่ ร.ฟ.ท.อาจเสียเปรียบกรณีการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน รวมถึงการที่ภาครัฐต้องชดเชยผลกระทบให้เอกชนในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่ไม่ทันกำหนด เพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดร่างสัญญาก่อนที่จะลงนามในวันที่ 25 ต.ค.นี้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ภาครัฐอาจต้องจ่ายค่าโง่ให้กับเอกชน

 

            นายสาวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ 86% ภายใน 1 ปี 3 เดือน อาจทำได้ครบลำบากจากเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.พื้นที่มักกะสันที่ต้องส่งมอบ 150 ไร่ จะมีพื้นที่ติดปัญหาต้องรื้อรางพวงประมาณ 50 ไร่ 2.พื้นที่การเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลังจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน แต่ขณะนี้ยังไม่ออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน 3.การรื้อย้ายสาธารณูปโภคอาจไม่ทันตามกำหนด เช่น ท่อน้ำมัน เพราะการรื้อต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะย้ายไปที่ไหนด้วย 

 

          ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้มั่นใจว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) จะมาลงนามร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงกับ ร.ฟ.ท.ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ เนื่องจากไม่มีปัญหาติดขัดแล้ว โดยเฉพาะกรณีไม่มีคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เพราะกำลังเสนอแต่งตั้งชุดใหม่

 

             ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.และส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ดังนั้นในวันนี้ (15 ต.ค.ที่ผ่านมา) กระทรวงคมนาคมจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ หลังจากนั้นก็จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ทันที เพื่อรับทราบการเตรียมความพร้อมลงนามสัญญา ก่อนจะนำแผนการก่อสร้างให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และลงนามสัญญาในวันที่ 25 ต.ค.นี้

 

            “การพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.จะไม่มีปัญหา ส่วนการลงนามสัญญาก็ทราบว่าทางเอกชนอยากลงนาม ทุกคนอยากให้โครงการนี้สำเร็จ แต่เงื่อนไขก็มีอยู่ที่ว่าการส่งมอบพื้นที่มีความจำเป็น หากไม่มีการกำหนดเวลาชัดเจน ซึ่งตอนนี้คุยกับฝ่ายเอกชนแล้ว ดังนั้นตอนนี้ไม่มีปัญหาติดขัดและมั่นใจว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะก่อสร้างในช่วง 2567-2568 แล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า”

 

             แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รายชื่อคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ที่จะเสนอ ครม.จะเสนอชื่อ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธาน ส่วนกรรมการ 7 คน ประกอบด้วย 1.นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 2.นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ 
3.นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ 4.นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด 5.นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการอิสระ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 6.นายพินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) 7.นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.

 

ที่มา  : กรุงเทพธุรกิจ 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ