ข่าว

พาณิชย์ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน" เน้นเกรดพรีเมี่ยม-เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่  

         อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2532 โดยเริ่มจากการเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ สายพันธ์ที่เลี้ยงคือกุ้งกุลาดำ ต่อมามีการพัฒนาระบบการเลี้ยงเป็นลำดับ กระทั่งปัจจุบันนับได้ว่าไทยเป็นผู้นำของโลกในด้านเทคนิคการเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้ซื้อในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน สายพันธ์ที่เลี้ยงคือ กุ้งขาวแวนาไม 

พาณิชย์ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน"

 

     ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกผลผลิตกุ้งอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่องกันหลายปี โดยมีผลผลิตรวมมากกว่า 6 แสนตันต่อปี นำเงินรายได้เข้าประเทศปีละร่วมหนึ่งแสนล้านบาท ทว่าปัจจุบันผลผลิตตกลงต่ำกว่า 3 แสนตันต่อปี และทำรายได้อยู่ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอยู่อันดับ 5 ของโลกรองจากอินเดียเวียดนาม อินโดนีเซียและเอกวอดอร์

พาณิชย์ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน"

        "ปัญหาต้นทุนกากรผลิตที่สูง อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้าและปัจจัยการผลิตทุกรายการที่เพิ่มขึ้น  กอบกับปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่นโรคตายด่วนหรืออีเอ็มเอส โรคไวรัสตัวขาวขุ่นหรือไอเอ็มเอ็นวี ที่นับวันเริ่มรุนแรงมากขึ้น รวมถึงความผันผวนของราคาที่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหากับการขาดทุน

         บางช่วงบางตอนที่“พิสิทธิ์ นวนนุ่น” ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัดกล่าวรายงานปัญหาของกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์“วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล”ระหว่างนำคณะลงพื้นที่รับฟังปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในอ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขายอมรับว่าปัญหาสำคัญตอนนี้เกษตรผู้เพาะเลี้ยงไม่สามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้เป็นผลให้มีผลกำไรจากการประกอบอาชีพลดลงต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยเห็นได้จากจำนวนฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงที่ลดลงและผลผลิตกว่า 3 แสนตันต่อปีต่อเนื่องมาหลายปี

พาณิชย์ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน"

          ในขณะเดียวกันประเทศคู่แข่งก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป ตลอดจนการส่งออก อย่างเช่นอินเดีย รัฐบาลช่วยในเรื่องค่าไฟฟ้า อนุญาตให้เลี้ยงในพื้นที่น้ำจืด และกำหนดอุตสาหกรรมกุ้งเป็นวาระแห่งชาติ ระดมผู้เชี่ยวชาญวางแผนรับมือผลผลิตและการทำตลาด ขณะที่เวียดนามมีการกำหนดนโยบายชัดเจนว่าจะเป็นศูนย์กลางส่งออกกุ้งของโลก มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนยน์รวบรวมข้อมูลและวิจัยเรื่องการเลี้ยงกุ้งครบวงจรร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพปัจจัยการผลิตที่จำหน่ายในอุตสาหกรรมกุ้งอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มงวด

         ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้ผลิตรายใหม่ ๆ อีกจำนวนมากอย่างเช่น เปรู อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย เมียนมาร์ บังคลาเทศ ศรีลังกาและกัมพูชาและกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่กำลังน่า จับตามีส่วนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นส่งผลให้ฐานราคาผลผลิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะไทยต้องประสบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

          โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและมาตรการต่าง ๆ เช่นห้ามเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำจืด มาตรฐานด้านสวัสดิการแรงงานที่มีผลต่อการผลิต ในขณะประเทศอื่น ๆ ไม่ประสบปัญหาดังกล่าว อย่างเช่นที่เวียดนามมีการปรับเอาพื้นที่ป่าชายเลนมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งโดยภาครัฐเองและทำตลาดขายเป็นกุ้งธรรมชาติมีราคาที่สูง ส่วนจีน อินเดียและเอกวาดอร์ อนุญาตให้ใช้พื้นที่น้ำจืดในการเลี้ยงกุ้งได้ โดยไม่ได้มองว่าน้ำจากการเลี้ยงกุ้งเป็นมลพิษ แต่เป็นปุ๋นธรรมชาติต่อพืชพรรณและเกษตรกรรมโดยรอบแถมยังช่วยให้หลีกเลี่ยงจากโรคที่เกิดในน้ำความเค็มสูงเช่นโรคตายด่วนอีกด้วย

พาณิชย์ผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งบุก"ตลาดจีน"

      "ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือการลดความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์กุ้งไทย โดยไทยเป็นประเทศที่ถูกโจมตีจากสื่อต่างประเทศบ่อยครั้งในหลายด้านเพื่อลดความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลบให้สินค้ากุ้งไทย เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขายได้น้อย มีผลให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองสูง กดราคาซื้อจากเราได้ เหตุการณ์เดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ เช่นกัน แต่ประเทศเหล่านั้นมีมาตรการตอบโต้อย่างรวดเร็ว โดยการสนับสนุนแบบลับๆ ของภาครัฐ ขณะที่ของไทยเราเองนั้นขาดความพร้อมในการตอบโต้"ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองเผย

       สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำแบบยั่งยืน พิสิทธิ์ระบุว่ามี 3 แนวทางที่สหกรณ์กำลังเดินการอยู่ในขณะนี้  ได้แก่ตลาดกุ้งชีวิต ห้องเย็นแปรรูปเพื่อการส่งออกและตลาดบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะห้องเย็นนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ต้องพึ่งพาห้องเย็นของเอกชนในการซื้อขายและยังช่วยเก็บรักษาผลผลิตไว้รอจำหน่ายและกระจายสินค้าในฤดูกาลอื่นเพื่อลดความผันผวนด้านราคา

       "ทางสหกรณ์ได้ไปจัดแสดงสินค้าที่เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน จากนั้นทานเลขาธิการพรรคคมมิวนิสต์ประจำมณฑล พร้อมเจ้าหน้าที่และพ่อค้าจากประเทศจีนได้เดินทามาดูงานและระบบการเลี้ยงที่ฟาร์มของสหกรณ์ เขาสั่งซื้อกุ้งเราไปแต่เราไม่มีห้องเย็นเพื่อรอรับการแปรรูปเบื้องต้นทำให้พ่อค้าจีนต้องซื้อขายผ่านห้องเย็นของเอกชนบริษัทเอเชียน ฟีดแทน ทำให้สหกรณ์มีกำไรลดลง"

         ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งมองว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง แม้เดิมทีนั้นจีนเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ แต่ในปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่ามีการบริโภคกุ้งประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งโลกที่มีประมาณ 4 ล้านตันหรือมากวก่า 37% ในขณะทุกประเทศที่ส่งออกกุ้งก็จับจ้องมาที่ตลาดจีนมีการทำตลาดอย่างเข้มข้น ขณะที่ผู้บริโภคจีนมองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพสูง แต่ราคาก็สูงกว่าตลาดทั่วไปเช่นกัน

          “การทำตลาดจีนควรเน้นไปที่ 3 ส่วนคือส่งออกกุ้งคุณภาพสูงหรือเกรดพรีเมี่ยม พร้อมสร้างความตระหนักถึงความแตกต่างในตัวสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจีน เจาะตลาดพื้นที่ใหม่ ๆ ในมณฑลต่าง ๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินจีน เช่นซีอาน ฉงซิ่ง เฉิงตู กานซู เสิ่นหยาง ฉางชุน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเมืองใหญ่เหล่านี้มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนเกือบทั้งสิ้น มีกำลังซื้อมหาศาลและยังเป็นตลาดใหม่ที่แข่งขันยังไม่รุ่นแรงมากนัก และเจาะฐานลูกค้ากลุ่มคนรุน่ใหม่ของจีนที่ให้ความสำคัญกับอาหารดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ”พิสุทธิ์กล่าวและว่า

        นอกจากตลาดจีนแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังเป็นตลาสดเป้าหมายที่น่าจับตา โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเป็นผู้บิรโภคเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันประชากรของประเทศเหล่านี้มีรายได้ดีขึ้น มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถทำการค้าได้อย่างปลอดภัยมากกว่าแต่ก่อน

 

          "อยากให้รัฐบาลผลักดันการทำมาตรฐานฟาร์มต่าง ๆ เช่นเอเอสพี บีเอพี ให้สอดคล้องตามมาตรฐานที่ประเทศผู้ซื้อต้องการ ปัจจุบันประเทศคู่แข่งอื่น ๆ เช่น    เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ มีการสนับสนุนเรื่องนี้โดยภาครัฐอย่างจริงจัง จนทำให้มีจำนวนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ มากกว่าประเทศไทยแล้ว"ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองกล่าวย้ำ พร้อมฝากข้อเรียกร้องดังกล่าวไปยังรัฐบาลผ่านทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับปากว่าจะช่วยผลักดันข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเต็มที่

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ