ข่าว

1 ขวบปีแปลง G ชุมชนดินแดง บทพิสูจน์ความสำเร็จการฟื้นฟูเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

1 ขวบปีแปลง G ชุมชนดินแดง บทพิสูจน์ความสำเร็จการฟื้นฟูเมือง

 โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป็นบททดสอบการทำงานของรัฐบาลและการเคหะแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการอนุมัติแผนฟื้นฟูเป็นผลสำเร็จหลังยืดเยื้อคาราคาซังมากว่า 16 ปี และเริ่มก่อสร้างโครงการอาคารแปลง G ทันแล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสมัยแรก
 

   อาคารแปลง G มุมถนนวิภาวดีรังสิต กับ ถนนดินแดง-อโศก จำนวน 334 หน่วย รองรับประชากรเดิมจากแฟลต 18-22 ราว 300 ครอบครัว มีบางส่วนไม่ขอใช้สิทธิอยู่ต่อก็ได้รับเงินชดเชยจากการเคหะแห่งชาติรายละ 4 แสนบาท อีก 30 ห้องยังคงว่าง และให้สิทธิผู้อาศัยในแฟลตอื่นเข้ามาอยู่ นัยว่าได้รับสิทธิพิเศษได้อยู่อาศัยก่อนล่วงหน้า 2-4 ปีทีเดียว
    ครบรอบ 1 ขวบปีของการเข้าอยู่อาศัย อาคารแปลง G น่าจะเป็นกุญแจไขคำตอบของคำว่า คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัย ตลอดจนสิ่งแวดล้อม
    เรืออากาศโทปัญญา มีฤกษ์สม ประธานกรรมการผู้อยู่อาศัยอาคารแปลง G กล่าวว่า การมีผู้อยู่อาศัยจาก 5 แฟลต ยุบมารวมอยู่ภายในอาคารเดียว จำเป็นต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการอยู่ร่วมกัน เพราะมาจากหลายระดับ ในระยะแรกๆ อาจยังไม่คุ้นชิน เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ผ่านไปก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับอย่างชัดเจน ลูกบ้านจะเป็นคนตัดสินเอง
    “ผมให้ 8 คะแนนจากเต็ม 10  เพราะแน่นอนว่า ความไม่พึงพอใจในบางเรื่องก็ยังมีอยู่ ต้องปรับปรุงพัฒนากันต่อไป”
    ในขณะ นางสาวจิตสุภา  ศิริพรเทพ  ประธานกลุ่มสร้างอาชีพ ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้นกว่า 20 คนกล่าวว่า การมาอยู่ภายในอาคารแปลง G เหมือนอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่มีหลายห้อง ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย รับฟังกัน
    “แรกๆ มาอยู่ เดินสวนกันยังไม่ยิ้มเลย แต่พอรู้จักก็ค่อยๆ ดีขึ้น เดี๋ยวนี้เริ่มทักทาย ยิ้มแย้มให้กัน ถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมด้วยกัน  ถ้าให้คะแนนจะให้เต็ม10 เลย ไม่ได้อวยกันนะ”
    สภาพความเป็นอยู่ในอาคารใหม่เป็นอย่างไร นางสาวจิตสุภากล่าวว่า ความสะอาดดีขึ้นชัดเจน มีพนักงานทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง สิ่งกีดขวางหน้าห้องทุกอย่าง ไม่เว้นกระทั่งรองเท้าก็ไม่มี เจ้าของห้องต้องเก็บไว้ในห้องตัวเอง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยในการใช้ทางเดินร่วมกัน หรือการจำกัดจุดสูบบุหรี่ก็มีกติกากำหนดให้สูบได้เฉพาะจุดเช่นกัน
    “แรกๆ ใช้กติกานี้ มีคนบ่นไม่พอใจ แต่พออธิบายเหตุผลก็เข้าใจและให้ความร่วมมือภายใต้ความเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน”
    ในบรรดาผู้อาศัยสูงอายุ ดูเหมือนว่า นายประจวบ เหมะ จะเป็นลำดับต้นๆ ด้วยอายุย่างเข้า 85 ปี แต่ยังแข็งแรงกระชับกระเฉงขับรถเองได้ ก่อนตอบความลุงจวบยกนิ้วหัวแม่มือให้พร้อมพูดว่าดี
    ประสบการณ์ครูเกษียณจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเทเวศร์ สาขาเครื่องกล (เทคนิคยานยนต์) มองการอยู่อาศัยได้ลึกซึ้งทั้งภาพรวมและภาพย่อย สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งความสะอาด ความปลอดภัย มีระบบป้องกันที่ดีเหมือนอาคารชุดเอกชน
    “ผมได้รับสิทธิอยู่อาศัยแฟลตต่อจากแม่มา 28 ปี สภาพที่อยู่เดิมค่อนข้างแย่  ที่จอดรถก็ต้องแย่งกัน ขับออกไปแล้วกลับมาอาจไม่มี หรือมีที่จอดว่าง แต่มีคนมาบอกว่าจอดไม่ได้ทำนองนั้น ตอนนี้ผมมีที่จอดรถแน่นอน เสียค่าบริการเพิ่มเดือนละ 500 บาทถือว่าดี เพราะที่อื่นเป็นพันและไม่มี รปภ. ดูแล”
    ลุงจวบยังพึงใจกับการอยู่อาศัยในอาคารใหม่ที่ไม่พลุกพล่าน เป็นเอกเทศ  มีระบบดูแลความปลอดภัยที่รัดกุมที่อยู่ได้อย่างผ่อนคลาย เป็นสุข

    
    

    เด็กหนุ่มเพิ่งเรียนจบ ทำงานอิสระเป็นฟรีแลนซ์ในใจกลางเมืองอย่าง ณัฐชนน เสริมกุลเชื้อ  ปกติอยู่บ้านบางบัวทอง และได้สิทธิการเช่าอยู่อาศัยในแฟลตดินแดงจากป้าแท้ๆ เป็น 1 ใน 7 รายที่จับฉลากได้เข้าอยู่อาคารแปลง G รอยยิ้มดีใจไม่เท่ารอยยิ้มของแม่ที่มาเป็นเพื่อนช่วยลุ้น 
    “ทำงานบางทีก็ดึก จะกลับบ้านบางบัวทองก็ไกล ถ้าได้พักอยู่ตรงนี้ ซึ่งเป็นอาคารใหม่ ผมสะดวกมากเลย” ณัฐชนนสรุปรวบรัด ได้ใจความครบถ้วน
    แววตาของ 27 ครอบครัวที่มาจับฉลาก แม้จะฉายแววผิดหวังบ้าง ที่ไม่ได้สิทธิอยู่แปลง G แต่ในอีก 4-5 ปีพวกเขาล้วนได้รับสิทธินี้ถ้วนทั่วทุกคน
    ที่สำคัญการที่มีผู้อยู่อาศัยแฟลตอื่น ขอใช้สิทธิห้องว่างในแปลง G มากกว่าจำนวนห้องว่าง น่าจะสะท้อนความจริงถึงความต้องการยกระดับการอยู่อาศัยได้ชัดเจนทีเดียว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ